เพิ่มพอร์ตกระจายเสี่ยง บจ.แตกไลน์ธุรกิจอาหาร SST ดัน‘มัดแมน’เข้าตลาดหุ้น

14 มี.ค. 2559 | 23:00 น.
บริษัทจดทะเบียนเดินหน้าแตกไลน์ธุรกิจ ขยายฐานรายได้ต่างประเทศ หวังกระจายความเสี่ยง "ล่ำสูง"ดิ้นหนี้ธุรกิจน้ำมันปาล์มล้นตลาด เจาะตลาดสินค้ากลุ่มเนยสำหรับเบเกอรี่ "นิปปอน แพค" ชูธุรกิจอาหารเป็นพระเอก ล่าสุดซื้อร้าน"มิยาบิ" เป้ารายได้ปีละ 100 ล้าน คาดคืนทุนใน 3 ปี ฟาก"ทรัพย์ศรีไทย" ดัน"มัดแมน" หัวหอกธุรกิจอาหาร เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม ไอ ไอ คงเป้าถือหุ้นใหญ่ 51 % บอร์ดอนุมัติเพิ่มทุน ออกหุ้นกู้ ตุนเงินขยายธุรกิจ

นางสาวอัญชลี สืบจันทศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ล่ำสูง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (บมจ.) ( LST) เปิดเผยว่า บริษัทมีนโยบายกระจายรายได้ในหลากหลายธุรกิจเพื่อกระจายความเสี่ยง โดยปี 2559 เน้นจำหน่ายสินค้ากลุ่มเนยสำหรับช่องทางเบเกอรี่ที่มีการเติบโตที่ดี โดยจะว่าจ้างผลิตเพื่อประเมินการตอบรับของตลาดก่อนพิจารณาลงทุนในเครื่อง จักรใหม่ ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มสัดส่วนรายได้ในช่องทางเบเกอรี่อีก 5-10% จากปัจจุบันอยู่ที่ 10%

สำหรับการทำธุรกิจในต่างประเทศ จะเดินหน้าทำตลาดในประเทศเมียนมา ลาว และกัมพูชา เพื่อรองกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) โดยได้นำน้ำมันปาล์ม "หยก" และน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน "เนเชอเรล" เข้าไปจำหน่าย คาดว่าจะช่วยให้ยอดขายต่างประเทศเติบโตขึ้น จากปัจจุบันที่มีรายได้ประมาณ 5%

ขณะที่บริษัทคาดว่ารายได้ปี 2559 จะเติบโต 5-8 % จากปีก่อนที่ทำได้ 6.33 พันล้านบาท และคาดว่าปีนี้จะมีอัตรากำไรที่ดีขึ้น เพราะในปีที่ผ่านมาได้ใช้งบลงทุนประมาณ 400 ล้านบาท เพื่อขยายไลน์การผลิตใหม่ ลงทุนในเครื่องเป่าขวด และปรับปรุงไลน์การผลิตเดิม โดยจะเริ่มเห็นผลในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตของโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 45 ตันต่อชั่วโมง มีกำลังการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันปาล์มอยู่ที่ 1,000 ตันต่อวัน

สำหรับผลประกอบการของบริษัทและบริษัทย่อยปี 2558 มีรายได้รวม 8.3 พันล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 2.85% และมีกำไรสุทธิ 311.42 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 18.19% สาเหตุหลักมาจากเงินปันผลรับจากบริษัทย่อยลดลง และปริมาณการขายลดลงเล็กน้อย เนื่องจากปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มโดยรวมของประเทศไม่ขยายตัว โดยมีความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคประมาณ 1 ล้านตัน และมีความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อผลิตไบโอดีเซล 8 แสนตันเศษ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ภาวะชะงักงันของอุตสาหกรรมดังกล่าว เกิดขึ้นใน 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ ช่องทางอุตสาหกรรมและค้าปลีก สาเหตุจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มลดลง ขณะที่กำลังการผลิตมีอยู่มากจนล้นตลาด โดยสิ้นปี2558 สต๊อกน้ำมันปาล์มโดยรวมทั้งประเทศอยู่ที่ 3.34 แสนตัน เนื่องจากในปีที่ผ่านมาผู้ผลิตไม่สามารถส่งออกน้ำมันปาล์มดิบได้ จากปีก่อนหน้าที่ส่งออกไป 1.67 แสนตัน เพราะราคาต่างประเทศถูกกว่าในประเทศ

นายสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย กรรมการผู้จัดการ บมจ.นิปปอนแพ็ค (NPP)เปิดเผยว่า หลังจากบริษัทได้มีการลงทุนจัดโครงสร้างธุรกิจต่างๆเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนี้ไปจะรับรู้รายได้และกำไรทั้งจากธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ ธุรกิจอาหาร และธุรกิจสื่อโฆษณา

