แบงก์เข้มหนี้เสียคุมสินเชื่อใหม่ ผิดชำระเกิน1วันประชิดตัวทันที

11 มี.ค. 2559 | 01:00 น.
แบงก์กางแผนบริหารเสี่ยง ขยาดหนี้เสีย รุดดูอาการ ตั้งเงื่อนไขหวั่นลูกค้ารายใหม่-เก่าถูกผลกระทบเศรษฐกิจโลก ปัญหาครัวเรือนและภัยแล้ง 3 แบงก์ใหญ่ "กรุงเทพ-กรุงไทย-กสิกรไทย" เพิ่มตะแกรงเฟ้นลูกค้าใหม่เข้มรายได้หลักประกัน ติดตามทันท่วงที "ซีไอเอ็มบีไทย"ชี้เฝ้าระวังความเสี่ยงระยะข้างหน้า "กรุงศรี-ธนชาต"สร้างโมเดลตามหนี้ตกชั้นเชื่อคุมอยู่หมัด

[caption id="attachment_37022" align="aligncenter" width="369"] ชาติศิริ โสภณพนิช  กรรมการผู้จัดการใหญ่  ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บมจ.) ชาติศิริ โสภณพนิช
กรรมการผู้จัดการใหญ่
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บมจ.)[/caption]

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัวในขณะนี้ วิธีการบริหารจัดการความเสี่ยงของธนาคาร จะเป็นเรื่องของการติดตามดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขยายวงและป้องกันความเสี่ยง หากเป็นในส่วนของลูกค้าใหม่จะเน้นให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก แต่ยังไม่เพิ่มความเข้มข้นในการพิจารณาที่ปฏิบัติอย่างรอบคอบและระมัดระวังอยู่แล้ว ส่วนลูกค้าเดิมหากรายใดมีปัญหาหรือเริ่มส่งสัญญาณไม่ดีธนาคารจะรีบเข้าไปช่วยเหลือในทันที (โดยปีนี้ธนาคารกรุงเทพตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อไว้ในอัตรา 4%บนสมมติฐานการเติบโตของจีดีพีที่ระดับ 3.3%)

สอดรับกับนายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ที่กล่าวยอมรับว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นรอบด้านทั้งจากเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ ประเทศไทยยังมีความเสี่ยงจากผลกระทบเศรษฐกิจโลก หนี้ครัวเรือนและภัยแล้งซึ่งภาคธุรกิจย่อมถูกกระทบด้วย ขณะที่ทุกธนาคารต่างระมัดระวังในการอำนวยสินเชื่อและบริการโดยเน้นการบริหารความเสี่ยงจะสร้างรายได้ทั้งคุณภาพสินเชื่อและค่าธรรมเนียม

สำหรับซีไอเอ็มบีไทยกลยุทธ์บริหารเสี่ยงและเอ็นพีแอลนั้นจะเน้นขยายสินเชื่อรายใหญ่ในกลุ่มบริษัทจดทะเบียนที่มีความแข็งแกร่งเน้นโครงการด้านสาธารณูปโภค ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ (เทรดไฟแนนซ์) ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีและรายย่อยให้น้ำหนักระมัดระวังเป็นหลัก เช่น ปัญหาภัยแล้งจะส่งผลกรทบต่อกลุ่มหรือภาคธุรกิจไหนบ้าง อาทิ โรงสี ร้านค้าขายปุ๋ย ที่เริ่มเห็นสัญญาณแล้ว ส่วนรายย่อยแม้สัดส่วนหนี้ต่อรายได้จะอยู่ในระดับสูง แต่จะอยู่เฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 2.5 หมื่นบาทต่อเดือน และเป็นผู้ที่อยู่ในภาคเกษตร และคนทำงานส่วนตัว

