KTBยันพอร์ตเกษตรไร้ปัญหา เดินหน้าหนุนลูกค้าโรงงานนํ้าตาล/คุยแล้ว 5 ราย

17 มี.ค. 2559 | 09:00 น.
แบงก์กรุงไทย เผยสินเชื่อ 2 เดือนแรกยังอืด ชี้ความต้องการลงทุนใหม่ยังไม่เกิด-วงเงินหมุนเวียนธุรกิจนิ่งตามภาวะเศรษฐกิจ เน้นดูแลลูกค้าเก่าเป็นหลัก ยันพอร์ตเกษตรไม่มีปัญหา จากปัจจุบันมีอยู่ 13-14% พร้อมเดินหน้าหนุนโรงงานน้ำตาล หลังรัฐอนุมัติสร้างเพิ่ม 12 ราย ลั่นเข้ามาคุยแล้ว 5 ราย มั่นใจปล่อยกู้ได้ 2 ราย มูลค่าโครงการละ 4-5 พันล้านบาท ตอกย้ำผู้นำตลาด ส่วนกลุ่ม "KTIS" หวังรายได้ดีดกลับมาดีเหมือนเดิม เหตุเห็นสัญญาณราคาขยับขึ้น

[caption id="attachment_38027" align="aligncenter" width="364"] กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่  ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่
ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.)[/caption]

นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยว่า ทิศทางความต้องการสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.ความต้องการสินเชื่อเพื่อใช้ในการดำเนินการธุรกิจทั่วไป ปัจจุบันแนวโน้มยังค่อนข้างทรงตัว เพราะความต้องการสินเชื่อประเภทนี้จะขึ้นกับภาวะตลาด เช่น ลูกค้าผลิตสินค้าส่งออก แม้ว่าจะส่งออกในปริมาณเท่าเดิม แต่ราคาสินค้าตกต่ำ ทำให้รายได้ไม่เท่าเดิม ส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อหมุนเวียนในธุรกิจก็ปรับลดลงด้วย ส่วนประเภทที่ 2 สินเชื่อเพื่อการลงทุนใหม่ หรือขยายการผลิต สร้างโรงงาน ซึ่งเป็นสินเชื่อระยะยาว จะเห็นว่าภาพในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาความต้องการชะลอตัวลง ไม่มีการลงทุนใหม่ สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังชะลอตัวอยู่

ทั้งนี้ หากเทียบวงเงินทั้ง 2 ประเภท จะเห็นว่าสินเชื่อหมุนเวียนมีขึ้นลงตามความต้องการของลูกค้าและภาวะตลาด ส่วนสินเชื่อระยะยาว หากนโยบายภาครัฐเข้ามาช่วยกระตุ้น และเกิดความมั่นใจเชื่อว่าสินเชื่อเพื่อการลงทุนหรือวงเงินระยะยาวจะขยับเพิ่มขึ้น ซึ่งหากขยายตัวขึ้นจะมาพร้อมๆ กันตามโครงการขนาดใหญ่ โดยภาพรวมในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขสินเชื่อเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนมีอัตราการขยายตัวประมาณ 2-3% ถือว่าสินเชื่อยังค่อนข้างนิ่ง

ดังนั้น ความเสี่ยงของธุรกิจขนาดใหญ่ในปีนี้ ธนาคารยังมองว่ามาจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ชัดเจน ส่งผลให้มีความผันผวนค่อนข้างมาก ขณะที่การส่งออกยังได้รับผลกระทบขยายตัวไม่ดีนัก ประกอบกับการลงทุนใหม่จากภาคเอกชนค่อนข้างน้อยกลยุทธ์ของธนาคารจึงยังคงมุ่งเน้นการเติบโตหรือส่งเสริมธุรกิจกับลูกค้ารายเก่าที่มีศักยภาพมากกว่าลูกค้ารายใหม่ โดยกลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีในปีนี้ จะเป็นภาคบริการ โรงแรม โรงพยาบาล เป็นต้น ส่วนกลุ่มเกษตร เช่น โรงงานน้ำตาลและยาง ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะตลาดมากนัก เนื่องจากลูกค้าปรับตัวในการสต๊อกสินค้า ทำให้ยอดขายขึ้นลงสอดคล้องกับความต้องการของตลาด เช่น โรงงานน้ำตาล บมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) ซึ่งเป็นโรงงานน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุด และมีอัตราการขยายตัวของธุรกิจค่อนข้างดี โดยธนาคารยังให้การสนับสนุนลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันธนาคารมีพอร์ตสินค้าเกษตรประมาณ 13-14% ของพอร์ตสินเชื่อรายใหญ่

