"บิ๊กตู่" เคาะแผนแม่บทน้ำ 20 ปี ส่งรัฐบาลใหม่ขับเคลื่อนแผนน้ำต่อ

19 ธ.ค. 2561 | 09:21 น.
กนช. คลอดแผนแม่บทน้ำ 20 ปี จัดระเบียบน้ำประเทศในทุกมิติ 2 โครงการใหญ่ บรรเทาท่วม กทม. และสุโขทัย ภายใต้แผนแม่บทฯ พร้อมมอบคลังพิจารณาแหล่งงบประมาณรองรับโครงการผูกพันต่อเนื่อง ด้าน เลขา สนทช. เผย แผนไม่เป็นไปตามเป้า ติดขัดงบประมาณ



S__329113620
วันที่ 19 ธ.ค. 2561 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2561 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาวาระที่สำคัญ ได้แก่ 1.ร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) หลักเกณฑ์และแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อรองรับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี, 2.แผนงานโครงการขนาดใหญ่-โครงการสำคัญ และการขับเคลื่อนแผนงานพัฒนาโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ, 3.การทบทวนการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำที่เหมาะสมสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และผลกระทบการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน


48386096_359681104595016_1763097745888903168_n

แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี จะแบ่งเป็น 6 ด้าน ได้แก่ 1.การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค มีเป้าหมายในการพัฒนาประปาหมู่บ้านมีคุณภาพได้มาตรฐานภายในปี 2573 ขยายเขตประปา สำรองน้ำต้นทุนรองรับเมืองหลัก แหล่งท่องเที่ยว เขตเศรษฐกิจสำคัญ อัตราการใช้น้ำต่อประชากรคงที่และมีอัตราลดลงในอนาคต 2.การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต อาทิ การจัดหาน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน พื้นที่รับประโยชน์ 14 ล้านไร่ ลดความเสี่ยง/ความเสียหายในพื้นที่วิกฤติ ร้อยละ 50 เพิ่มประสิทธิภาพโครงการแหล่งน้ำ และระบบส่งน้ำเดิม 3.การปรับปรุงการระบายน้ำ สิ่งกีดขวางทางน้ำ โดยจัดทำผังลุ่มน้ำและบังคับใช้ในผังเมืองรวม/จังหวัดทุกลุ่มน้ำ ป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง 764 เมือง บรรเทาอุทกภัยพื้นที่วิกฤต ร้อยละ 60 เพิ่มประสิทธิภาพการปรับตัวและเผชิญเหตุในพื้นที่น้ำท่วม


S__329113621

4.การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ได้แก่ การป้องกันและลดการเกิดน้ำเสียที่แหล่งกำเนิด รักษาสมดุลของระบบนิเวศ 13 ลุ่มน้ำหลัก การฟื้นฟูแม่น้ำ ลำคลอง 25 ลุ่มน้ำหลัก และคูคลองสาขา 5.การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ เป้าหมายเพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม 3.5 ล้านไร่ การป้องกันและลดการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ต้นน้ำ 20.45 ล้านไร่ และ 6.การบริหารจัดการ โดยดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย ตั้งองค์กรด้านการบริหารจัดการน้ำ แผนบริหารจัดการทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต แผนการจัดสรรน้ำ รวมถึงการสร้างความร่วมมือด้านน้ำระหว่างประเทศ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้แผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี นำไปสู่การปฏิบัติ ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับหลักเกณฑ์แนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อนำไปสู่กรอบการจัดสรรงบประมาณด้านน้ำใน 3 แผนงาน ได้แก่ 1.แผนงานตามภารกิจพื้นฐาน (FUNCTION) 2.แผนงานตามภารกิจยุทธศาสตร์ นโยบายเร่งด่วน แนวทางปฏิรูปภาครัฐ งบประมาณบูรณาการ (AGENDA) และ 3.แผนงานตามภารกิจพื้นที่ ท้องถิ่น ภูมิภาค จังหวัด กลุ่มจังหวัด (AREA) โดยมอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงมหาดไทย และสำนักงบประมาณ จัดทำแผนงานและโครงการประกอบการจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ให้เสนอคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพิจารณารายละเอียดการจัดทำแผนงบประมาณ ปี 2563 และรายงาน กนช. ทราบต่อไป เพื่อให้สอดคล้องกับแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี


