พณ.โชว์ลดค่าครองชีพสู้แล้ง ยันของไม่ขาดแต่อาจราคาสูง

15 มี.ค. 2559 | 07:00 น.
พาณิชย์ รับห่วงภัยแล้งปีนี้กระทบเกษตรกรและพืชผักแนวโน้มราคาพุ่ง แต่ยันสินค้าไม่ขาดแคลน พร้อมช่วยเชื่อมโยงสินค้าไปยังแหล่งที่ผลผลิตน้อย แนะเกษตรกรหันทำอาชีพเสริม ผลิตสินค้าชุมชนเพิ่มรายได้ ขณะจับตาราคาหมู ไก่ ไข่ จ่อขยับ ลุยปูพรมสินค้าธงฟ้าช่วยลดค่าครองชีพช่วยภัยแล้ง 400 ครั้ง มั่นใจน้ำขวดไม่ขาดแคลน หลังสั่งผู้ผลิตสต๊อกเพิ่ม

[caption id="attachment_38050" align="aligncenter" width="338"] วิบูลรักษ์ ร่วมรักษ์  อธิบดีกรมการค้าภายใน วิบูลรักษ์ ร่วมรักษ์
อธิบดีกรมการค้าภายใน[/caption]

นางสาววิบูลรักษ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังลุกลามในปีนี้ว่า สิ่งที่เป็นห่วงคือเกษตรกรที่ปลูกพืชเกษตรโดยเฉพาะข้าวในช่วงนี้เป็นช่วงที่ไม่มีน้ำ ซึ่งอยากให้เกษตรกรงดปลูกข้าวหรือพืชใช้น้ำมากในช่วงนี้ออกไปก่อน ส่วนราคาพืชผักในช่วงหน้าแล้งนี้ในส่วนของผักใบอาจจะมีราคาปรับขึ้นมา 3-5 บาทต่อกิโลกรัม เช่น คะน้า กวางตุ้ง ผัดกาดขาว ส่วนหมู ไก่ และไข่ ยังไม่มีปัญหาเพราะผลผลิตยังมีเพียงพอ

อย่างไรก็ตามในช่วงฤดูแล้งนี้ กระทรวงพาณิชย์(พณ.) โดยกรมการค้าภายในได้มีโครงการลดค่าครองชีพโดยจำหน่ายสินค้าราคาที่เหมาะสม โดยจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพในราคาประหยัด ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด โดยจำหน่ายสินค้าธงฟ้าราคาประหยัด เป้าหมาย 400 ครั้งนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ไปจนถึงเดือนเมษายน 2559 ล่าสุดได้ดำเนินการไปแล้วทั้งสิ้น 285 ครั้ง มียอดจำหน่ายสินค้ารวม 31 ล้านบาท ลดภาระค่าครองชีพได้ประมาณ 21 ล้านบาท และยังมีแผนที่จะดำเนินการตามแผนอีก 115 ครั้ง

ด้านนายสมชาติ สร้อยทอง รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้ช่วยเหลือเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งตามนโยบายของรัฐบาล โดยหลังจากที่กระทรวงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรที่ไม่สามารถเพาะปลูกข้าวได้ใน 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา หันมาเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย และอายุสั้นไปแล้ว ขณะนี้ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาด ซึ่งกระทรวงได้เชื่อมโยงตลาด หาแหล่งรับซื้อ และประสานผู้ประกอบการ เช่น ห้างค้าปลีก ห้างสรรพสินค้าในพื้นที่ เพื่อทำความตกลงรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรแล้วหลายราย ถือเป็นการสร้างรายได้ และลดผลกระทบให้แก่เกษตรกรในช่วงฤดูแล้ง

นอกจากนี้พาณิชย์จังหวัด ได้ช่วยเหลือในการหาตลาดรองรับผลผลิตของเกษตรกร เช่น ถั่วเขียว ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ข้าวโพด มันสำปะหลัง ผักสดต่างๆ ตะไคร้อินทรีย์ ฟักทองออร์แกนิก หอมแดง มะเขือเทศโรงงาน รวมถึงผลไม้ตามฤดูกาล เช่น มะพร้าวอ่อน มะพร้าวน้ำหอม ทุเรียน กล้วยหอมทอง และเสาวรส สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้ส่วนหนึ่ง

"สำหรับบางพื้นที่ที่อยู่ไกลแหล่งน้ำและไม่สามารถปลูกพืชทดแทนได้ พาณิชย์จังหวัดได้แนะนำให้เกษตรกรผลิตสินค้าชุมชนเป็นการทดแทน เช่น เครื่องจักสาน เสื้อผ้า ของใช้และของแต่งบ้าน ซึ่งกระทรวงฯจะเป็นผู้หาตลาด และหาผู้ซื้อเข้ามารับซื้อสินค้าให้"

อย่างไรก็ตามคาดว่าในช่วงหน้าแล้งปีนี้ ราคาผลผลิตสินค้าทางการเกษตร เช่น ผักสด ผลไม้ มะนาว ไข่ไก่ เนื้อหมู อาจสูงขึ้นกว่าในช่วงปกติตามกลไกตลาดที่ผลผลิตลดลงจากภัยแล้ง แต่กระทรวงได้เตรียมความพร้อมรับมือแล้ว โดยจะเชื่อมโยงผลผลิตดังกล่าวจากแหล่งผลิตไปในพื้นที่ที่มีผลผลิตน้อย เพื่อให้ประชาชนสามารถซื้อได้ในราคาเหมาะสม และคาดว่า จะไม่เกิดภาวะขาดแคลนผลผลิตสินค้าเกษตรแน่นอน

นอกจากนี้ได้ขอความร่วมมือผู้ผลิตน้ำดื่มให้เพิ่มสต๊อกปริมาณการเก็บน้ำดื่มบรรจุขวดจาก 5-7 วันเป็น 10 วันเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้ไปจนสิ้นสุดฤดูแล้ง และได้ขอให้เพิ่มกำลังการผลิตน้ำดื่มจากช่วงปกติ 20-30% มั่นใจว่าจะไม่ขาดแคลนแน่นอน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,139 วันที่ 13 - 16 มีนาคม พ.ศ. 2559