"ความเสี่ยงตอนนี้ที่กังวลยังเป็นเรื่องภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน ซึ่งมีผลต่อการลงทุนที่ชะลอตัวมา 1-2 ปีแล้ว ดังนั้น เรายังไม่เน้นรุกลูกค้าใหม่มาก เราจะคอยดูแลลูกค้าเก่าที่มีศักยภาพไว้ก่อน ช่วยเหลือลูกค้าป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนเป็นหลัก"

นายวิฑูร ประไพพิณ รองผู้อำนวยการฝ่าย ผู้บริหารฝ่ายทีมธุรกิจการเกษตร 1 กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ 1 สายงานธุรกิจขนาดใหญ่ 1 เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า คุณภาพสินเชื่อลูกค้ากลุ่มโรงงานน้ำตาลและส่งออกข้าวค่อนข้างดีไม่มีปัญหา เพราะลูกค้าของธนาคารค่อนข้างมีศักยภาพ และขณะนี้ธนาคารกำลังพิจารณาการปล่อยวงเงินกู้ให้กับลูกค้าโรงงานน้ำตาลเพิ่มเติม ภายหลังจากรัฐบาลได้อนุมัติให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นอีก 12 โรงงาน ซึ่งตอนนี้ได้มีผู้ประกอบการจำนวน 5 รายจากที่ได้รับอนุมัติ 12 ราย ได้เข้ามาพูดคุยกับธนาคาร ปัจจุบันอยู่ระหว่างให้ผู้ประกอบการทำแผนธุรกิจ และการตรวจสอบผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะทำแผนแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้เพื่อให้ธนาคารพิจารณา ซึ่งน่าจะมี 2 รายคาดว่าจะสามารถอนุมัติการปล่อยสินเชื่อได้ ทั้งนี้ หลังจากธนาคารอนุมัติโครงการเชื่อว่าจะมีการเบิกใช้วงเงินในการลงทุนจริงประมาณต้นปี 2560 โดยขนาดโครงการมีมูลค่าประมาณ 4-5 พันล้านบาท กำลังการผลิต 2 หมื่นตันต่อวัน นอกจากนี้ ล่าสุดธนาคารเพิ่งอนุมัติวงเงินให้กับลูกค้ารายเก่าที่ขยายธุรกิจตั้งโรงสีข้าวและผลิตเพื่อส่งออกในประเทศกัมพูชาจำนวน 2 ราย มูลค่าโครงการละประมาณ 1.2 พันล้านบาท ขนาดกำลังการผลิต 2 พันตันต่อวัน

