"กรมส่งเสริมสหกรณ์" ปั้น! สหกรณ์การเกษตรเป็นองค์กรหลักระดับอำเภอ

07 ม.ค. 2562 | 07:43 น.
"กรมส่งเสริมสหกรณ์" ปั้น! สหกรณ์การเกษตรเป็นองค์กรหลักระดับอำเภอ ตั้งเป้า 823 แห่ง พัฒนาองค์กรให้เข้มแข็งและบริหารจัดการสินค้าเกษตรของแต่ละพื้นที่

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดี กรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในปี 2562 กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการ 1 สหกรณ์ 1 อำเภอ เป็นนโยบายหลักที่จะผลักดันให้สหกรณ์การเกษตรทำหน้าที่เป็นองค์กรหลักทางเศรษฐกิจและสังคมระดับอำเภอในทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยให้สหกรณ์เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรจากสมาชิกและเกษตรกรในชุมชน รวมถึงทำหน้าที่ในการส่งผ่านความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากรัฐบาลไปสู่ประชาชน โดยภาครัฐจะใช้กลไกสหกรณ์เป็นเครื่องมือในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่และส่งเสริมรายได้ให้กับชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ให้มีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้เพียงพอจนสามารถปลดหนี้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เบื้องต้น กรมฯ คัดเลือกสหกรณ์การเกษตรที่มีความพร้อมเข้าร่วมโครงการ 823 แห่ง และประเมินศักยภาพของสหกรณ์แต่ละแห่ง ทั้งในด้านการบริหารจัดการองค์กรและการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะต้องพัฒนาควบคู่กัน เนื่องจากทั้ง 2 เรื่องนี้ จะส่งผลต่อความเข้มแข็งของสหกรณ์ โดยแต่ละสหกรณ์จะทำแผนพัฒนาองค์กร เริ่มตั้งแต่การสร้างความเข้าใจในบทบาทและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสมาชิก การพัฒนากรรมการสหกรณ์และผู้นำกลุ่มสมาชิก การเพิ่มประสิทธิภาพของฝ่ายจัดการและการพัฒนาการให้บริการแก่สมาชิก และการวางระบบการบริหารงานสหกรณ์ โดยยึดหลักธรรมาภิบาล ซึ่งจะช่วยยกระดับการดำเนินงานของสหกรณ์ให้เกิดความเข้มแข็งและสร้างความเชื่อมั่นแก่สมาชิกและประชาชนทั่วไปมากยิ่งขึ้น

 

[caption id="attachment_371174" align="aligncenter" width="503"] พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ[/caption]

ส่วนการพัฒนาด้านการดำเนินธุรกิจ กรมฯ ได้แบ่งสหกรณ์ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ สหกรณ์กลุ่มที่ 1 มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจรวบรวมและแปรรูปผลผลิตการเกษตรระดับสูง จำนวน 34 แห่ง กลุ่มที่ 2 สหกรณ์มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจรวบรวมและแปรรูปผลผลิตการเกษตรระดับปานกลาง จำนวน 121 แห่ง กลุ่มที่ 3 สหกรณ์ที่ต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพการรวบรวมผลผลิต จำนวน 328 แห่ง และสหกรณ์ที่ต้องได้รับการผลักดันให้ดำเนินธุรกิจรวบรวมผลผลิต จำนวน 316 แห่ง ซึ่งกรมฯ จะผลักดันให้สหกรณ์เหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการจัดการผลผลิตการเกษตรของแต่ละอำเภอ โดยยกระดับทั้งเรื่องคุณภาพและราคาสินค้า พัฒนากระบวนการผลิต การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และสร้างอัตลักษณ์ให้กับสินค้าสหกรณ์ในแต่ละพื้นที่


01

ทั้งนี้ กรมฯ ได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) อบรมความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีและนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาพัฒนาผลิตภัณฑ์และสินค้าของสหกรณ์ แบ่งเป็น สินค้าหลัก 13 ชนิด อาทิ ข้าว ข้าวโพด ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน อ้อย ผักและผลไม้ โคเนื้อ โคนม ประมง ปศุสัตว์ และอื่น ๆ ซึ่งทางสหกรณ์จะต้องสำรวจข้อมูลการผลิตสินค้า ว่า ปัจจุบันนี้สมาชิกส่วนใหญ่ผลิตสินค้าชนิดใด และสินค้าเหล่านั้นช่วยสร้างรายได้มากน้อยเพียงใด โดยสหกรณ์จะต้องมีส่วนเข้ามาดูแลสมาชิกตั้งแต่เริ่มต้นการปลูก การเก็บเกี่ยวและรวบรวมผลผลิต การแปรรูปไปจนถึงการตลาด สิ่งสำคัญ คือ ต้องเน้นย้ำให้สมาชิกผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้สินค้าสหกรณ์มีตลาดรองรับที่แน่นอน และสามารถขายได้ราคาดี

"กรมฯ คาดหวังว่า หากสหกรณ์เป้าหมายในโครงการ 1 สหกรณ์ 1 อำเภอ สามารถพัฒนาตัวองค์กรให้เข้มแข็งและดำเนินธุรกิจได้ประสบผลสำเร็จ ก็จะเป็นตัวอย่างให้กับสหกรณ์อื่น ๆ ได้ใช้แนวทางนี้มาพัฒนาการดำเนินงานของสหกรณ์ เพื่อให้สามารถดูแลอาชีพและความเป็นอยู่ของสมาชิก และทำหน้าที่เป็นองค์กรหลักในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละชุมชนให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นขึ้นต่อไป"

02

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว