หนุนพัฒนาอุทยานแห่งชาติภูกระดึง l โอฬาร สุขเกษม

09 มี.ค. 2559 | 08:17 น.
อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย มีเนื้อที่ประมาณ 217,576 ไร่ ณ ปี 2505 และตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติในปีเดียวกัน อุทยานแห่งชาติภูกระดึงเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งที่ 2 ของประเทศไทยต่อจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติในปีเดียวกันหรือปี 2505

อุทยานแห่งชาติ หมายถึง พื้นที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งที่สงวนไว้ให้คงสภาพดั้งเดิม ซึ่งมีพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ลักษณะภูมิประเทศที่แปลกและงดงาม หรือสิ่งสำคัญในท้องถิ่นที่มีคุณค่าทางวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หรือวัฒนธรรม อุทยานแห่งชาติควรมีเนื้อที่กว้างขวางและอยู่ในความดูและของรัฐ มีเหน้าที่ควบคุมดูแลเพื่อให้ประชาชนมีโอกาสเข้าไปศึกษา และชื่นชมสภาพธรรมชาติโดยไม่ทำลาย หรือเปลี่ยนแปลงธรรมชาติในพื้นที่นั่นแต่ประการใด

วนอุทยาน หมายถึง พื้นที่ป่าสงวนที่มีลักษณะธรรมชาติสวยงาม เช่นมีน้ำตกหรือถ้ำ หรือมีลักษณะภูมิประเทศที่แปลกตา และทางราชการได้เข้าไปปรับปรุงตกแห่งสถานที่ให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หมายถึง พื้นที่ป่าอนุรักษ์บริเวณใดบริเวณหนึ่งที่รักษาไว้ให้คงสภาพดั้งเดิม ทั้งพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และระบบนิเวศของพื้นที่นั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาไว้ซึ่งถิ่นกำเนิดเดิมและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า รวมทั้งการขยายพันธุ์ของสัตว์ป่าตามธรรมชาติ ในไทยนั้นองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมของสหประชาชาติได้ประกาศให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในไทยไว้ 2 แห่งเมื่อปี 2534 คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ตั้งอยู่ในเขตต่อเนื่องระหว่าง อำเภอสังขละบุรี และอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรีกับอำเภออุ้มผางจังหวัดตาก เนื้อที่ 2,279,500 ไร่ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตั้งอยู่ในเขตต่อเนื่องระหว่าง อำเภอบ้านไร่ และอำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานีกับอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เนื้อที่ 1,737,578 ไร่ ซึ่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมีอาณาเขตต่อเนื่องกัน ถือว่าเป็นผืนป่าธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ตั้งอยู่ในบริเวณต่อเนื่องระหว่างเขต อำเภอบ่อพลอย อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรีเนื้อที่ 536,594 ไร่ เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งแรกของไทย ตั้งขึ้นเมื่อปี 2508 นอกจาก 3 ประเภทดังกล่าวแล้วยังมีสวนพฤกษศาสตร์ สวนรุกขชาติ และสวนรวมพรรณไม้ป่าด้วยที่อนุรักษ์เอาไว้

รัฐบาลมีมาตรการหลายอย่างในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้นับตั้งแต่ทศวรรษ 2501-2510 เป็นต้นมา โดยการออกพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ก็เพื่ออนุรักษ์ป่าไม้ และคุ้มครองสัตว์ป่าและพืชพรรณไม้ในพื้นที่ต่างๆ โดยประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ซึ่งก็ได้มีการดำเนินการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขเรื่อยมาเพื่อให้มีความรัดกุมมากขึ้น อาทิ การยกเลิกพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 และประกาศใช้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 แทนเป็นต้น

จากเซ็บไซต์ “วิกิพีเดีย” บอกว่า ภูกระดึงเป็นภูเขาหินทรายยอดตัด ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของที่ราบสูงโคราช ใกล้กับด้านลาดทางทิศตะวันออกของเทือกเขาเพชรบูรณ์ พื้นที่ส่วนใหญ่ของภูเขามีความสูงจากระดับน้ำทะเล 400-1,200 เมตรส่วนฐานหรือเชิงเขาเริ่มจากจุดต่ำสุดของพื้นที่ที่ระดับความสูง 260 เมตรไปจนถึงระดับความสูง 400 เมตร มีลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขาล้อมรอบตัวภูกระดึง และพื้นที่ที่อยู่ในระดับที่สูงขึ้นมีสภาพลาดชันยกตัวขึ้นเป็นขอบเขาและหน้าผาสูงชัน พื้นที่ราบบนยอดตัดของภูเขามีพื้นที่ประมาณ 60 ตารางกิโลเมตร (37,500 ไร่) มีลักษณะคล้ายรูปใบบอนหรือรูปหัวใจเมื่อมองจากด้านบน มีส่วนปลายใบอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้และส่วนเว้าด้านในอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ราบบนเขาประกอบด้วยเนินเตี้ยๆ ยอดที่สูงที่สุดอยู่ที่บริเวณ “คอกเมย” สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,316 เมตร สภาพพื้นที่ราบบนยอดภูกระดึงมีส่วนสูงอยู่ทางด้านตะวันตกและตะวันออกเฉียงใต้ และจะค่อยๆลาดเทลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทำให้ลำธารสายต่างๆบนภูเขาไหลไปรวมกันทางด้านนี้ กลายเป็นแหล่งต้นน้ำของลำน้ำพอง

