รถไฟไทย-จีน ยุค คสช.

13 มี.ค. 2559 | 02:00 น.
"จีน-ไทย"ไม่ใช่อื่นไกล เป็นพี่น้องกัน จริงหรือไม่ ก็ดูประวัติศาสตร์ก็แล้วกัน คนไทยเชื้อสายจีนเยอะแยะ และประสบความสำเร็จในธุระกิจการงาน แม้กระทั่งอยู่ในระดับบริการของประเทศ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ท่านเขียนหนังสือเกี่ยวกับจีนมากมาย ที่ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี สืบต่อกันมา แม้กระทั่งปัจจุบันเชื้อพระวงศ์ของเราก็เป็นมิตรสหาย เป็นที่รักของชาวจีนโพ้นทะเล

จีนกำลังเป็นพี่เบิ้มเบอร์ 1 ของโลก อีกไม่กี่ปีก็จะรุดหน้ากว่าอเมริกา ด้านเศรษฐกิจจะเป็นเบอร์ 1 ด้านการเมืองก็จะเทียบเท่า จีนต้องการสร้างเน็ตเวิร์กและพันธมิตร โดยเฉพาะด้านเอเชีย ซึ่งเรากำลังมี AEC 10 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ก็มาขอร่วมด้วยเป็น 10 + 3 และ ASIA – AEC กำลังหอมหวล อินเดียกับออสเตรเลีย ก็กำลังมาขอร่วมอีกเป็น 10 + 3 + 2 ประชากรจะร่วมเป็นพรมแดน ติดต่อค้าขายกันร่วม 50-60% ของประชากรโลก

โครงการรถไฟไทย-จีน มิใช่ของใหม่ เป็นหนึ่งในโครงการต่อเชื่อม AEC Link เข้าหากัน เดิมจะมี E-W Link จากเมียนมาและอินเดีย ผ่านไทยที่แม่สอด-มุกดาหารไปเวียดนาม ลงทะเลตังเกี๋ย เหนือ-ใต้มีไม่ชัด จะมีก็จีนผ่านลาวมาเวียงจันทน์เข้าหนองคาย-อุดรธานี-ขอนแก่น–นครราชสีมา-สระบุรี ผ่านกรุงเทพฯ ลงทะเลอู่ตะเภา ผ่านรัฐบาลมาแล้ว 3-4 รัฐบาล

โครงการนี้เป็นการเพิ่มศักยภาพของรถไฟไทย ซึ่งมีหลายโครงการในยุค "รถไฟยุคก้าวหน้า" หลังจากไม่ก้าวหน้ามาตั้งแต่สมัย ร.5 ทางรถไฟ 150 ปี เพิ่มไม่ถึง 100 กิโลเมตร ยุค คสช.ก็จะเร่งรีบให้ไทยซึ่งเป็น Hub ทางบกของ AEC จะมีทางรถไฟเพิ่มอีกเท่าตัว มีทางคู่ เปิดเส้นทางใหม่ รถไฟความเร็วสูงที่ต่างชาติก็อยากจะมาลงทุนด้วย เช่น จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลี-สิงคโปร์ เพราะจะมีผลประโยชน์ร่วมกัน

แต่อนิจจา รถไฟไทยโชคไม่ค่อยดี ไม่ว่าจะมีโครงการใดใด ก็จะมีอุปสรรคมาขัดขวางเสมอ รถไฟไทย-จีนโครงการนี้ถ้ามองภาพรวมก็จะเป็นโครงการที่สำคัญ เป็น "กลยุทธ์ที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการติดต่อทางบกของ AEC จริงๆ" ถ้าพระองค์ท่าน พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ยังคงมีพระชนม์ชีพอยู่ เราคงจะได้เห็นความก้าวหน้าเร็วและมากกว่านี้ รถไฟ 4,000 กิโลเมตรแรกเมื่อ 150 ปีพระองค์ใช้เงินคงคลังและส่วนพระองค์พัฒนาประเทศ มิได้จะมุ่งหวังแค่ "ลงทุนคุ้มค่าเงิน" หรือไม่ แต่เป็นการ "ลงทุนคุ้มค่าการพัฒนาประเทศ" สร้างยกระดับการติดต่อกันให้ดีขึ้น แต่ปัจจุบันโครงการนี้นักการเมืองนำมาเล่นจนเห็นแต่ผลลบ

โครงการรถไฟไทย-จีนจะต้องนำ Financial Feasibility และคิดแต่อัตราดอกเบี้ยไม่ได้ แม้กระทั่งเวิลด์แบงค์ก็ให้คิดเป็น Economic Feasibility คือผลตอบแทนทางอ้อมของสังคม ท่านสร้างงาน เพิ่มความสะดวกสบาย สร้างเน็ตเวิร์กติดต่อค้าขายเรียกว่า Economic Cost / Benefit สร้างการลงทุนให้ผลตอบแทนทางตรงทางอ้อมอย่างไร

มีโครงการที่สำคัญๆ ในเออีซีไทยอีก เช่น ญี่ปุ่นจะมาลงทุนลิงค์เชียงใหม่สู่สิงคโปร์ ญี่ปุ่นมาช่วยทวาย-มาบตาพุด สิงคโปร์ก็คอยเซาท์เทิร์นซีบอดร์ด ไทยกำลังยกระดับประเทศ ต้องเปิดตัวเปิดใจให้เป็นสากล ดูพระเจ้าอยู่หัวทุกรัชกาลของเรา พระองค์ท่านเป็นผู้นำในด้านการพัฒนาสู่สากลตลอดมา

รถไฟไทย-จีนจุดอ่อนก็มี 3 เรื่อง 1.ดอกเบี้ยแพง 2.ทำไมต้องเป็นทางใหญ่ ขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร 3.ทำไมต้องเป็นจีน รีบสรุปและรีบทำจะดีกว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟไทยเดินหน้าอธิบายโครงการนี้ต่อประชาชนในพื้นที่ เริ่มจากอุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา สระบุรี(จะเป็นฮับของรถไฟ) กรุงเทพฯ และระยอง ทุกพื้นที่ต้องการโครงการนี้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะภาคอีสานกระทรวงคมนาคมและการรถไฟไทยให้ไปทำมาร์เก็ตซาวดิ้ง คือสอบถามความต้องการท้องถิ่น ก่อนจะไปทำโครงการรายละเอียดและทำ Public Hearing ที่อุดรธานีและขอนแก่น ต้องการเร่งด่วน โดยเฉพาะขอนแก่นซึ่งจะเป็นศูนย์กลางของอีสานตอนเหนือให้เป็นอีก 1 แห่งของ "สี่แยกอินโดจีน" ที่ 2 เส้นทางเหนือ-ใต้ และตะวันออก ตะวันตก มาพบกัน เราจะมี 2 สี่แยก คือพิษณุโลก และขอนแก่น ในอนาคต

คสช.เองก็เร่งรัดโครงการเหนือ-ใต้ ทั้งไทย-จีน และไทย-ญี่ปุ่น แต่ประเทศไทยของเราก็เป็นประเทศอนุรักษ์นิยม การเปลี่ยนแปลงจะไม่ค่อยชอบ ชอบเป็นไปอย่างช้าๆ ก็ดูรถไฟตั้งแต่ รัชกาลที่ 5 เป็นตัวอย่าง ถ้าเป็นเมืองจีนคน 1,300 ล้านคนเปิดประเทศใน 10 ปี ก้าวหน้ากว่าประเทศไทยแค่ไหน เราควรจะมองทุกอย่างในทางบวกมากกว่า ตั้งต้นก็ "ไม่" ก่อน ก็ขอให้ช่วยกันคิดและตัดสินใจเชิงบวกให้มากขึ้น ประเทศไทยก็จะเดินหน้าไปด้วยดีเช่นกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,138 วันที่ 10 - 12 มีนาคม พ.ศ. 2559