โพลล์ชี้สังคมไทยยังให้ความสำคัญเรื่องจรรยาบรรณในการประกอบอาชีพน้อย

11 มี.ค. 2559 | 06:59 น.
โพลล์ระบุร้อยละ 70.06 คิดว่าสังคมไทยยังให้ความสำคัญเรื่องจรรยาบรรณในการประกอบอาชีพน้อยเกินไป ส่วน 3 อันดับอาชีพที่ต้องคำนึงถึงจรรยาบรรณมากที่สุดคือ แพทย์/พยาบาล นักการเมือง/ข้าราชการ และสื่อมวลชน

ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการมีจรรยาบรรณในการประกอบอาชีพ  ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 5-10 มีนาคม 2558 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,179 คน

ศ.ดร.ศรีศักดิ์ กล่าวว่า “จรรยาบรรณ” ถือเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบอาชีพต่างๆต้องยึดถือไว้เป็นข้อปฏิบัติสำคัญโดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพที่ส่งผลหรือมีอิฐธิพลกับสังคมเป็นวงกว้าง เช่น แพทย์พยาบาล นักการเมือง สื่อมวลชน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการควบคุมและรักษามาตรฐาน คุณภาพรวมถึงประสิทธิภาพในการประกอบอาชีพ และยังเป็นการสร้างความไว้วางใจให้กับสังคมโดยรวม ซึ่งในแต่ละอาชีพอาจจะมีจรรยาบรรณที่ต้องยึดถือปฏิบัติเหมือนหรือแตกต่างกันไป ขณะเดียวกันประเด็นเกี่ยวกับจรรยาบรรณในการประกอบอาชีพได้ปรากฏเป็นข่าวอยู่เป็นระยะและมักก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงกันในสังคมเป็นวงกว้างเนื่องจากผู้คนในสังคมเริ่มตืนตัวและให้ความสำคัญเกี่ยวกับประเด็นในเรื่องจรรยาบรรณในการประกอบอาชีพมากขึ้นกว่าในอดีต จึงทำให้มีการพูดถึงกันมากขึ้นในสังคมเกี่ยวกับการคำนึงถึงจรรยาบรรณในการประกอบอาชีพ

จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการมีจรรยาบรรณในการประกอบอาชีพ

ศ.ดร.ศรีศักดิ์ กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งเป็นเพศหยิงร้อยละ 50.72 และร้อยละ 49.28 เป็นเพศชายสามารถสรุปผลได้ดังนี้  ในด้านความคิดเห็นต่อคำจำกัดความของคำว่า “จรรยาบรรณ” นั้น กลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 33.67 มีความคิดเห็นว่า “จรรยาบรรณ” หมายถึง ข้อบังคับด้านความประพฤติที่ผู้ประกอบอาชีพการงานแต่ละอย่างกําหนดขึ้น เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณชื่อเสียงและฐานะของสมาชิก อาจมีหรือไม่มีระบุไว้ในกฎหมาย รองลงมามีความคิดเห็นว่า จรรยาบรรณคือระเบียบแบบแผนหรือข้อกำหนดที่องค์กรวิชาชีพกำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานสำหรับผู้ประกอบอาชีพได้ปฏิบัติตามไปในทิศทางเดียวกันนอกเหนือจากกฎหมายทั่วไป คิดเป็นร้อยละ 26.55 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 18.24 คิดว่าหมายถึงสิ่งที่กำหนดขึ้นเพื่อให้ผู้ประกอบอาชีพได้ปฏิบัติตามอันจะเป็นการสร้างการยอมรับและไว้ใจจากสังคมโดยรวม ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 12.55 และร้อยละ 8.99 มีความคิดเห็นว่า จรรยาบรรณคือกฎเกณฑ์ที่ผู้ประกอบอาชีพในแต่ละอาชีพต้องคำนึงถึงในการประกอบอาชีพของตนเป็นการเฉพาะเพื่อสร้างความมีมาตรฐานของการประกอบอาชีพ และสิ่งที่ผู้ประกอบอาชีพต้องพึงตระหนักและปฏิบัติตามในการประกอบอาชีพของตน ตามลำดับ

สำหรับอาชีพที่ควรต้องคำนึงถึงจรรยาบรรณนั้น กลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นว่าผู้ประกอบอาชีพที่ควรต้องคำนึงถึงจรรยาบรรณมากที่สุด 5 อันดับคือ แพทย์/พยาบาล/เภสัชกรคิดเป็นร้อยละ 85.07 นักการเมือง/ข้าราชการทั่วไป/ผู้บริหารท้องถิ่นคิดเป็นร้อยละ 83.29 สื่อมวลชนคิดเป็นร้อยละ 80.58 ครู/อาจารย์คิดเป็นร้อยละ 78.71 และวิศวกร/สถาปนิกคิดเป็นร้อยละ 76.25

ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับจรรยาบรรณกับการประกอบอาชีพ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.06 เห็นด้วยที่สังคมไทยยังให้ความสำคัญกับ “จรรยาบรรณ” ในการประกอบอาชีพน้อยเกินไป  ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 67.94 มีความคิดเห็นว่าจำเป็นต้องมีการเพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องจรรยาบรรณในหลักสูตรการเรียนการสอนให้มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน  นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างประมาณสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.23 มีความคิดเห็นว่าสังคมควรตำหนิผู้ที่กระทำผิดจรรยาบรรณในการประกอบอาชีพถึงแม้จะไม่ได้เป็นการผิดกฎหมายอย่างชัดเจนก็ตาม อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่แต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 49.02 มีความคิดเห็นว่าสังคมควรให้โอกาสผู้ที่กระทำผิดจรรยาบรรณในการประกอบอาชีพกลับมาประกอบอาชีพเดิมอีกครั้งหลังจากที่บุคคลผู้นั้นสำนึกผิดและได้รับการลงโทษแล้ว

นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 53.35 มีความคิดเห็นว่าการให้ผู้ประกอบอาชีพเดียวกันออกกฎข้อบังคับควบคุมกันเองจะส่งผลให้มีการกระทำผิดจรรยาบรรณในการประกอบอาชีพได้มากกว่าการมีหน่วยงานที่เป็นกลางตรวจสอบ/มีใช้กฎหมายบังคับควบคุม ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 36.13 มีความคิดเห็นว่าไม่ส่งผล และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.52 ไม่แน่ใจ

ในด้านความคิดเห็นต่อการรับผิดชอบของหน่วยงานหรือองค์กรต่อพนักงาน กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.7 มีความคิดเห็นว่าหน่วยงาน/องค์กรที่ทำงานเกี่ยวข้องหรือมีอิฐธิพลกับผู้คนในสังคมเป็นวงกว้างควรให้พนักงานที่กำลังอยู่ในระหว่างต่อสู้คดีความทางกฎหมายพักการปฏิบัติงานจนกว่าจะมีการตัดสินเป็นที่สิ้นสุด ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 22.73 มีความคิดเห็นว่าควรให้ปฏิบัติหน้าที่ตามปกติจนกว่าจะมีคำตัดสินเป็นที่สิ้นสุด แต่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.57 มีความคิดเห็นว่าควรให้ออกจากการปฏิบัติงานไปเลย และกลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.07 มีความคิดเห็นว่าพนักงานของหน่วยงานองค์กรที่ทำงานเกี่ยวข้อง/มีอิฐธิพลกับผู้คนในสังคมเป็นวงกว้างยังคงปฏิบัติงานตามปกติในระหว่างที่ตนเองกำลังต่อสู้คดีความทางกฎหมายถือเป็นการผิดจรรยาบรรณในการประกอบอาชีพ ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าว