ชิงเค้ก "ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3" ต่อยอดผลประโยชน์ 2 แสนล้าน

21 ม.ค. 2562 | 08:31 น.
หลายคนคงไม่เชื่อว่า การประมูลโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 มูลค่ากว่า 8.3 หมื่นล้านบาท ทั้ง ๆ ที่มีภาคเอกชนสนใจซื้อซองเอกสารประกวดราคา จำนวน 32 ราย สุดท้ายแล้วมีการยื่นซองประกวดราคา เมื่อวันที่ 14 ม.ค. ที่ผ่านมา เพียง 1 ราย แถมยังส่อแววจะส่งผลให้ต้องล้มประมูล ทั้ง ๆ ที่หากใครได้รับงานนี้ หมายถึงว่า งานระยะต่อไปจะเกิดได้ไม่ยาก

แม้ว่าการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จะเลือกใช้การเปิดรับฟังความเห็นนักลงทุนรอบใหม่ในวันที่ 21 ม.ค. นี้ เพื่ออ้างว่า ภาคเอกชนขอขยายระยะเวลาเตรียมเอกสารต่าง ๆ อีกประมาณ 2 เดือน แทนกรณีที่จะต้องล้มประมูลและกลับไปเริ่มต้นใหม่อันจะส่งผลให้ระยะเวลาล่าช้าออกไปอีก


tp12-3437-a

ดังนั้น ต่อกรณีนี้ เพราะเหตุใดจึงมีเพียง 1 ราย คือ บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด ที่ยื่นซองประกวดราคา บริษัทดังกล่าวเป็นตัวแทนของกลุ่มใดส่งมาโยนหินถามทางหรือไม่ บางกระแสว่า รายนี้ พล.ร.อ.อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ อดีตประธานบอร์ด กทท. มีความสนิทสนมเป็นอย่างดี แถมยังอยู่ในเครือ "นทลินกรุ๊ป" ที่เชี่ยวชาญด้านการขายส่งผลิตภัณฑ์นํ้ามันปิโตรเลียม โดยมีคณะกรรมการบริษัท คือ นายเผด็จ เมธิยานนท์, นายสมศักดิ์ รัศมีวิริยะนนท์ และนางสาวลัดดาวัลย์ ชูบาล คำถามคือ แล้วรายอื่น ๆ ที่เป็นของทุนใหญ่ ทั้งในและต่างประเทศ เหตุใดถึงไม่เข้ามายื่นจึงเป็นที่กล่าวถึงและชวนสงสัยในครั้งนี้ ว่า เจรจาแบ่งเค้กกันลงตัวหรือไม่???


➣ จับตาเครือข่ายใหญ่เจรจาไม่ลงตัว

เบื้องต้น โฟกัสไปที่กลุ่มทุนเครือข่าย "นทลิน" แม่ทัพใหญ่แห่ง บริษัท ซีออยล์ จำกัด (SEAOIL) ที่มีแผนผลักดันธุรกิจเรือเดินสมุทรในเครือเข้าตลาดหุ้น เนื่องจาก "นทลินกรุ๊ป" มีบริษัทย่อยมากถึง 42 บริษัท เช่นเดียวกับกลุ่ม "โหงวฮก" ของเครือญาติอดีตประธานบอร์ด กทท. (นายสุรงค์ บูลกุล) ซึ่งมีเครือข่ายอยู่ในท่าเรือแหลมฉบัง ถูกจับตาว่าจะส่งบริษัทในกลุ่มมิตซุยจากญี่ปุ่นเข้าร่วมประมูลครั้งนี้ ทั้ง ๆ ที่มี 7-8 บริษัท อาทิ กลุ่มอาร์ซีแอล กลุ่มโหงวฮกเอเจนซี่ กลุ่มเทียนเอเชีย กลุ่มนิปปอน และกลุ่มยูเซนของญี่ปุ่นที่ล้วนมีความพร้อมเข้ามาร่วมทีมประมูลในครั้งนี้

เช่นเดียวกับกลุ่มทุนจีนและสิงคโปร์อย่าง "ฮัทชิสัน" ที่อยู่ภายใต้เครือขายของ นายลี กาชิง มหาเศรษฐีชาวสิงคโปร์ ซึ่งมีเครือข่ายหลายบริษัทก็มีชื่อ บริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินอล จำกัด ซื้อซองประมูลในครั้งนี้ โดยมีพอร์ตบริหารในท่าเรือเทอร์มินัล D ในแหลมฉบังกว่า 3.5 ล้านทีอียูต่อปี ส่วนภาพรวมนั้นทำได้มากถึง 20 ล้านทีอียู เมื่อปีที่ผ่านมา จัดว่าเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวไม่น้อยเช่นกัน

ในส่วนกลุ่มทุนจีนคงต้องจับตาในกลุ่มท่าเรือซัวเถา ล่าสุด ชูนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย นั่งแป้นประธานบริษัท ซึ่งจัดว่าเป็นคนละขั้วกับรัฐบาล คสช. ชัดเจนนั้น อีกทั้งยังต้องจับตาว่า กลุ่มนี้มาในฐานะตัวแทนกลุ่มซีพีหรือไม่ แถมยังมีข่าวว่า กลุ่มทุนไทยจะบอยคอตต์กลุ่มซีพีหรือไม่ ที่การเจรจาผลประโยชน์ยังไม่ลงตัว ล้วนเป็นไปได้ทั้งสิ้น

โดยถูกจับตามองว่า ขาใหญ่ของการจัดประมูลในครั้งนี้ได้มอบหมายให้ ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการ กทท. เป็นตัวกลางดำเนินการเชื่อมโยงข้อเสนอเพื่อเคลียร์ผลประโยชน์ทุกฝ่าย แต่เพียงยกแรกเท่านั้น ก็ปรากฏว่า มีรายเดียวที่เข้ามาสอดแทรก จึงมองไปได้ว่า เพื่อฆ่าเวลาหรือหวังโยนหินถามทาง ตามแนวคิดของรักษาการ ผอ.กทท. หรือไม่


➣ จ่อต่อยอดเค้ก 1.2 แสนล้านฅ

มองอีกมุมดูเหมือนว่า เป้าหมายต้องการให้มีคนร้องเรียนเพื่อที่จะเลือกจิ้ม 7-8 ราย ในกลุ่มเข้ามารับงานไปดำเนินการ แม้ว่าเช่นเดียวกับกรณีภาพชัดเจน ว่า แล้วท้ายที่สุดรายไหน กลุ่มใดจะได้เข้ามาบริหารจัดการและก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 โดยต้องจับตาว่า ยังมีโครงการใดต่อเนื่องอย่างโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เฟส 2 มูลค่ากว่า 1.2 แสนล้านบาท ที่รอการพัฒนาจากนักลงทุนในแผนระยะต่อไปด้วย

ประการสำคัญอย่ามองข้ามกลุ่มเครือข่ายนักลงทุนของ นายสมศักดิ์ ห่มม่วง ประธานบอร์ด กทท. คนปัจจุบัน ที่มีกลุ่มทุนหนุนหลัง แม้เป็นกลุ่มน้อย แต่มีอำนาจทางการบริหารจะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคเข้าไปรับงานก้อนโตครั้งนี้ ได้หรือไม่ เช่นเดียวกับการประมูลโครงการขนาดใหญ่ 5 บิ๊ก รับเหมาหนุนฝ่ายไหนกลุ่มไหนบ้าง คงจะมองภาพออกชัดเจน

รายงาน | หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,437 ระหว่างวันที่ 20-23 มกราคม 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว