กนอ.ดึงทุน 2.2 หมื่นล. ยกระดับนิคมฯมาบตาพุด

05 ม.ค. 2562 | 23:51 น.
กนอ.ชงอีอีซี ขอยกระดับนิคมฯมาบตาพุดและท่าเรือ พื้นที่ 1.2 หมื่นไร่ เป็นเขตส่งเสริมพิเศษ หวังดึงดูดผู้ประกอบการเข้ามาลงทุน คาดเบื้องต้นมีกลุ่มเคมีภัณฑ์และเคมีชีวภาพลงทุน 2.2 หมื่นล้านบาท ในพื้นที่ 208 ไร่และอีก 8 รายในกลุ่มโลหะมูลฐาน เปลี่ยนมาผลิตชิ้นส่วนป้อนยานยนต์สมัยใหม่

นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และท่าเรือมาบตาพุด พื้นที่ราว 1.2 หมื่นไร่ จังหวัดระยอง กำลังจะถูกยกระดับให้เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการอุตสาหกรรม โดยหวังจะช่วยดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุน ตามสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นภายใต้พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นการได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักรและวัตถุดิบที่นำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออก และเพื่อการวิจัยและพัฒนา ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนได้รับการขยายระยะเวลาพำนักและทำงานของนักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ รวมถึงการช่วยลดระยะเวลาในการจัดตั้งธุรกิจ จากการดำเนินงานผ่านศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร

P11

โดยล่าสุดทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย(กนอ.) ในฐานะเจ้าของพื้นที่ ได้ยื่นเรื่องไปสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) เพื่อขอจัดตั้งพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตส่งเสริมพิเศษแล้ว โดยคาดว่าในช่วงต้นปี 2562 นี้ น่าจะมีความชัดเจนที่จะมีการประกาศออกมาได้

แหล่งข่าวจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการศึกษาการลงทุนที่จะเกิดขึ้น จะเป็นอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ โดยพบว่าปัจจุบันมีกลุ่มโรงงานเคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เคมี และพลาสติก มีจำนวน 42 โรงงาน มีการเช่าพื้นที่ประกอบกิจการ 4,170 ไร่ โดยคาดว่าจะมีการขยายหรือเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 208.5 ไร่ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท ในช่วงระยะเวลา 5 ปี

โดยเฉพาะโครงการขยายโรงงานผลิตสารโอเลฟินส์ ของบริษัท พีทีทีโกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)หรือพีทีทีจีซี ที่คาดว่าจะขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจาก 5.64 แสนตันต่อปี เพิ่มเป็น 1.46 ล้านตันต่อปี

[caption id="attachment_369435" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

นอกจากนี้ จะช่วยปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมโรงงานผลิตโลหะมูลฐาน และผลิตภัณฑ์โลหะ กลายเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ปัจจุบันมีอยู่ 8 โรงงาน ซึ่งมีโอกาสที่ผู้ประกอบการให้ความสนใจปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ เพื่อป้อนชิ้นส่วนให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ รวมทั้งมีผู้ประกอบการบางรายจะมีการลงทุนเพิ่มเติมในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมดิจิตอล เพื่อปรับปรุงและพัฒนากระบวนการผลิต

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,433 ระหว่างวันที่ 6-9 มกราคม 2562

กนอ.ดึงทุน 2.2 หมื่นล. ยกระดับนิคมฯมาบตาพุด