ภูกระดึงเกิดขึ้นในมหายุคมีโซโซอิก มีลักษณะโครงสร้างทางธรณีเป็นหินในชุดโคราช ประกอบด้วยชั้นหิน: หมวดหินภูพานเป็นหินชั้นที่มีอายุน้อยที่สุดอยู่ชั้นบนสุดของโครงสร้างภูกระดึง พบทั่วไปบนหลังแปหรือที่ระดับความสูงตั้งแต่ 990 เมตรขึ้นไป หมวดหินเสาขัวพบตั้งแต่ระดับความสูง 600 เมตรขึ้นไป หมวดหินพระวิหารพบในระดับความสูง 400–600 เมตรและ หมวดหินภูกระดึงเป็นหินชั้นฐานของโครงสร้างภูกระดึง

ภูกระดึงเป็น “ทรัพยากรการท่องเที่ยว” แห่งหนึ่งของไทย เพราะเป็นทรัพยากรธรรมชาติประเภท “ภูเขา” ซึ่งหมายถึงภูเขาที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ มีป่าไม้ปกคลุมร่มรื่น และทุ่งหญ้า มึความอุดมสมบูรณ์ของน้ำ มีสัตว์ป่าอยู่อาศัย เป็นต้นกำเนิดธารน้ำ มีน้ำตกและมีถ้ำ เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวที่ชอบธรรมชาติ อีกทั้งเป็นแหล่งศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพด้วย มีเส้นทางเข้าถึงได้สะดวกแต่ยังคงสภาพตามธรรมชาติไว้

คำว่า “ทรัพยากรการท่องเที่ยว” หมายความว่า สิ่งดึงดูดใจนักท่องเที่ยวที่มีอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งตั้งแต่ในระดับท้องถิ่น จนถึงระดับภูมิภาค และระดับโลก อาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นก็ได้ โดยสิ่งเหล่นั้นจะต้องมีความงดงามแปลกตา มีความสำคัญหรือมีคุณค่าที่น่าสนใจ สามารถดึงดูดใจให้ผู้คนเดินทางมาเยือนหรือศึกษาหาความรู้ได้ นอกจากนี้วัฒนธรรมประเพณี อาชีพ รวมทั้งวิถีการดำเนินชีวิตอันดีงามที่สะท้อนให้เห็นถึงอารยธรรมของท้องถิ่นที่ทรงคุณค่า และมีลักษณะเด่นเป็นเอกลักษณ์ ก็ถือเป็นทรัพยากรการท่องเที่ยวด้วย

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ ทั้งในด้านทำเลที่ตั้ง ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติที่เอื้ออำนวยต่อการท่องเที่ยว และยังมีอารยธรรมที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นในด้านศิลปวัฒนธรรม ประเพณี โบราณสถาน ศาสนา และวิถีการดำเนินชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ล้วนเป็นสมบัติอันล้ำค่าที่พร้อมจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยวและสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติ และ “ภูกระดึง” ก็เป็นทรัพยากรการท่องเที่ยวประเภทธรรมชาติ ประเภท “ภูเขา” ไม่มีทางเป็นอย่างอื่นไปได้

ผมสนับสนุนให้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวก สนับสนุนให้ตั้งเป้าพัฒนาอุทยานแห่งชาติภูกระดึงให้เป็นที่รู้จักทั่วประเทศและทั่วโลก ให้ทุกคนมีโอกาสสัมผัสกับธรรมชาติอันงดงามของภูกระดึง พัฒนาเหมือนอุทยานแห่งชาติที่มีชื่อเสียงต่างๆ ทั่วโลก และโปรดสังเกตว่าประเทศออสเตรเลียเขายกระดับและพัฒนาอุทยานแห่งชาติเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติแทบจะทุกแห่งเลยทีเดียว มีร้านอาหาร มีทางเดินเท้า มีแหล่งพายเรือเยี่ยมชม และเขาไม่ได้รังเกียจการพัฒนาภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด เขาทำทางเดินไม้เพื่อชมเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าหายากด้วย เป็นต้นว่าแหล่งชมนกเพนกวิน แหล่งชมหมีโคอาล่า แหล่งชมวอมแบตหรือแม้กระทั่งพอสซัม เป็นต้น