ล้มประมูล! "แหลมฉบัง เฟส 3" สั่งเร่งหารืออีอีซี ปรับแก้ทีโออาร์

14 ม.ค. 2562 | 13:04 น.
561000011323601
'สมศักดิ์' สั่ง "ท่าเรือแหลมฉบัง" เร่งหารืออีอีซี ปรับแก้ทีโออาร์ประมูล "แหลมฉบัง เฟส 3" หลังพบมีผู้ประมูลรายเดียวจนต้องล้มประมูล ... กลุ่มแอสโซซิเอส อินฟินิตี้ โผล่ยื่นรายเดียว แต่ไม่ยื่นหลักประกันซอง

นายสมศักดิ์ ห่มม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า ในฐานะประธานกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามที่ท่าเรือแหลมฉบังได้เปิดให้เอกชนที่ซื้อซองประกวดราคา (ทีโออาร์) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F วงเงิน 84,361 ล้านบาท โดยมีผู้ซื้อซองจำนวน 32 ราย เป็นบริษัทในประเทศไทยจำนวน  17 ราย และบริษัทต่างชาติจำนวน 15 รายนั้น

 

[caption id="attachment_374727" align="aligncenter" width="359"] สมศักดิ์ ห่มม่วง สมศักดิ์ ห่มม่วง[/caption]

ในการยื่นซองประกวดราคา พบว่า มีบริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด โผล่ยื่นซองประกวดราคารายเดียว และเป็นบริษัทในประเทศไทย แต่เมื่อคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติ กลับพบว่า บริษัทดังกล่าวไม่ได้ยื่นหลักประกันซอง จึงไม่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ ส่งผลให้ต้องล้มประมูลในครั้งนี้

"ได้รับรายงานว่า ภายหลังหารือของคณะกรรมการ พร้อมรายงานต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ตามขั้นตอน พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 มีแนวโน้มว่าจะส่งผลให้ต้องล้มประมูล พร้อมกันนี้ สั่งให้เร่งหารือคณะกรรมการอีอีซีเพื่อหาทางออกเรื่องนี้ โดยเฉพาะประเด็นความเข้มงวดของเอกสารประกวดราคา ที่มีผู้ประกอบการบางรายถึงกับเรียกว่า "เขี้ยวมากที่สุด" นั้น ให้สามารถเปิดทางให้เอกชนทั้งในและต่างประเทศได้มีโอกาสเข้ามาร่วมแข่งขันมากรายยิ่งขึ้น แต่การท่าเรือจะต้องไม่เสียผลประโยชน์ใด ๆ ต่อไป"


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

ขณะที่ แหล่งข่าวจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงผลการเปิดรับซองเอกสารประกวดราคาโครงการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F วงเงินลงทุนกว่า 8.4 หมื่นล้านบาท โดยระบุว่า หลังจาก กทท. มีกำหนดเปิดรับซองเอกสารโครงการดังกล่าว เมื่อเวลา 09.00–15.00 น. วันที่ 14 ม.ค. 2562 พบว่า มีเอกชนเข้ายื่นซองข้อเสนอเพียง 1 ราย คือ บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด (Associate Infinity) ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศไทย แต่เมื่อตรวจซองคุณสมบัติแล้ว พบว่า บริษัทดังกล่าวไม่ได้ยื่นหลักประกันซองมาด้วย

"มีผู้ซื้อซองโครงการนี้ไป 32 ราย แต่มีเอกชนเข้ามายื่นข้อเสนอเพียงรายเดียว และตรวจคุณสมบัติเบื้องต้นก็พบว่า "ไม่ผ่านเกณฑ์" เนื่องจากเอกสารไม่ครบ หลังจากนี้ กทท. ก็จะต้องรายงานผลการเปิดรับซองดังกล่าวตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) ซึ่งก็มีแนวโน้มสูงว่า บริษัทดังกล่าวจะตกคุณสมบัติ ทำให้การประมูลรอบนี้อาจจะต้องประกาศยกเลิกออกไปก่อน เพื่อกลับมาแก้ไขหลักเกณฑ์ใหม่ เท่ากับว่า ต้องประมูลใหม่"

สำหรับก่อนหน้านี้ กทท. ประเมินว่า จะมีเอกชนเข้ามายื่นข้อเสนอมากกว่า 5 กลุ่ม เนื่องจากมีจำนวนเอกชนเข้าซื้อซองสูงถึง 32 ราย และส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่อยู่ในวงการโลจิสติกส์ทางเรือระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล ของฮ่องกง, บริษัท ท่าเรือและการขนถ่ายสินค้าสิงคโปร์ (Port of Singapore Authority : PSA), บริษัท แหลมฉบัง อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด ของกลุ่มดูไบ เป็นต้น

ขณะที่ เอกชนไทย พบว่า มีบริษัททุนใหญ่ อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี), เครือ ปตท. ที่เข้ามาซื้อซองในนาม บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินอล จำกัด (PTT Tank) รวมไปถึงบริษัทรับเหมาอย่าง บริษัท อิตาเลียนไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนคอนสตรัคชั่น จำกัด และบริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

นอกจากนี้ กทท. ยังกำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินงาน ภายหลังเปิดรับซองเอกสารข้อเสนอในวันที่ 14 ม.ค. 2562 จะเร่งพิจารณาซองเอกสารที่ 1 เอกสารเปิดผนึก หรือ ซองเอกสารหลักฐานการยื่นข้อเสนอ ราว 1–2 วัน จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนพิจารณารายละเอียดในซอง, เปิดซอง 2 ซองคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ, เปิดซอง 3 ข้อเสนอทางเทคนิคและแผนการลงทุนในโครงการ และเปิดซอง 4 ข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทน

โดยคาดว่า กระบวนการเปิดซองเอกสารและพิจารณาจะแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน หรือราววันที่ 14 ก.พ. 2562 ก็จะสามารถรู้ผู้ชนะการประมูลโครงการดังกล่าว พร้อมกำหนดเสนอผลการประมูลเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อลงนามสัญญาภายในต้นเดือน มี.ค. 2562 และเริ่มก่อสร้างภายในเดือน พ.ค. 2562 ดังนั้น หากโครงการประมูลต้องถูกยกเลิกและเริ่มต้นขั้นตอนใหม่ แน่นอนว่าจะต้องกระทบต่อระยะเวลาดำเนินโครงการล่าช้า


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก