เอกซเรย์แผนรุก‘ไดกิ้น’ โกยยอดขาย โตสวนกระแสตลาดแอร์ทรุด

22 ธ.ค. 2561 | 07:30 น.
“ไดกิ้น” โตสวนกระแสตลาดแอร์ทรุด ชี้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนหันนิยมอินเวอร์เตอร์เพิ่ม พร้อมปรับกลยุทธ์ตลาด จับ “ณเดชน์” พรีเซนเตอร์ถอดสูท เว้าอีสาน หวังขยายฐานลูกค้าต่างจังหวัดเพิ่ม ตั้งเป้าโกยยอดขาย 1.4 หมื่นล้านในปี 2563

ตลาด “แอร์” หรือเครื่องปรับอากาศที่มีมูลค่ารวมราว 5 หมื่นล้านบาทถูกจับตามองเมื่อส่งสัญญาณไม่ดี จากอัตราการเติบโตถดถอยต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และแม้ปีนี้จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ที่สุดแล้วยังต้องลุ้นว่าจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นหรืออย่างดีอาจจะไม่เติบโตเลย หลังจากที่สภาพอากาศยังคงผันผวน ขณะที่ “ไดกิ้น” ผู้บุกเบิกแอร์อินเวอร์เตอร์ในเมืองไทย กลับโชว์ผลงานการเติบโตกว่า 15% สวนทางกับตลาดรวมและแบรนด์คู่แข่ง

นายสมพร จันกรีนภาวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด กล่าวว่า หากวิเคราะห์โดยภาพรวมจะพบว่า จำนวนเครื่องปรับอากาศในเมืองไทยมีการเติบโต 8% หากคิดเป็นมูลค่า จะมีการเติบโตราว 5% ขณะที่แอร์ในกลุ่มอินเวอร์เตอร์มีการขยายตัวมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าราคาแอร์โดยเฉลี่ยลดลงโดยเฉพาะในกลุ่มอินเวอร์เตอร์ ส่วนการที่ไดกิ้นมีการเติบโตสวนกระแสตลาดแอร์เมืองไทยนั้นเป็นเพราะกระแสนิยมแอร์อินเวอร์เตอร์ที่สูงขึ้น และไดกิ้นเป็นผู้บุกเบิกตลาดแอร์อินเวอร์เตอร์ ทำให้เมื่อผู้บริโภคคิดจะเลือกซื้อแอร์อินเวอร์เตอร์ จึงหันไปหาไดกิ้นเป็นอันดับแรก

คุณสมพร  จันกรีนภาวงศ์

   สมพร จันกรีนภาวงศ์

นอกจากนี้บริษัทยังเปิดตัว ไดกิ้น รุ่น Sabai Inverter ออกทำตลาดมีจุดเด่นเรื่องของราคา ทนไฟตก ไฟกระชาก ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยในต่างจังหวัด นอกจากนี้ยังปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การทำตลาด โดยปรับภาพลักษณ์ของพรีเซนเตอร์ ณเดชน์ คูกิมิยะ ให้ดูลุคสบายๆ พูดภาษาถิ่น ทำให้จับต้องได้มากยิ่งขึ้น

“สัดส่วนยอดขายของไดกิ้นจะมาจากต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ 50 : 50 แต่ปีหน้าจะเปลี่ยนเป็น 60: 40 โดยการเติบโตจะมาจากกลุ่มแอร์สำหรับที่อยู่อาศัยและพาณิชย์ ซึ่งวันนี้ไดกิ้นสามารถครองตลาดในคอนโด มิเนียมหรู ระดับราคาตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไปได้ราว 80%”

ไดกิ้น 5

 

นายพรเทพ พรประภา ประธานกรรมการ บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด กล่าวว่า วันนี้ไดกิ้นมีความพร้อมที่จะเดินหน้าอย่างเต็มที่ ในการพัฒนานวัตกรรมเครื่องปรับอากาศและการให้บริการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการลูกค้าแบบครบวงจร โดยล่าสุดใช้งบลงทุนกว่า 30 ล้านบาท ปรับปรุงและเปิดอาคาร “Daikin Customer Care Center” บนพื้นที่ใช้สอยทั้งสิ้น รวมกว่า 1,300 ตารางเมตร เพื่อสร้างให้เป็นศูนย์ดูแลลูกค้าของไดกิ้นโดยสามารถรองรับการดูแลลูกค้าในทุกประเภทกลุ่มผลิตภัณฑ์ของเครื่องปรับอากาศ

ดร.พรเทพ พรประภา  (3)

       พรเทพ พรประภา

นอกจากนี้บริษัทยังให้ความสำคัญกับ After Sales Service ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล และในอนาคตยังมีแผนขยายฟังก์ชันงานต่างๆ ที่ศูนย์แห่งนี้มี ไปยังสำนักงานบริการสาขาในต่างจังหวัด ซึ่งปัจจุบันมี 8 สาขาในภูเก็ต, เชียง ใหม่, ขอนแก่น, โคราช, ระยอง, นนทบุรี และในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ได้แก่อมตะนคร ชลบุรีและนวนคร ปทุมธานี นอกจากนี้ยังมีโมบายเซอร์วิสที่สุราษฎร์ธานีและสงขลาเพื่อดูแลลูกค้าให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทยด้วย

R3_08059

“ด้านกำลังการผลิตของไดกิ้นซึ่งเป็นฐานส่งออกไปต่างประเทศทั้งในเอเชียและยุโรปนั้น ขณะนี้มีกำลังการผลิตราว 80% ยังสามารถรองรับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศได้ ขณะเดียวกันหากกำลังการผลิตไม่เพียงพอ ก็มีฐานการผลิตที่เวียดนาม ซึ่งเพิ่งเปิดทำการผลิตไปในปีนี้ เข้ามาช่วยเสริม ทำให้เชื่อมั่นว่าสามารถผลิตและรองรับความต้องการของลูกค้าได้อย่างเต็มที่”

R3_07574

ด้านนายอาคิฮิสะ โยโคยามา ผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กล่าวว่า บริษัทวางเป้าหมายที่จะก้าวสู่การเป็น Absolute No. 1 ในตลาดเครื่องปรับอากาศของเมืองไทยทุกเซ็กเมนต์ในปี 2563 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาและปรับปรุงการให้บริการรอบด้านรวมถึงโซลูชัน บิสิเนส ด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาพัฒนางานบริการเพื่อรองรับตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยปัจจุบันไทยเป็นฐานส่งออกใหญ่ไปยังประเทศเอเชีย 54% ออสเตรเลีย 20% ไต้หวัน ฮ่องกง และอินโดนีเซีย 16% ญี่ปุ่น 7% และยุโรป 3%

มร. อาคิฮิสะ โยโคยามา  (1)

      อาคิฮิสะ โยโคยามา

“ปีนี้ (เมษายน 2561-มีนาคม 2562) บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมียอดขายกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 15% มีส่วนแบ่งตลาด 26% โดยพบว่าพฤติกรรมผู้บริโภคหันมาใช้แอร์อินเวอร์เตอร์เพิ่มมากขึ้นเป็น 60% จากปีก่อนที่มีอยู่ 44% ส่งผลให้ไดกิ้นมีส่วนแบ่งในตลาดอินเวอร์เตอร์เพิ่มขึ้นเป็น 65% จากเดิม 60% ขณะที่ในปี 2563 จะมีรายได้รวม 1.4 หมื่นล้านบาท”

แอดฐานฯ

อย่างไรก็ดีตลาดเครื่องปรับอากาศสำหรับที่พักอาศัยและเชิงพาณิชย์ในปีนี้มีมูลค่ารวม 5 หมื่นล้านบาทเติบโต 6% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีมูลค่าราว 4.7 หมื่นล้านบาท โดยไดกิ้นมีส่วนแบ่งการตลาดทั้งสิ้น 28% โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลให้มีการเติบโตมาจากภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายการลงทุนและเติบโตเพิ่มขึ้นจากภาคอุตสาหกรรม และอสังหาริมทรัพย์ ขณะเดียวกันพบว่าสภาพอากาศยังเป็นสิ่งสำคัญสำหรับตลาดเครื่องปรับอากาศ ที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด

หน้า 34 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,429 วันที่ 23 - 26 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-16-503x62