"เอ็นพีแอลปีหมู" ดุ! จ่อแตะสูงสุดรอบใหม่เฉียด 5 แสนล้าน

23 ม.ค. 2562 | 07:40 น.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้! ปี 62 แบงก์เร่งบริหารหนี้เสียเชิงรุก ทั้งปรับโครงสร้าง ตัดขายหนี้เสีย ดันยอดเทขายจาก 7.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็น 7.5 หมื่นล้านบาทต่อไตรมาส สอดคล้องกับเอ็นพีแอล คาดไตรมาส 3 ทะยานจุดสูงสุดรอบใหม่แตะเกือบ 3% อยู่ที่ 4.8 แสนล้านบาท "เอสเอ็มอี-บ้าน-รถยนต์" ยังน่าห่วง

ภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชัดเจนขึ้นจากความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เห็นชัดเจนว่า ได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วและเริ่มเห็นการชะลอลง โดยเฉพาะหลังการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง จนทำให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ออกอาการไม่พอใจถึงขั้นมีข่าวลือสั่งปลด นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จนสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกไปช่วงท้ายปีก่อนปิดยาวช่วงสิ้นปี แม้ว่าที่สุดนายเจอโรมจะออกมาบอกว่าไม่รีบขึ้นดอกเบี้ยก็ตาม แต่จะยังเดินหน้าลดสภาพคล่องต่อไป

เมื่อมาประกอบรวมกับความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ทำให้เศรษฐกิจไทยย่อมได้รับผลกระทบไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก โดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ไว้ที่ 4% ชะลอลงจากปีก่อน ทำให้มีความกังวลต่อภาคธุรกิจและสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ที่จะถูกกระทบไปด้วย โดยเฉพาะหนี้ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ที่ก่อนมองว่าเพิ่มขึ้น มีโอกาสจะไหลมาเป็นหนี้เสียได้

 

[caption id="attachment_373644" align="aligncenter" width="336"] ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล[/caption]

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ปี 2562 จะเห็นสถาบันการเงิน หรือ ธนาคารพาณิชย์ บริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เชิงรุกมากขึ้น แต่ละธนาคารจะมีโมเดลในการบริหารจัดการแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์แต่ละแห่ง เช่น ปรับโครงสร้างหนี้ ตัดขายทิ้ง หรือ เก็บไว้เพื่อบริหารเอง ซึ่งเป็นผลจากความกังวลเรื่องเอ็นพีแอลที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) สินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรถยนต์ที่ยังมีทิศทางเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฯ คาดการณ์ว่าจะเห็นเอ็นพีแอลขยับขึ้นไปจุดสูงสุดครั้งใหม่ (New Peak) อีกรอบในไตรมาส 3 ปีนี้โดยจะขึ้นไปเกือบ 3% จากไตรมาส 3 ปี 2560 ที่เคยสูง 2.97% และไตรมาส 3 ปี 2561 อยู่ที่ 2.94% และน่าจะปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.91% ในสิ้นปี ซึ่งเป็นผลจากธนาคารพาณิชย์พยายามแก้ไขหนี้ไม่ให้สูงเกินไป โดยเอ็นพีแอลปี 2561 คิดเป็นมูลค่า 4.48 แสนล้านบาท และปี 2562 จะมีมูลค่าราว 4.8 แสนล้านบาท หรือ 2.98% ของสินเชื่อรวม

อย่างไรก็ดี สัญญาณการปรับขึ้นของเอ็นพีแอลที่ไปอยู่จุดสูงสุดครั้งใหม่นี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มตัวเลขหนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ที่ผิดนัดไม่เกิน 90 วัน มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น โดยในไตรมาส 3 ปี 2561 อยู่ที่ 2.42% แต่จะเห็นว่า ตัวเลข SM ของสินเชื่อรถยนต์ค่อนข้างสูง อยู่ที่ 7.32% ดังนั้น ช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวมีความเป็นไปได้ที่หนี้จัดชั้น SM จะไหลเป็นหนี้เอ็นพีแอล เพราะเป็นภาวะที่เศรษฐกิจไม่เอื้อในเชิงคุณภาพหนี้


MP20-3435-A-

และเพื่อดูแลปัญหาเอ็นพีแอลไม่ให้สูงเกินไป จะเห็นตัวเลขการปรับโครงสร้างหนี้การตัดขายหนี้ทิ้งในปี 2562 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2561 ที่ตัวเลขเฉลี่ยจะอยู่ 7.2 หมื่นล้านบาทต่อไตรมาส แต่ในปี 2562 จะเห็นตัวเลขการปรับโครงสร้างหนี้ การตัดขายหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 7.5 หมื่นล้านบาทต่อไตรมาส สะท้อนถึงการบริหารจัดการหนี้เอ็นพีแอลในเชิงรุกมากขึ้น

"จากความกังวลเอ็นพีแอลที่ขยับสูงขึ้น ทำให้การกันสำรองที่คาดว่าจะคลายลงจากปีก่อน จะยังคงเห็นธนาคารกันสำรองเพิ่มขึ้น สะท้อนผ่านอัตราส่วนค่าใช้จ่ายตั้งสำรองต่อสินเชื่อ (Credit Cost) ซึ่งปี 2561 จะอยู่ที่ 1.18% ลดลงจากปี 2560 ที่อยู่ 1.43% แต่ปี 2562 คาดว่า Credit Cost จะทรงตัวใกล้เคียงปีก่อน หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ราว 1.18-1.20% ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันต่อผลประกอบการปี 2562 ของธนาคารพาณิชย์ นอกจากประเด็นเรื่องรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (Fee) หรือ ค่าธรรมเนียมที่ปรับลดลงแล้ว"


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

ดังนั้น เพื่อลดแรงกดดันต่อผลประกอบการและค่าธรรมเนียมที่ลดลง จะเห็นธนาคารพาณิชย์หันมาเพิ่มรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น โดยหันไปมุ่งเน้นการเติบโตสินเชื่อมากขึ้น แม้ว่าคาดการณ์สินเชื่อปี 2562 จะขยายตัวลดลงเหลือ 5% จากปีก่อน ขยายตัว 6% ซึ่งธนาคารพาณิชย์จะเน้นขยายสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield) ค่อนข้างสูง เช่น สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) แต่อาจจะช่วยดันรายได้ไม่มากนัก เพราะสัดส่วนพอร์ตค่อนข้างน้อย ประกอบกับรอจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่คาดว่าจะขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 ซึ่งจะมีผลต่อรายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับขึ้นได้ จากก่อนหน้านี้อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรถยนต์ขยับขึ้นไปแล้ว

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,435 วันที่ 13 - 16 มกราคม พ.ศ. 2562

595959859