ตลาดดุปี 62 ท้าทายมืออาชีพ ‘ใหญ่ ก็เซได้’

10 ม.ค. 2562 | 11:36 น.
คอลัมน์ผ่ามุมคิด

แม้คาดการณ์ตลาดอสังหาฯ โดยรวมปี 2562 ยังคงเติบโตได้จากปัจจัยหนุนตัวเลขเศรษฐกิจไทย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า จะเป็นปีที่ผู้ประกอบการเหนื่อยและต้องปรับตัวสูงจากหลายปัจจัยเสี่ยง ที่เข้ามากระทบ ทั้งความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก-สงครามทางการค้า-อัตราดอกเบี้ย ตลอดจนมาตรการควบคุมแอลทีวี เหล่านี้บีบให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับกลยุทธ์ ป้องกันตนเอง หลังหลายกูรูฟันธง ตลาดปีนี้ดุ เช่นเดียวกับมุมมองนายไชยยันต์ ชาครกุล หัวเรือใหญ่ของลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ออกปาก “ปี 2562 จะเป็นปีสำหรับผู้ประกอบการที่เป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง เล็ก-ใหญ่ ไม่เกี่ยว ต่างต้องปรับตัว”

[caption id="attachment_371870" align="aligncenter" width="503"] ไชยยันต์ ชาครกุล ไชยยันต์ ชาครกุล[/caption]

 

จับตา ศก.โลก

คาดการณ์ว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกปี 2562 น่าจะมีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงกับปีที่แล้ว เติบโตประมาณ 3.7% แต่ด้วยความไม่แน่นอน ซึ่งมาจากผลพวงของสงครามการค้าโลก ทำให้เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยง เพราะ 65-68% พึ่งพิงตัวเลขจากการส่งออกเป็นหลัก โดยพบว่าไอเอ็มเอฟ ประเมินว่าเศรษฐกิจคู่ค้าของไทยหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และยุโรป ต่างอยู่ในช่วงชะลอตัวทั้งสิ้น มีเพียงคู่ค้าในเอเชียที่ตัวเลขยังสดใส จึงคาดหวังให้เครื่องยนต์อื่นๆ เป็นตัวพยุง เช่น การท่องเที่ยว การลงทุนรัฐและเอกชน โดยเฉพาะ การเลือกตั้ง ที่จะเป็นปัจจัยบวก ช่วยทำให้บรรยากาศการบริโภคภาคประชาชน ในชนบทฟื้นตัวได้ อย่างไรก็ตาม ภาคอสังหา ริมทรัพย์ มีความเสี่ยงกว่าภาค อื่นๆ เนื่องจากยังมีอีกหลายความเสี่ยงรุมเร้า ทั้งการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย มาตรการควบคุมแอลทีวี เป็นต้น ฉะนั้นแนะผู้ประกอบการต้องติดตามสถาน การณ์และปรับตัวรับมืออย่างใกล้ชิด

 

แนะลดสต๊อกรับมือ

จากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ประการแรกที่ผู้ประกอบการต้องทำจากประสบการณ์กว่า 30 ปีในตลาดนี้ มองว่า คือ การลดสต๊อกให้มากที่สุด แล้วเปลี่ยนเป็นเงินสด เพราะคาดการณ์หลังไตรมาสแรก มาตรการแอลทีวีของรัฐบังคับใช้ หรือ การที่ธนาคารพาณิชย์อาจเข้มงวดปล่อยสินเชื่อมากขึ้น คงทำให้ดีมานด์ชะลอตัวและลดลงได้ นอกจากนี้ การเปิดโครงการใหม่ โดยเฉพาะบริษัทนอกตลาด ก็จำเป็นต้องวิจัย วิเคราะห์ตลาดให้ดี ว่ามีช่องว่างตลาดสามารถแข่งขันได้หรือไม่ เนื่องจากการขยายธุรกิจมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะรายเล็กที่ขาดข้อมูล
อย่าสร้างหนี้-ทิ้งทำเล

นายไชยยันต์ กล่าวว่า ในสถานการณ์ที่ตลาดไม่แน่นอน ต้องควบคุมอัตราการกู้หนี้ อย่าให้สูงเกินไป เพราะคาดว่า นอกจากแบงก์จะเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อรายย่อยแล้ว คงเข้มงวดปล่อยกู้ให้กลุ่มผู้ประกอบการด้วยเช่นกัน ฉะนั้น ต้องระมัดระวังในการขยายธุรกิจ ขณะเดียวกัน เป็นช่วงจังหวะที่ผู้ประกอบการจะได้หันกลับมาทบทวนความชำนาญและความถนัดของบริษัท ยิ่งหากเป็นรายเล็ก อย่าเสี่ยงออกจากทำเลที่ตนเองชำนาญ “ปีนี้ไม่เหมาะกับการขยายธุรกิจไปยังทำเลที่ตนเองไม่ชำนาญ โดยเฉพาะรายเล็ก เพราะจะเจอกับความลำบาก รายใหญ่มีต้นทุน สายป่านที่ยาวกว่าจึงเสี่ยงน้อยกว่า”
ใหญ่ ก็เซได้

จากโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การทำธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนเสมอ ทางออกคือ ทุกบริษัทต้องปรับปรุงระบบบริหารภายในอยู่สมํ่าเสมอ เพราะประสิทธิภาพของบริษัท คือ ตัวชี้เป็น-ชี้ตายในการแข่งขัน คำว่า “รายใหญ่ ชนะรายเล็ก-รายกลาง เป็นเรื่องเก่าแล้ว” อนาคตจะพูดถึงประสิทธิภาพของบริษัทเป็นหลัก ที่จะสามารถทำให้บริษัทอยู่ได้และแข็งแกร่งระยะยาว ไม่ใช่เรื่องของขนาด ดั่งคำที่ว่า ใหญ่ก็เซได้...
หวั่นไม่นิ่งยาว 2-3 ปี

เชื่อว่า สถานการณ์ความไม่แน่นอนทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของไทย บรรยากาศตึงมือเช่นนี้ อาจไม่นิ่งเป็นอย่างน้อย 2-3 ปี กลายเป็นงานยากสำหรับผู้ประกอบการ

ฉะนั้น บริษัทรายเล็กจะอยู่ยาก จึงอยากแนะให้กลับไปทบทวนจุดแข็งของตนเอง และเสริมปรุงแต่งจุดแข็งนั้นต่อไป ส่วนตรงไหนอ่อนแอ เรื่องคน หรือ ระบบ ก็ให้เร่งพัฒนา นำเรื่องของไอทีเข้าไปช่วยสนับสนุนจะเป็นผลเร็วขึ้น และจะใช้แข่งขันกับรายใหญ่ได้จากสิ่งที่เราชำนาญ โดยตนเองเชื่อมาเสมอว่า “รายเล็ก-รายใหญ่ อยู่ร่วมกันได้”

หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,434 วันที่ 10-12 มกราคม 2561 595959859