ซิงเกอร์พลิกโมเดลขายมัลติแบรนด์สู้กำลังซื้อซบ

15 มี.ค. 2559 | 08:00 น.
ซิงเกอร์ ปรับโมเดลธุรกิจสู้กำลังซื้อและภัยแล้ง ขายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและมือถือ 5 แบรนด์ชั้นนำ พร้อมทุ่ม 20 ล้านเปิดร้าน SG Power เจาะชุมชม ทั้งเตรียมเปิดป๊อปอัพสโตร์ ระบายสต๊อกสินค้ามือ 2 หวังทำยอดได้ 100 ล้าน คาดปีนี้ตั้งเป้าลดหนี้ NPL และมียอดขายที่ 3.6 พันล้าน

นายบุญยง ตันสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ผู้จัดจำหน่ายสินค้าในระบบขายตรงแบบเช่าซื้อ ภายใต้แบรนด์ซิงเกอร์ (SINGER) และแบรนด์ต่างๆ อาทิ ซัมซุง แอลจี เป็นต้น เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปีนี้บริษัทได้ปรับโมเดลการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง โดยเปิด 2 หน่วยธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างยอดขาย 3.6 พันล้านบาท จากปีที่ผ่านมาทำได้กว่า 3.4 พันล้านบาท

สำหรับหน่วยธุรกิจแรก เป็นการขายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและโทรศัพท์มือถือมัลติแบรนด์ในระบบเงินผ่อน ซึ่งขณะนี้มีด้วยกัน 5 แบรนด์สินค้า ได้แก่ แอลจี ซัมซุง มาสเตอร์คูล ชาร์ป และทรู โดยการจัดจำหน่ายยังคงให้พนักงานขายซิงเกอร์เป็นผู้จำหน่ายผ่านระบบขายตรงและแคตตาล็อก แต่การชำระเงินจะผ่านระบบธนาคารและเคาน์เตอร์เซอร์วิสทั่วไป ซึ่งราคาสินค้าที่จำหน่ายจะใกล้เคียงกับช่องทางโมเดิร์นเทรดทั่วไป

ส่วนอีกหน่วยธุรกิจ บริษัทได้เตรียมทุ่มงบประมาณ 20 ล้านบาท เพื่อเปิดร้านจำหน่ายสินค้ามัลติแบรนด์ ภายใต้ชื่อ SG Power จำนวน 12 แห่ง ที่จะเน้นขายเครื่องใช้ไฟฟ้าจากแบรนด์ชั้นนำ ซึ่งเป็นสินค้าขายดีติดอันดับท็อป 3 ของแต่ละแบรนด์ รูปแบบการจัดจำหน่ายยังเป็นการขายตรงโดยพนักงาน ที่นำเสนอให้กับลูกค้าในพื้นที่รัศมี 20-30 กิโลเมตรต่อการขาย 1 แห่ง ซึ่งรูปแบบร้านดังกล่าวจะแตกต่างจากร้านซิงเกอร์ที่มีอยู่ 185 แห่งในปัจจุบันที่เน้นการขายสินค้าเฉพาะแบรนด์ซิงเกอร์เป็นหลัก

“เป้าหมายในอนาคตอยากเห็นซิงเกอร์ขายสินค้าได้ทุกยี่ห้อ เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับธุรกิจ แม้ว่ากำไรขั้นต้นจะไม่มากก็ตาม ซึ่งการขายจะเป็นรูปแบบดอร์ทูดอร์ มีสาขาเป็นโชว์รูมซึ่งสาขาต้นแบบจะเปิดในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล เน้นพื้นที่ที่ใกล้แหล่งชุมชน ซึ่งอาจจะไม่ต้องเป็นไพร์มแอเรียมากนัก เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันไม่ได้เน้นการเข้าไปในห้างมากนัก หากประสบความสำเร็จจะขยายสาขาออกไปเพิ่มมากขึ้น คาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการสาขาแรกภายในไตรมาสที่ 2 นี้”

นอกจากนี้ยังเตรียมเปิดจุดจำหน่ายสินค้ามือ 2 ที่ยึดคืนมาจากลูกค้าที่ไม่ผ่อนชำระ ในลักษณะป๊อปอัพสโตร์ภายใต้ชื่อ Smart Select จำนวน 10 จุด ใช้เงินลงทุนประมาณ 4 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป ปัจจุบันมีสินค้าที่เตรียมนำมาลดราคาประมาณ 800-1 พันชิ้น โดยจะนำมาแบ่งเกรดลดราคาตามสภาพของสินค้า คาดว่าจะสามารถสร้างยอดขายจากสินค้ามือ 2 ในปีนี้ประมาณ 100 ล้านบาท และใช้ระยะเวลาการขายสินค้าประมาณ 8-10 เดือนเพื่อระบายสต๊อกทั้งหมด

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทพบว่าสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาสูงกว่าปกติ โดยมีอัตรา NPL 6.9% จากอดีตที่ผ่านมามีอัตรา 4% แม้ว่าปัจจุบันจะลดลงเหลืออัตรา 6% แล้วก็ตาม ประกอบกับอัตราการยึดคืนสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นด้วย จากอดีตมีอัตราส่วน 5% ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 8% บริษัทจึงต้องการระบายสินค้ามือ 2 เพื่อเพิ่มรายได้ให้มากขึ้นและช่วยทำให้สต๊อกสินค้ามือ 2 ลดลงด้วย

“แนวโน้มกำลังซื้อของประชาชนในปีนี้น่าจะชะลอตัวต่อเนื่อง เพราะมีปัญหาภัยแล้งที่เพิ่มเข้ามาด้วย บริษัทก็ได้ปรับตัวอย่างต่อเนื่องมา 2-3 ปี แต่ยังทำได้ไม่ดีนัก ปีที่แล้วกำลังซื้อและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ก็ส่งผลกระทบกับบริษัททำให้ลูกค้าผ่อนสินค้าไม่ไหว ทำให้ปีนี้ได้ปรับเพิ่มอัตราเงินดาวน์มากขึ้น จาก 5% เป็น 10% เพื่อป้องกันการทิ้งไม่ผ่อนชำระสินค้า” นายบุญยงกล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,139 วันที่ 13 - 16 มีนาคม พ.ศ. 2559