ECB ลดดอกเบี้ย และเพิ่มวงเงินซื้อสินทรัพย์... เงินบาททุบสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือน

11 มี.ค. 2559 | 07:57 น.
 

การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2559 ที่ผ่านมา มีวาระสำคัญอยู่ที่การทบทวนเครื่องมือผ่อนคลายนโยบายการเงินต่างๆ โดยเฉพาะ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ติดลบมาทั้งแต่เดือนมิ.ย. 2557 และมาตรการซื้อสินทรัพย์ที่ ECB เดินหน้าโครงการมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี

ทั้งนี้ ผลการประชุม ECB ที่ออกมา มีส่วนที่สร้างความประหลาดใจต่อตลาดการเงินโลก 2 เรื่อง คือ 1) ECB เลือกใช้หลายเครื่องมือผ่อนคลายทางการเงิน ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาด และ 2) ประธาน ECB ส่งสัญญาณว่า ไม่น่าจะมีความจำเป็นที่ ECB จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ 2 ประเด็นดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของตลาดเงิน-ตลาดทุนโลกในด้านที่กลับกัน แต่ดูเหมือนว่า ตลาดการเงินจะให้น้ำหนักมากกว่ากับถ้อยแถลงของประธาน ECB ที่บ่งชี้ว่า อัตราดอกเบี้ยของยูโรโซนอาจจะแตะระดับต่ำสุดของวัฏจักรรอบนี้แล้ว เพราะในท้ายที่สุด ค่าเงินยูโรทะยานแข็งค่าขึ้น พร้อมกับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลยูโรโซน ขณะที่ ตลาดหุ้นยุโรปเผชิญแรงเทขายกลับลงมา...

ECB ประกาศเครื่องมือผ่อนคลายทางการเงินชุดใหญ่ (โดยมีทั้งการปรับลดดอกเบี้ย เพิ่มวงเงินซื้อสินทรัพย์ และเปิดโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ) ตามความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของยูโรโซน โดย ECB ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงมาที่ร้อยละ 1.4 และร้อยละ 1.7 ขณะที่ อัตราเงินเฟ้ออาจมีค่าเฉลี่ยเพียงร้อยละ 0.1 และร้อยละ 1.3 ในปี 2559 และ 2560 ตามลำดับ

มาตรการผ่อนคลายขนานใหญ่ของ ECB

oอัตราดอกเบี้ยสำคัญของ ECB ถูกปรับลดลงทั้ง 3 ตัว ลงสู่ระดับที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งนอกเหนือการคาดการณ์ของตลาดเล็กน้อย เพราะดูเหมือนว่า ในช่วงก่อนการประชุมรอบนี้ ตลาดจะให้ความสนใจเฉพาะการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของสถาบันการเงิน ซึ่งมติ ECB ที่ออกมาในรอบนี้ ก็สอดคล้องกับที่ตลาดคาด โดยดอกเบี้ยเงินฝากถูกกดลงสู่ระดับที่ติดลบมากขึ้นที่ร้อยละ -0.40 จากร้อยละ -0.30

อย่างไรก็ดี ECB ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยตัวสำคัญอีก 2 ตัว คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ถูกปรับลดลงมาที่ร้อยละ 0.0 จากร้อยละ 0.05 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ ECB เก็บจากสถาบันการเงินที่ลดต่ำลงมาที่ร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 0.30

Note นอกเหนือการคาดการณ์ของตลาดเล็กน้อย

oECB เพิ่มวงเงินซื้อสินทรัพย์ต่อเดือนมากกว่าที่ตลาดคาด มาที่ 8.0 หมื่นล้านยูโร จาก 6.0 หมื่นล้านยูโร นอกจากนี้ ECB จะเริ่มเข้าซื้อหุ้นกู้เอกชน (Corporate Bond) ที่มีอันดับน่าลงทุนตั้งแต่ไตรมาส 2/2559 เป็นต้นไป ซึ่งสะท้อนว่า ECB ได้ขยายประเภทสินทรัพย์ที่ ECB จะซื้อให้ครอบคลุมไปถึงตราสารทางการเงินที่ออกโดยภาคเอกชนที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เป็นครั้งแรกในประวัติการณ์

ทั้งนี้ มาตรการซื้อสินทรัพย์ของ ECB นี้ จะเดินหน้าไปจนถึงเดือนมี.ค. 2560 ซึ่งก็เป็นกำหนดเวลาเดิมที่ ECB เคยประกาศไว้เมื่อเดือนธ.ค. 2558