ฝนหลวง 10102561_๑๘๑๒๑๙_0001

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีมติให้ความเห็นชอบโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ 2 โครงการ ซึ่งอยู่ภายใต้แผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี ได้แก่ 1.โครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองเปรมประชากร กรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและบรรเทาน้ำหลากในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ใกล้เคียง วงเงิน 9,800 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2562-2569 องค์ประกอบโครงการ ประกอบด้วย อุโมงค์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5.70 เมตร 1 แห่ง ความยาว 13.5 กม. อาคารรับน้ำ 4 แห่ง และสถานีสูบน้ำและอาคารระบายน้ำ ขนาด 60 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำในเขตดอนเมือง หลักสี่ สายไหม และบางเขน ครอบคลุมพื้นที่ 109 ตารางกิโลเมตร

2.โครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน จ.สุโขทัย เพื่อบรรเทาอุทกภัยและเป็นแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุน พร้อมทั้งส่งน้ำอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ วงเงิน 2,875 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2563-2567 ซึ่งโครงการนี้เป็นการปรับปรุงคลองหกบาท จากเดิมเพิ่มอีก 1 เท่าตัว เป็น 500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และการปรับปรุงคลองยม-น่าน ให้สามารถระบายน้ำได้ 300 ลูกบาศก์เมตร/วินาที พร้อมด้วยการก่อสร้างและปรับปรุงอาคารประกอบตามแนวคลองส่งน้ำ ความยาวรวม 42 กิโลเมตร เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะสามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยในตัวเมืองสุโขทัยในฤดูฝน ตลอดจนเก็บกักน้ำในคลองไว้ใช้ประโยชน์บริเวณ 2 ฝั่งคลองตลอดสาย ในระหว่างฝนทิ้งช่วงฤดูแล้ง ครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ 7,300 ไร่ ทั้งนี้ ทั้ง 2 โครงการดังกล่าว จะมีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเปิดโครงการและงบประมาณตามลำดับต่อไป


S__329113622

ด้าน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สทนช. ได้วิเคราะห์โครงการขนาดใหญ่-โครงการสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการปี 2562–2565 พบว่า ยังไม่สามารถขับเคลื่อนโครงการได้ทั้งหมดตามที่ระบุในแผนแม่บทฯ น้ำ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ เช่น ในปี 2563 มีงบผูกพัน/ต่อเนื่องมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งการคาดการณ์กรอบงบประมาณแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประมาณปีละ 63,000 ล้านบาท แต่มีความต้องการงบประมาณมากถึงแสนล้านบาท ที่ประชุม กนช. จึงได้มอบหมายสำนักงบประมาณและกระทรวงการคลัง พิจารณาหาแนวทางอื่นให้สามารถขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญที่อยู่ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว


ฝนหลวง 22102561_๑๘๑๒๑๙_0002

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้เห็นชอบการทบทวนการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำที่เหมาะสมสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและผลกระทบการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำ โดยแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำจากเดิม 25 ลุ่มน้ำหลัก 254 ลุ่มน้ำสาขา เป็น 22 ลุ่มน้ำหลัก 353 ลุ่มน้ำสาขา ซึ่งใช้แผนที่มาตราส่วน 1:4,000 ที่มีความละเอียดสูง เป็นแผนที่หลักในการศึกษาการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำที่เหมาะสมสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและผลกระทบการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำ โดยมอบ สทนช. ดำเนินการจัดทำแผนที่แสดงแนวเขตลุ่มน้ำ ตามร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ มาตรา 25 และดำเนินการออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อมีผลบังคับใช้ต่อไป รวมถึงที่ประชุมยังได้มอบหมาย สทนช. เป็นเจ้าภาพหลักในการอำนวยการและกำกับดูแลให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการ 5 ปี สาขาทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561-2565 ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เพื่อให้ดำเนินงานเกิดผลเป็นรูปธรรมด้วย

บาร์ไลน์ฐาน