กรมทางหลวงชนบท หนุนโครงการรถไฟทางคู่ เปิดใช้สะพานข้ามทางรถไฟ-อุโมงค์ลอดทางรถไฟจ.ประจวบฯ

19 ม.ค. 2562 | 07:22 น.
 

กรมทางหลวงชนบท เปิดสะพานข้ามทางรถไฟและอุโมงค์ลอดทางรถไฟ จุดตัดทางรถไฟ กับถนนทางหลวงชนบทสาย ปข.1021 แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 – บ้านหน้าป้อม อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ งบ 175 ล้านบาท เผยมีปริมาณรถใช้เส้นทางประมาณ 4,000 คันต่อวัน ปี 62 ก่อสร้างอีก 2 โครงการงบกว่า 500 ล้านบาท

กระทรวงคมนาคมโดยกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการพัฒนาถนนเลียบชายฝั่งทะเลตะวันตกหรือไทยแลนด์ริเวียร่า เฟสที่ 2 ช่วงชุมพร-สงขลา ระยะทางราว 578 กม. ใช้งบประมาณ 6,000 ล้านบาทขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาแนวเส้นทางคาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงปลายเดือนนี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดสะพานข้ามทางรถไฟและอุโมงค์ลอดทางรถไฟ จุดตัดทางรถไฟ กับถนนทางหลวงชนบทสาย ปข.1021 แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 – บ้านหน้าป้อม อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ว่าโครงการดังกล่าวบูรณาการหลายฝ่ายเพื่อจะช่วยส่งเสริมการเดินทาง การท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภาคใต้โดยเฉพาะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ทช.

สำหรับโครงการไทยแลนด์ ริเวียร่า ที่กรมทางหลวงชนบท (ทช.)ได้รับผิดชอบในการพัฒนาเขตทางเลียบชายทะเลได้แก่ สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง ชุมพร โดยทช.ได้ดำเนินการพัฒนาถนนเลียบชายฝั่งทะเลตะวันตกตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552-2568 ระยะทางทั้งโครงการทั้งหมด 658 กม. ขนาด 2 ช่องจราจร อยู่ในความรับผิดชอบของทช.จำนวน 514 กม.งบประมาณโครงการ 7,000 ล้านบาท ซึ่งทช.ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จไปแล้วจำนวน 305 กม. ส่วนในปี 2562 เตรียมก่อสร้างอีกจำนวน 2 โครงการ 1. ถนนสามแยก ทล.4198-เทศบาลปากน้ำหลังสวน อ.ทุ่งตะโก,หลังสวน จ.ชุมพร ระยะทาง 23.5 ล้านบาท งบประมาณ 247 ล้านบาท 2.ถนนสายแยกทล.4001-บ.โพธิ์แบะ อ.เมือง จ.ชุมพร ระยะทาง 24.5 กม. งบประมาณ 262 ล้านบาท

ในส่วนที่เหลืออยู่ของเฟสที่ 1 จำนวน 175 กม.ส่วนใหญ่จะอยู่ในจ.ชุมพร ประมาณ 10 กว่าโครงการ คาดว่าจะใช้งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาทรูปแบบงบประมาณผูกพัน 3 ปี (63-65) โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2565 โดยขณะนี้เส้นทางไหนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จได้ทยอยเปิดให้ประชาชนใช้บริการแล้ว ส่วนโครงการไทยแลนด์ริเวียร่า เฟสที่ 2 ช่วงชุมพร-สงขลา ระยะทางราว 578 กม. งบประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาทขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาแนวเส้นทาง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายเดือนม.ค.นี้

ทช.1

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวเสริมว่า ทช.มีถนนในความรับผิดชอบที่มีจุดตัดผ่านทางรถไฟกระจายอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 153 แห่ง และด้วยปัจจุบันปริมาณการจราจรบนถนนดังกล่าวมีจำนวนสูงขึ้นทำให้เกิดอุบัติเหตุรถไฟชนกับยานพาหนะบ่อยครั้ง ทช.จึงมีแผนปรับปรุงจุดตัดผ่านทางรถไฟดังกล่าว ให้สอดคล้องกับมาตรการความปลอดภัยของการรถไฟแห่งประเทศไทย ในการก่อสร้างเป็นทางต่างระดับในรูปแบบของสะพานหรืออุโมงค์ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุอย่างสมบูรณ์ทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัยในการสัญจรของรถไฟและยานพาหนะบนถนนทางหลวงชนบท รวมทั้งเป็นการสนับสนุนโครงการพัฒนาการขนส่งระบบรางโครงการรถไฟทางคู่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ ทช.จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างทางเป็นสะพานข้ามทางรถไฟ ที่มีพื้นสะพานเป็นโครงสร้างพิเศษ ความยาว 340 เมตร พร้อมทางกลับรถใต้สะพานและถนนต่อเชื่อมสองฝั่ง ความยาวรวม 985 เมตร พร้อมก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดทางรถไฟ ความยาว 126 เมตร สำหรับพาหนะขนาดเล็ก เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ และได้ก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้าม ใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 175 ล้านบาท

“โครงการดังกล่าวได้เปิดให้ประชาชนได้ใช้สัญจรอย่างไม่เป็นทางการแล้ว เมื่อเดือนกันยายน 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งสามารถช่วยแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟอย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้มีความสะดวกรวดเร็วในการสัญจรของรถไฟและยานพาหนะบนถนนทางหลวงชนบท”

ทช.2

นายภิรมย์ นิลทยา รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ประจวบคีรีขันธ์มีความโดดเด่นในหลายด้านไม่แพ้จังหวัดอื่นๆอยู่ระหว่างการเร่งขับเคลื่อนงบประมาณเข้าไปพัฒนาแต่ละพื้นที่ มีการปรับผังเมืองไปแล้วให้สอดคล้องกับแนวโน้มการพัฒนาแต่ละพื้นที่ทั้งโซนการอยู่อาศัย โซนการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว โดยในโซนสามร้อยยอดจัดว่าเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่รองรับการเติบโตของหัวหินได้เป็นอย่างดี

นายอรรถพรชัย ใกล้ชิด ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 ตำบลศิลาลอย อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่าเส้นทางสายนี้มีรถใช้บริการวันละประมาณ 4,000 คัน ซึ่งจะเชื่อมไปสู่แหล่งท่องเที่ยวจุดต่างๆ ได้หลายแห่ง ช่วงที่ผ่านมาก่อนจะมีการสร้างทางลอดและอุโมงค์พบว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง มีการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก เมื่อเปอดใช้ทางลอดและอุโมงค์จะช่วยให้ลดการสูญเสียไปได้อย่างมาก ประการสำคัญจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชนตลอดแนวสองข้างทาง สร้างงานสร้างรายได้ตามมาในที่สุด