นายสุภัค กล่าวเพิ่มเติมว่า หากดูตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่มีอยู่ 40-50% จะเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัยจึงเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรซึ่งไม่น่าห่วง แต่ในทางตรงกันข้ามกรณีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้สูงถ้าอยู่ในกลุ่มสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันอาจต้องพิจารณาในรายละเอียด โดยปัจจุบันคุณภาพสินเชื่อและเอ็นพีแอลนั้นไม่อยู่ในขั้นวิกฤติ เพราะทุกธนาคารบริหารความเสี่ยงที่ดี และมีเครดิตบูโรช่วยกรองคุณภาพ

"ความต้องการสินเชื่อนั้น 2 เดือนแรกของปีนี้ความต้องการสินเชื่อนิ่ง คือมีทั้งการอนุมัติบ้างแต่ระหว่างทางจะมีลูกค้าชำระคืนบ้างทำให้สินเชื่อสุทธิยังไม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเดือนมกราคมที่ผ่านมานั้นนิ่งและซบเซา ถ้าจบไตรมาสแรกโดยรวมสินเชื่อขยายได้ 2-3%ก็โอเคแล้ว แต่แนวโน้มไตรมาส 2 ปีนี้ยังมีความเสี่ยงหลายเหตุการณ์ที่อาจอยู่เหนือความคาดหมาย โดยเราจะทบทวนแผนธุรกิจกลางปีอีกครั้ง โดยรวมจะรักษาคุณภาพสินเชื่อ โดยคุมเอ็นพีแอลให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 3.2%"

ขณะเดียวกันนายพูลพัฒน์ ศรีเปล่ง ผู้บริหารสายงาน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสายงานบริหารความเสี่ยง บมจ.ธนาคารกรุงไทย ระบุว่าสิ่งสำคัญของการบริหารความเสี่ยง จะมีอยู่ 3 เรื่องหลัก คือ ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อใหม่ การติดตามที่รวดเร็วมากกว่าปกติ และการแก้ไขเพื่อให้เกิดแอกชันที่รวดเร็วทันเหตุการณ์ โดยมีการเพิ่มเครื่องมือที่เรียกว่า Earning Warning ตรวจสอบและติดตามดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะมีการติดตามเป็นพอร์ตรายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับราคาน้ำมันที่ปรับลดลง จะกระทบไปอุตสาหกรรมอะไรบ้าง เครื่องมือนี้จะคอยรายงาน เพื่อให้ทีมงานเข้าไปได้ทันท่วงที

ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจะต้องติดตามวินัยการใช้วงเงินจะต้องไม่ผิดวัตถุประสงค์ ส่วนลูกค้าที่มีสัญญาณมีปัญหาธนาคารจะรีบเข้าไปช่วยเหลือตามความเหมาะสม หรือปรับโครงสร้างหนี้ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละราย ซึ่งธนาคารพยายามจะรักษาระดับเอ็นพีแอลสุทธิอยู่ที่ 1.79%

ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงจากบมจ.ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารพยายามดูแลติดตามลูกค้าในพอร์ตอย่างใกล้ชิด โดยเพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณากลุ่มลูกค้าใหม่เช่น ลูกค้ารายย่อยและเอสเอ็มขนาดเล็ก คือ 1.ข้อมูลลูกค้าจะต้องชัดเจนทั้งรายได้-รายจ่ายหากมีข้อมูลแสดง 50:50 จะไม่ปล่อยสินเชื่อ 2.หลักประกัน จะต้องคุ้มวงเงิน นอกจากนี้อาจจะชะลอการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มที่มีปัญหา อาทิ ประมง ท่องเที่ยว และค้าพืชไร่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งวิธีการดังกล่าวเป็นการสกัดของใหม่ไม่ให้เป็นหนี้เสียในภายหลัง โดยปัจจุบันเอ็นพีแอลของธนาคารอยู่ที่ 2.7% คาดว่าสิ้นปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่การยอดปรับโครงสร้างหนี้สะสมอยู่ที่ 8 หมื่นล้านบาท

"ตอนนี้เพิ่มความระมัดระวังในกลุ่มลูกค้าใหม่ ส่วนลูกค้าเก่าในพอร์ตดูพฤติกรรมการชำระหนี้ และการเดินบัญชี หากมีความผิดปกติจะเริ่มติดตามและมีแอกชันต่างๆ ตามกระบวนการส่วนรายใหญ่ไม่เห็นการเสื่อมถอยด้อยลง แต่เราก็ไม่ได้ชะล่าใจ เพราะถ้าผิดนัดชำระเกิน 1 วันเราเร่งเตือนลูกค้าทันที"

นายโนริอากิ โกโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า การบริหารความเสี่ยงของธนาคารนั้นมีอยู่ 3 แนวทาง คือ 1.การตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อใหม่ทั้งปีอยู่ที่ 5-6% ถือเป็นการเติบโตแบบระมัดระวังและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวม โดยการพิจารณาปล่อยสินเชื่อใหม่จะต้องมีความรัดกุมเพื่อป้องกันไม่ให้สินเชื่อใหม่กลายเป็นหนี้เสียเพิ่มเติม

2.การเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าเป็นรายกรณี โดยเฉพาะรายเก่าที่เริ่มมีสัญญาณได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจ 3.การพิจารณาขายหนี้เอ็นพีแอลออก ซึ่งจาก 3 แนวทางนี้ จะช่วยให้ธนาคารสามารถควบคุมเอ็นพีแอลตามเป้า 2.5%

นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารธนชาต กล่าวว่า การบริหารจัดการคุณภาพสินเชื่อปีนี้ ปัจจุบันมีทีมงานคอยติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดทั้งในกลุ่มธุรกิจรายใหญ่และธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งมีการประเมินและมองไปในระยะข้างหน้าว่าลูกค้าทั้ง 2 กลุ่มที่มีอยู่ในตอนนี้ยังไม่มีรายใดที่น่าเป็นห่วงว่าจะเกิดเป็นหนี้เสีย ส่วนลูกค้ารายใหม่ที่ปล่อยสินเชื่อไปจากการสำรวจก็พบว่ามีหนี้เสียที่เกิดขึ้นในอัตราที่ต่ำมากในระดับเพียง 0.2% ที่ผ่านมาธนาคารได้มีกลยุทธ์ในการปรับแก้หนี้ดังกล่าวให้ลดลงได้พอสมควร ทั้งการเข้าไปเจรจากับลูกค้าแต่ราย การแก้หนี้วิธีต่างๆ หรือการขายหนี้ทิ้ง

ขณะที่กลุ่มลูกค้ารายย่อย ธนาคารมีโมเดลการดูแลและติดหนี้อย่างชัดเจน เช่น ลูกค้าที่ค้างชำระตั้งแต่ 1-8 เดือนขึ้นไป จะมีทีมงานในการติดตามปรับโครงสร้างหนี้ตามวิธีการของธนาคาร และกลุ่มที่ค้างชำระเกิน 18 เดือนจะตัดหนี้ขายทิ้ง ซึ่งภายใต้โมเดลการบริหารจัดการหนี้เอ็นพีแอลที่ชัดเจน ดังนั้น ภายใต้แผนการบริหารความเสี่ยงตามกลุ่มคาดว่าภายในสิ้นปีนี้เอ็นพีแอลจะอยู่ที่ระดับ 2.8-3% ถือว่าอยู่ในระดับใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์ในระบบ

"ภาพรวมสินเชื่อปีนี้ขยายตัวที่ 2-3% ซึ่งปริมาณธุรกรรมการเติบโตไม่สำคัญเท่ากับการบริหารความเสี่ยงที่จะต้องพร้อม ซึ่งเราก็มีโมเดลวางไว้แล้วครบทุกอย่างเหลือแต่จะต้องทำให้อัพเดต เพราะระบบ เครดิตสกอริ่งที่เราสร้างขึ้นมาจะพยายามไม่ให้สินเชื่อปล่อยใหม่เสียเลย หรือเสียให้น้อยที่สุดไม่ควรเกิน 0.2% ของสินเชื่อปล่อยใหม่"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,138 วันที่ 10 - 12 มีนาคม พ.ศ. 2559