"คาดว่าพอร์ตของบริษัทฯ ธุรกิจอาหารจะเติบโตสูงสุด เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีมาร์จิ้นอยู่ในเกณฑ์ดี อีกทั้งมีโอกาสในการขยายธุรกิจได้ค่อนข้างรวดเร็ว อีกทั้งธุรกิจอาหารที่บริษัทลงทุนสามารถรับรู้รายได้ทันที" นายสุรพงษ์ กล่าวและว่า

ล่าสุด( 24 ก.พ. 59) บริษัท เอ็นพีพี ฟู้ด อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือนิปปอน ฟู้ด บริษัทในเครือบมจ.นิปปอนแพ็ค ได้ลงนามสัญญาซื้อขาย บริษัท มิยาบิ กริลล์ จำกัด (MIYABI) ร้านอาหารญี่ปุ่น ด้วยจำนวนเงิน 55 ล้านบาท กำหนดการโอนทรัพย์สินและสิทธิในวันที่ 1 มีนาคม 2559 โดยนิบปอน ฟู้ด จะเป็นผู้ถือสิทธิในการบริหาร และถือครองทรัพย์สินของร้านมิยาบิ จำนวน 5 สาขา ประกอบด้วย 1. สยามสแควร์ 2. ซีคอนสแควร์ 3. เดอะมอลล์ บางแค 4. เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน และ 5. เซ็นทรัล ศาลายา

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การลงทุนครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่ม และเพื่อให้นิปปอน ฟู้ด มีธุรกิจที่หลากหลาย และสามารถใช้บุคคลากรที่มีอยู่แล้วได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งร้านมิยาบิ เป็นธุรกิจอาหารที่มีศักยภาพ ตอบรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน ที่นิยมรับประทานอาหารปิ้งย่างกันมากขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ดีของบริษัทที่ได้รับสิทธิในการบริหารหลังจากนี้ เบื้องต้นบริษัทประเมินว่าร้านมิยาบิทั้ง 5 สาขาจะสามารถสร้างรายได้เฉลี่ยปีละ 100 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถคืนทุนได้ภายในเวลาไม่เกิน 3 ปี

บมจ.นิปปอนแพ็ค ประกอบธุรกิจ ผลิต จำหน่าย บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีความยืดหยุ่นและขวด PET บรรจุภัณฑ์พลาสติกคุณภาพสูงและถาดอาหาร รวมทั้งลงทุนในธุรกิจอาหาร และธุรกิจติดตั้งสื่อโฆษณา
นางพัชรี บุนนาค ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการ บมจ.ทรัพย์ศรีไทย ( SST ) เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการหรือบอร์ดบริษัทฯ อนุมัติแผนการนำบริษัท มัดแมน จำกัด (MM) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (Spin-off Plan) และการเสนอขายและจัดสรรหุ้นสามัญของบริษัท มัดแมน ให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO)และผู้ถือหุ้นของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้น คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2559 โดย SST จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุมใน MM ในสัดส่วนที่ไม่ต่ากว่า 51% ของทุนจดทะเบียนภายหลังการเพิ่มทุน จากเดิมถือ 80.33%

ทั้งนี้กำหนดสัดส่วนของจำนวนหุ้นไอพีโอที่จะเสนอขายไม่เกิน 25% ของทุนชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นไอพีโอ

นอกจากนี้บอร์ดบมจ.ทรัพย์ศรีไทย ยังอนุมัติการเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate) จำนวน 226.02 ล้านหุ้น จัดสรร จัดสรรให้กับประชาชนทั่วไป 75.34 ล้านหุ้น , จัดสรรให้กับ บุคคลในวงจำกัด 37.67 ล้านหุ้น และจัดสรรเพื่อรองรับการใช้สิทธิของใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ (TSR) จำนวน 113.01 ล้านหุ้น อีกทั้งอนุมัติการเพิ่มวงเงินในการออกและเสนอขายตราสารหนี้ในรูปของตั๋วเงิน และ/หรือหุ้นกู้จากวงเงินไม่เกิน 2 พันล้านบาท เป็นไม่เกิน 3 พันล้านบาท

วัตถุประสงค์ของการเพิ่มทุน เพื่อขยายธุรกิจ ซึ่งรวมถึงการขยายงาน เพิ่มกาลังการผลิต ของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน หรือ การได้มาซึ่งธุรกิจใหม่/ผลิตภัณฑ์ใหม่, ชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงินต่างๆ และเพื่อรักษาสภาพคล่องของทุนหมุนเวียนของบริษัท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,139 วันที่ 13 - 16 มีนาคม พ.ศ. 2559