Note  นอกเหนือการคาดการณ์ของตลาด

oECB เปิดโครงการ TLTRO II ซึ่งจะปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำระยะเวลา 4 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2559 แต่โครงการ TLTRO รอบ 2 นี้ จะคิดดอกเบี้ยเทียบเท่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งอยู่ที่ที่ร้อยละ 0 ในปัจจุบัน และอาจกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ต่ำลงเทียบเท่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่สถาบันการเงินฝากไว้ที่ ECB ซึ่งมีค่าติดลบร้อยละ -0.40 ได้ ตามความสามารถในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารนั้นๆ

เท่ากับว่า ECB จะช่วยชดเชยต้นทุนการกู้เงินให้กับธนาคารที่ต้องเผชิญกับผลกระทบเชิงลบจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ ECB ซึ่งมีค่าติดลบในอีกขาหนึ่ง

Note  นอกเหนือการคาดการณ์ของตลาด

มุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทย

หากประเมินถึงระดับมาตรการผ่อนคลายทางการเงินที่อยู่นอกเหนือการคาดการณ์ของตลาดในหลายๆ ส่วน ก็คงต้องยอมรับว่า การประชุมนโยบายการเงินของ ECB ในรอบนี้ เป็นการทบทวนเครื่องไม้เครื่องมือเชิงนโยบายครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของธนาคารกลางแกนหลักของโลกในปีนี้ ตามหลังธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือ BOJ ที่ประกาศใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 3 อัตรา โดยมีอัตราต่ำสุดเป็นค่าติดลบที่ร้อยละ -0.10 เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2559 และธนาคารกลางจีน หรือ PBOC ที่ปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ลงมาที่ร้อยละ 17.0 และร้อยละ 16.0 ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และขนาดเล็กตามลำดับ เมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2559 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ตลาดจะค่อนข้างผิดหวังกับถ้อยแถลงของประธาน ECB ที่ระบุว่า ไม่เห็นความจำเป็นที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก แต่คาดว่า ผลลัพธ์ที่จะมีต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนในช่วงหลังจากนี้ อาจจะไม่แตกต่างไปจากสถานการณ์ที่เริ่มเห็นมาแล้วตั้งแต่ในช่วงท้ายๆ เดือนม.ค. 2559 เป็นต้นมามากนัก ก็คือ สัญญาณผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางชั้นนำหลายๆ แห่ง และความไม่แน่นอนในจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจทำให้มีเม็ดเงินต่างชาติบางส่วน ทยอยไหลกลับเข้ามายังตลาดการเงินในภูมิภาคอีกระลอก [หลังจากที่ไหลออกไปในปีที่แล้ว] ซึ่งต้องยอมรับว่า พันธบัตรและหุ้นไทยก็น่าจะเป็นหนึ่งในตัวเลือก เพื่อกระจายพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ด้วยเช่นกัน อนึ่ง นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทย เป็นเงินรวมกันแล้วกว่า 5.0 หมื่นล้านบาทนับจากต้นปี 2559 ขณะที่ เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือนใกล้ๆ 35.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ

สำหรับทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางชั้นนำของโลกในช่วงหลายเดือนข้างหน้านั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สัญญาณของนโยบายการเงินจะยังคงโน้มเอียงไปในเชิงผ่อนคลาย ซึ่งเป็นภาพที่สอดคล้องกันมากขึ้น โดยขั้วของธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางญี่ปุ่น ธนาคารกลางจีน และธนาคารกลางอื่นๆ ในยุโรป จะเดินหน้าเครื่องมือผ่อนคลายทางการเงิน ซึ่งอาจจะมีผลในทางอ้อมต่อเฟดในการเลือกจังหวะ และ/หรือส่งสัญญาณเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะทำให้ตลาดตีความว่า เฟดตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่จำเป็นต้องรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบางอยู่มาก ทั้งนี้ หากภาพดังกล่าวนำไปสู่กระแสเงินทุนไหลเข้าทางฝั่งเอเชียอย่างต่อเนื่องแล้ว สิ่งที่ภาคธุรกิจควรให้ความสำคัญก็คือ การบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเห็นเงินบาทแข็งค่าทดสอบแนวต้านสำคัญทางจิตวิทยาที่ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ได้ในระยะสั้น

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย