กทม. สัญจร

12 มี.ค. 2559 | 00:00 น.
เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ "ปฎิวัติ" และปกครองในระบอบ "เผด็จการ" อยู่หลายปี

ชาวบ้านชอบใจมาก โดยเฉพาะมาตรการเด็ดขาดที่ใช้ ม.17 ยิงเป้า "นักวางเพลิง" และการปราบ "ผู้กว้างขวาง" ฯลฯ

บ้านเมืองสุขสงบ และได้พัฒนาไปจนคนรุ่นหลังมักนำมาเอ่ยชื่อชื่นชม "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว"

ผู้คนที่มักง่าย เดินถอดเสื้อในที่สาธารณะ เริ่มใส่เสื้อผ้าเป็นผู้กว้างขวาง ผู้มีอิทธิพล ที่เที่ยวรังแกชาวบ้าน โดยเรียกให้ไปสงบสติอารมณ์ในคุก

นักวางเพลิง เผาเพื่อไล่ที่ เผาเพื่อเอาเงินประกัน ฯลฯ ถูก "ยิงเป้า" ถูกบ้าง ผิดบ้าง แต่บ้านเมืองก็ปลอดการไฟไหม้

สภาพัฒน์และอีกหลายหน่วยงาน ได้รับการสนับสนุนให้ใช้ "สติปัญญา" วางแผนระยะสั้น ระยะยาวให้ประเทศไทย ก้าวหน้าอย่างมีทิศทาง

แต่การรีบเร่งให้เกิด "ความเจริญ" มาถึงวันนี้ ต้องบอกว่า "น่าเสียดาย" ไม่น่าเลย ในบางเรื่อง

โดยเฉพาะ "การเลิกรถราง" และการ "การถมคูคลอง" ไปเน้นการตัดถนนแทน

นึกภาพดู ถ้าวันนี้ในกทม.ยังมี "รถราง" วิ่งประสานบางสายบนภาคพื้นดิน

มีคูคลองให้เรือแจว เรือพาย ได้ใช้สัญจรทางน้ำ"กรุงเทพมหานคร" จะ "อมรรัตนโกสินทร์" ขนาดไหน

เท่ากับมี SAN FRANCISCO และ VENICE อยู่ใน BANGKOK ไม่ต้องเสียงบประมาณการท่องเที่ยวมหาศาล ที่ใช้จ่ายกันมโหฬาร นัยว่า ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ

(จะโกงกิน สุรุ่ยสุร่ายบ้าง ก็อ้างได้ว่า หาเงินเข้าประเทศ ฮา)

ผม SAN FRANCISCO ทีไร ไปจุดเริ่มต้นรถราง CABLE CAR ของเมืองที่สถานี POWELL STREET จะเห็นนักท่องเที่ยวยืนเข้าคิวแน่นทุกวัน เส้นทางจากจุดเริ่มต้นกลางเมือง DOWN TOWN หรือ UNION SQUARE วิ่งคู่ไปกับรถยนต์ไปไกลถึง FISHERMAN’S WHARF อีกแหล่งท่องเที่ยวหนึ่ง

รถรางกับรถยนต์ใช้ถนนระนาบเดียวกัน ก็ไปกันได้

กรุงเทพฯเคยได้สมญาจากฝรั่ง "VENICE ตะวันออก" ด้วยโครงสร้างผังเมืองเดิมที่มีระบบคูคลองใช้ในการสัญจร เมื่อผู้มีอำนาจเห็นว่า ชักช้าไม่ทันรถยนต์ สั่งถมคูคลองเป็น "ตัดถนน" เสน่ห์ของบ้านเมืองที่บรรพบุรุษลงทุนลงแรงไว้ ก็หายไปทันใด เป็นถนนแข็งๆ และยิ่งตัด รถยิ่งติด และแทนที่จะพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ระบบสาธารณะ กลับส่งเสริมให้ผู้คนมีรถยนต์ส่วนตัว

ใครจะชอบญี่ปุ่นอย่างไรสมัยนี้ ชอบได้ แต่เขาว่านักธุรกิจประเทศนี้อยู่เบื้องหลังของการที่เราไม่มีระบบขนส่งสาธารณะที่ดี

เพราะตลาดประเทศไทย ทั้งมอเตอร์ไซค์ 2 จังหวะ (ปล่อยควันพิษที่หาดูยากในญี่ปุ่น) และรถยนต์นานาซีซี เป็นขนมอันหอมหวานของญี่ปุ่นประเทศผู้ผลิต

ที่ LOS ANGELES ประเทศสหรัฐอเมริกาเหมือนกัน เขาว่ากว่าจะมีระบบรถสาธารณะ ใต้ดิน บนดิน และลอยฟ้าได้ก็เนิ่นนาน เพราะนักธุรกิจญี่ปุ่น เขา LOBBY

ทุกวันนี้ รถยนต์ BRAND ญี่ปุ่น ขายดีเป็นอันดับหนึ่งในประเทศสหรัฐฯกว้างใหญ่ไพศาล และมีอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นหลักหนึ่งของเศรษฐกิจประเทศที่ใจดีสอนวิชาทำรถยนต์ให้ญี่ปุ่นผู้แพ้สงครามแท้ๆ

ทุกวันนี้ ใครๆ ก็อยากไปเที่ยว VENICE ITALY เพราะคูคลองสัญจรทางน้ำแท้ๆในกทม. แม้จะเหลืออยู่ไม่มาก แต่ก็ยังเป็นประโยชน์ให้สัญจร หนีถนนรถราติด ต้องขอบคุณ "ผู้ว่ากทม." ผู้เป็นต้นคิดครับ โดยเฉพาะเส้นทางคลองแสนแสบ

"ผู้ว่ากทม." มีหลายคนนะครับ มีทั้งดี เลว ฉลาด หน่อมแน้ม ซื่อสัตย์ โกงทุกขนาด ฯลฯ คนโบราณของเราฉลาดกว่าคนรุ่นปัจจุบันนะครับ แทนที่จะเรียก TITLE ตำแหน่งเฉยๆ แต่ให้ "ราชทินนาม" ใครทำดีก็ได้ชื่อเพราะ ไปติดตัวให้ภาคภูมิใจ ไม่ใช่เรียกกันว่า "ผู้ว่า" ไม่ใช่ "อธิบดีตำรวจ" ไม่ใช่ "ปลัดกระทรวง"

ไม่เรียกกันตาม "ตำแหน่ง" ครับ

เรือโดยสารคลองแสนแสบที่ใช้กันอยู่ปัจจุบัน ต้องให้เครดิตผู้ว่าพลตรีจำลอง ศรีเมือง ที่ริเริ่มในปี พ.ศ.2533 โดยรวมตัวกลุ่มเรือหางยาวในนาม ห้างหุ้นส่วนจำกัด ครอบครัวขนส่ง เส้นทางระหว่างท่าน้ำวัดศรีบุญเรือง ถึงท่าสะพานผ่านฟ้าลีลาศ

ผู้โดยสารแต่ละวันกว่า 4-5 หมื่นขึ้นไป ผู้คนมีทางเลือกเดินทางสะดวก

ความดีงานนี้ ถ้าเป็นโบราณและยังมีระบบราชทินนาม พลตรีจำลอง ศรีเมือง น่าจะได้นาม "พระอำนวยสัญจรสะดวก"

แต่เรือนี้ควรได้รับการปรับปรุงนะครับ ให้สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น

ผู้ว่ากทม.อีกท่านที่คนกทม.ลืมไม่ได้ โดยเฉพาะคนยุคใหม่ที่สัญจรได้สะดวกรวดเร็ว ตรงเวลาด้วยรถลอยฟ้า BTS เป็นผลงานของ อาจารย์กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา สถาปนิกคนแรกที่ได้เข้าไปทำหน้าที่นักการเมืองได้อย่างดีเยี่ยม รับใช้การเมืองท้องถิ่นในตำแหน่ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

"อดีตผู้ว่า กทม. กฤษฎา ก็มีความตั้งอกตั้งใจทำงานอย่างน่าชมเชย...คนที่ทำงานดี มีความเสียสละ มีความรับผิดชอบอย่างนี้ สมควรจะต้องยอกย่องชมเชยกันบ้าง..."

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงให้ไว้เมื่อปี 2539

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,138 วันที่ 10 - 12 มีนาคม พ.ศ. 2559