ทางออกนอกตำรา : การศึกษา-สุขภาพ ไม่ใช่สินค้า...ใช่มั้ย!

29 ธ.ค. 2561 | 18:26 น.
สุขภาพ-003 111000 คืนสัปดาห์สุดท้ายของปี 2561 ผมมีโอกาสพูดคุยทางไลน์กับ หมอชูชัย ศุภวงศ์ กรรมการปฏิรูปประเทศ ถึงเรื่องค่าหมอในบ้านเราที่แพงมหาโหด เพราะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมการรักษาพยาบาลขาดหลักคิดในเรื่องการกำกับที่ดีในธุรกิจพยาบาล จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปกัน หากจะช่วยลดภาระของประชาชนในเรื่องการดูแลสุขภาพ

หมอชูชัย พูดคุยกับผมอย่างออกรสชาติ ภายใต้หลักการคิดที่ดีมากว่า “การศึกษาและสุขภาพไม่ใช่สินค้า” (education and health service are not the commodity) หมอชูชัยบอกว่า “นี่คือหลักสากล ที่ยึดหลักคิดกันแบบเยี่ยงวิญญูชนว่า องค์กรที่จัดการศึกษาหรือรักษาโรคสามารถทำกำไรได้อย่างเหมาะสม แต่ต้องเป็นองค์กรที่แสวงหากำไรเพียงเพื่อดำรงการจัดการศึกษาและการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพเท่านั้น”

“ในภาษาวิชาการเรียกว่า not for profit organi zation คือ ไม่แสวงหากำไรเพื่อส่วนตน ซึ่งในยุโรปได้ยึดปรัชญานี้อย่างเข้มแข็ง” หมอชูชัยว่า แต่ประเทศไทยกลับมิเป็นเช่นนั้น

หมอชูชัยท่านว่า สังคมไทยควรเรียนรู้บทเรียนในอดีต ที่ยอมให้นำเอาโรงพยาบาลเอกชนเข้าตลาดหุ้น ผลเป็นอย่างที่เห็นคือ สุขภาพกลายเป็นสินค้า โรงพยาบาลมุ่งหวังการทำกำไรสูงสุดเพื่อผู้ถือหุ้น มีการใช้การตลาดนำความรู้ ยืนบนผลประโยชน์ส่วนตนก่อนส่วนรวม สร้างความเหลื่อมลํ้า สร้างดีมานด์เทียม จนไม่สามารถควบคุมค่าบริการที่เหมาะสมและเป็นธรรมได้

หน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องราวเหล่านี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นตัวการในการนำพาระบบสุขภาพเข้าสู่ระบบ “การแพทย์พาณิชย์” อย่างที่ไม่ควรจะเป็น

[caption id="attachment_368119" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

หลายท่าน มีประสบการณ์ตรงเจอกับตัวเอง ที่เจอค่าใช้จ่ายที่แพงมากในโรงพยาบาลเอกชน จึงเสนอให้หากลไกมาควบคุม ราคาค่าบริการที่แพงมาก อย่างไม่มีมาตรฐาน?

เพราะการยินยอมให้บริการสุขภาพเข้าไปซื้อขายหุ้นกันในตลาดหลักทรัพย์ฯ?

เรื่องราวของการรักษาสุขภาพของคนได้กลายเป็นสินค้าที่มุ่งแสวงหากำไรกันไปแล้ว?

นี่คือมุมคิดที่ทุกท่านต้องมาช่วยกันคิด ช่วยการหามาตรการมาดูแล ป้องกัน มิให้ “กำไรสูงสุด” มากัดกินจิตวิญญาณที่พึงปรารถนา...ผมเชื่อจริงครับคุยกับปราชญ์ย่อมทำให้เรามองเห็นภาพที่เบลอชัดขึ้นจริงๆ

ในโลกการค้าเสรี ไม่มีใครปฏิเสธว่าจะก่อให้เกิดการแข่งขัน เพื่อสิ่งที่ดีกว่าจะมาทดแทน แต่ในเรื่องจรรยาบรรณที่ดีของอาชีพ หลักการทำงานของแต่ละอาชีพจะต้องมาบรรจบกันพอดี

ตอนนี้ไทยจึงเผชิญปัญหาหลักคิด ตรรก เสรีนิยม จนลืมปฏิญญา จิตวิญญาณแห่งวิชาชีพกันไปหมด ทุกผู้ ทุกนามล้วนถวิลหา “เงินตรา กำไร” มาเป็นตัวขับเคลื่อนชีวิตไปหมด
pngtree-book-png-clipart_274153 ผลที่ตามมาเราจึงเปิดทางให้โรงเรียนนำหุ้นไปซื้อขายกันในตลาดหุ้น...ภายใต้วาทกรรมว่าเป็นโรงเรียนนานาชาติเอกชนที่จำเพาะกลุ่มคนรวยที่เลือกจ่ายได้...โดยละเลยหลักการจัดการเรียนการศึกษาว่ามีวัตถุประสงค์ใดแบบเฉพาะเจาะจง

วันนี้เราไม่รู้พิษสงของการทำกำไร การหาเงินจากโรงเรียน ที่ผู้ปกครองไม่มีทางเลือกนอกจากจ่าย แต่ในไม่ช้าปัญหาจะเกิด ถ้ามหาวิทยาลัยเอกชนขอนำหุ้นไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นบ้าง...วุ่นวายกันแน่นอน เพราะรัฐบาลไม่มีขีดความสามารถในการจัดการศึกษาอย่างทั่วถึง จึงสนับสนุนให้เอกชนเข้ามาจัดบริการสาธารณะโดยเปิดทางให้ทำกำไรแต่พอควร

แต่ตลาดหุ้นนั้นกลับตรงข้ามกัน บริษัทจดทะเบียนต้องทำกำไรสูงสุด รายได้ กำไรต้องเติบโตทุกปี...จินตนาการกันเอาเองครับ...