ปัจจุบันฐานลูกค้ากลุ่มโรงงานน้ำตาลของธนาคารมีอยู่ 11 ตระกูล จากทั่วประเทศมีอยู่ 23 ตระกูล หรือคิดเป็น 52 โรงงาน โดยธนาคารกรุงไทยมีส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ประมาณ 26% เป็นอันดับ 1 ของตลาด วงเงินมูลค่าสนับสนุนรวม 4 หมื่นล้านบาท โดยอันดับรองลงมามีมาร์เก็ตแชร์ประมาณ 24% ทั้งนี้ การแข่งขันในเซ็กเตอร์โรงงานน้ำตาลจะเห็นว่ามีธนาคารพาณิชย์ที่เล่นในตลาดนี้มีอยู่ 5 รายใหญ่ จากเดิมมีอยู่ 4 ราย แต่จากแนวโน้มธุรกิจที่ค่อนข้างดีและมีศักยภาพที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารพาณิชย์สนใจเข้ามาร่วมปล่อยกู้ในเซ็กเตอร์นี้มากขึ้น สำหรับลูกค้ากลุ่ม KTIS นับเป็นลูกค้ารายสำคัญที่มีธุรกิจขยายตัวค่อนข้างดี โดยธนาคารได้สนับสนุน 3 โรงงาน กำลังการผลิต 8.8 หมื่นตันต่อวัน ซึ่งจากแนวโน้มธุรกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้ลูกค้ามีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารเพียง 4 พันล้านบาท จากวงเงินสนับสนุนในเรื่องของกระแสเงินสด และตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) รวมกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท

"โรงงานน้ำตาลกับกลุ่มเทรดดิ้งข้าวขยายตัวดี ไม่มีปัญหาหนี้เสีย ศักยภาพการเติบโตค่อนข้างดี เพราะจะเห็นว่าแบงก์ที่ไม่เคยเข้ามาปล่อยกลุ่มนี้ก็เริ่มเข้ามาบุกใหม่ อย่างไรก็ดี เราโชคดีเราได้ลูกค้าที่ติดในอันดับต้นๆ มาอยู่กับเราไม่ว่าจะตระกูลที่ทำโรงงานน้ำตาล หรือกลุ่มเทรดดิ้งข้าว 5 กลุ่มหลักมาอยู่กับเรา ดังนั้นเราเชื่อว่าเซ็กเตอร์นี้ยังไปได้ดี"

นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS กล่าวว่า แม้ว่าในช่วงไตรมาสที่ 3-4 ของปีก่อน ราคาน้ำตาลจะลดลงมาก แต่ปีนี้สัญญาณของราคาเริ่มดีขึ้น โดยขยับเพิ่มขึ้นจาก 10.5 เซ็นต์ต่อออนซ์ เป็น 12-14 เซ็นต์ต่อออนซ์ หรือขยับไปถึงจุด 15.3-15.4 เซ็นต์ต่อออนซ์ จะเป็นโอกาสที่จะทำให้รายได้ของบริษัทกลับไปเทียบเท่าในปีก่อนๆ ที่ราคาน้ำตาลค่อนข้างดี อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับปริมาณและคุณภาพอ้อยด้วย โดยปีนี้คาดว่าผลผลิตอ้อยจะอยู่ที่ราว 112-115 ล้านตันอ้อย แต่ทั้งนี้เหลือเวลาไม่นานจะเข้าสู่การปิดหีบอ้อยผลผลิตเพิ่งได้ประมาณ 85.6 ล้านตันอ้อย จึงคาดว่าทั้งปีน่าจะมีผลผลิตเพียง 100 ล้านตันอ้อย รวมถึงแฟกเตอร์จากประเทศบราซิลที่ส่งผลต่อราคาน้ำตาลโลก เนื่องจากประเทศบราซิลเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ทำให้สามารถกำหนดทิศทางราคาของตลาดน้ำตาล โดยที่ประเทศเป็นผู้ผลิตเพื่อส่งออกเป็นอันดับ 2 ดังนั้น หากปีนี้สภาพอากาศไม่แย่มากนัก ต้นทุนการผลิตต่ำ และวัตถุดิบดี จะมีผลต่อรายได้และกำไรของบริษัท ปัจจุบันรายได้ของบริษัทจะมาจากธุรกิจน้ำตาลประมาณ 75% และธุรกิจผลิตก๊าซชีวมวล (Bio Gas) ประมาณ 20-25% ซึ่งบริษัทต้องการให้สัดส่วนเพิ่มเป็น 50:50 เนื่องจากพลังงานสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงและแน่นอน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,139 วันที่ 13 - 16 มีนาคม พ.ศ. 2559