ในขณะที่คุยกันหมอชูชัยก็เสนอเรื่องหนึ่งขึ้นมาเป็นการวิจัยของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก เรื่อง “ดัชนีประสิทธิภาพด้านสุขภาพ” ปรากฏว่า ผลสำรวจบอกชัดว่าประเทศไทยแจ๋วสุด กระโดดขึ้นมา 14 อันดับในปีเดียวว่าเป็นประเทศที่ใช้ทรัพยากรน้อยแต่ได้ผลมาก “ดัชนีประสิทธิภาพด้านสุขภาพ” (health-efficiency index) ของประเทศไทยในปี 2561 พุ่งขึ้นมาเป็นอันดับ 27 ของโลก เทียบกับปีที่แล้ว ที่ไทยอยู่ในอันดับ 41

คะแนนเฉลี่ยประสิทธิภาพด้านสุขภาพของไทย อยู่ที่ 51.9 สะท้อนการใช้ทรัพยากรน้อยแต่ได้ผลลัพธ์มาก เหนือกว่าหลายประเทศทั้งในโลกตะวันตกและในแถบเอเชียด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเนเธอร์แลนด์ (50.8) มาเลเซีย (50.4) อังกฤษ (46.3) เบลเยียม (44.8) เดนมาร์ก (42.4) เยอรมนี (38.3) หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกาที่ได้ค่าเฉลี่ยประสิทธิภาพด้านสุขภาพที่ระดับ 29.6 เท่านั้น เพราะแม้หลายประเทศจะมีการใช้จ่ายด้านสุขภาพในอัตราสูง แต่ค่าเฉลี่ยอายุขัยของประชากรกลับลดลงหรือประชากรมีอายุยืนน้อยกว่าประเทศที่มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อคนต่อปีน้อยกว่า ใช้จ่ายด้านสุขภาพน้อยลง แต่คนอายุยืนมากขึ้น
hospital-medical-tech
สำหรับประเทศไทยนั้น ในปี 2561 มีการใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชากรต่อคนต่อปีลดลง 40% มาอยู่ที่เฉลี่ยคนละ 219 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือตกประมาณ7,200 บาท ขณะที่ค่าเฉลี่ยอายุขัยของประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 75.1 ปี นับเป็นประเทศที่มีการไต่อันดับสูงขึ้นมากที่สุดในปีนี้เมื่อเทียบกับอีกกว่าร้อยประเทศทั่วโลก

ลองคำนวณดูก็จะพบข้อมูลที่น่าตกใจครับ ถ้าคนไทยมีค่าการรักษาพยาบาล คนละ 7,200 บาท/คน/ปี ประชากรไทยมีอยู่ 66 ล้านคนจากการสำรวจล่าสุด นั่นหมาย ความว่าปีหนึ่งๆ เงินในการรักษาพยาบาลจากค่าสัมประสิทธิ์ดังกล่าวเท่ากับ 475,200 ล้านบาทเลยทีเดียวมหาศาลมาก ผมจึงไม่แปลกใจที่ร.พ.ไทยจะเกิดเป็นดอกเห็ด

ประเทศอื่นเป็นอย่างไรบ้าง...มาดูกัน...ไต้หวันมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเฉลี่ย/คน/ปีที่ 1,401 ดอลลาร์ แต่อายุขัยเฉลี่ยประชากรอยู่ที่ 79.7 ปี เกาหลีใต้ 2,013 ดอลลาร์/คน/ปี อายุขัยเฉลี่ย 82 ปี ประเทศสิงคโปร์ 2,280 ดอลลาร์/คน/ปี อายุขัยเฉลี่ย 82.7 ปี และอังกฤษ 4,356 ดอลลาร์/คน/ปี อายุขัยเฉลี่ย 81 ปี ฯลฯ

เราอาจจะบอกว่าเราน้อยมาก แต่อย่าลืมว่าค่าครองชีพแต่ละประเทศต่างกันนะครับ ไปดูข้อมูลอื่นๆ บลูมเบิร์กทำการสำรวจข้อมูลในเกือบ 200 ประเทศทั่วโลก ประเทศที่อยู่ใน Top10 แรกที่มีดัชนีประสิทธิภาพด้านสุขภาพสูงที่สุดในการจัดอันดับปี 2561 ได้แก่

1. ฮ่องกง (ค่าเฉลี่ยประสิทธิภาพด้านสุขภาพ 87.3 อายุขัยเฉลี่ย 84.3) 2. สิงคโปร์ (85.6/82.7) 3. สเปน (69.3/82.8) 4. อิตาลี (67.6/82.5) 5. เกาหลีใต้ (67.4/82.0) 6. อิสราเอล (67.0/82.0) 7. ญี่ปุ่น (64.3/83.8) 8.ออสเตรเลีย (62.0/82.4) 9. ไต้หวัน (60.8/79.7) 10. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) (59.7/77.1)

คุณเห็นเป็นอย่างไรบ้างครับ เรื่องสุขภาพกับการเงินที่มาดูแลชีวิตคน...

| คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา
| โดย : บากบั่น บุญเลิศ
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3431 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 30 ธ.ค.-2 ม.ค.2561
595959859