"ไทย-เบลเยียม" เซ็น MOU ร่วมมือวิจัยการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ เพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทย

18 ธ.ค. 2561 | 05:21 น.
เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2561 ดร.มาณพ สิทธิเดช อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) สำนักงานที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ได้ประสานนำคณะจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ซึ่งนำโดย ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์ไบโอเทค เข้าลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ด้านการวิจัยการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ร่วมกับศูนย์เก็บรวบรวมสายพันธุ์จุลินทรีย์แห่งมหาวิทยาลัยคอทอลิกเลอแวน (BCCM/MUCL) แห่งประเทศเบลเยียม นำโดย ศจ.ดร.สเตฟาน เดอเคลิร์ก ผู้อำนวยการ BCCM/MUCLโดยได้รับเกียรติจาก นายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์, นางมาร์ลีน บอสส์แชร์ทส์ รองผู้อำนวยการของหน่วยวิจัย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์แห่งเบลเยียม (BELSPO), ดร.ฟิลิปเป เดสเมธ ผู้จัดการด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ เครือข่าย BCCM สำนักงาน BELSPO และ ดร.มาณพ สิทธิเดช อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์


Manop1

การลงนามครั้งนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 150 ปี ความสัมพันธ์ไทย-เบลเยียม โดยจะนำไปสู่ความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่าง 2 ประเทศ ในด้านการรวบรวมสายพันธุ์จุลินทรีย์ โดยเฉพาะในประเภทฟังไจ (Fungi) รวมไปถึงการเก็บรักษาเชื้อจุลินทรีย์โดยใช้กรรมวิธี Cryopreservation ภายใต้สภาวะอุณภูมิเย็นยิ่งยวด ที่อุณหภูมิ -180 องศาเซลเซียส และการวิจัยเพาะเลี้ยงไมคอร์ไรซา (Mycorrhiza) เพื่อใช้ประโยชน์ในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและกระตุ้นการสร้างสารทุติยภูมิจากพืช เพื่อนำไปใช้ในการรักษาโรค ซึ่งมีแผนจะนำองค์ความรู้นี้ไปประยุกต์ใช้กับสมุนไพรไทยต่อไป

ทั้งนี้ ทางคณะได้เข้าเยี่ยมชมและหารือสร้างความร่วมมือกับศูนย์รวบรวมจุลินทรีย์ของเบลเยียม ณ ห้องปฏิบัติการด้านราวิทยา ของมหาวิทยาลัยคาทอลิกเลอแวน ซึ่งเป็น 1 ใน 7 ห้องปฏิบัติการในเครือข่ายของการรวบรวมและเก็บรักษาเชื้อจุลินทรีย์ของประเทศเบลเยียม ที่อยู่ภายใต้การดูแลและสนับสนุนงบประมาณโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์แห่งเบลเยี่ยม (BELSPO)


Manop2

หนึ่งในบทบาทของ BCCM/MUCL คือ การทำหน้าที่เป็นศูนย์ในการเก็บรักษาเชื้อราเส้นใย (Filamentous Fungi) และยีสต์ ที่ไม่ก่อให้เกิดโรคในคนและสัตว์ โดยมีการรวบรวมเชื้อราในธรรมชาติและที่เป็นประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม รวมทั้งมีการเก็บรักษาเชื้อไมคอร์ไรซา (Mycorrhiza) โดยวิธีการเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ (in-Vitro) และให้บริการต่าง ๆ อาทิ การแจกจ่ายสารพันธุกรรมและจุลินทรีย์ที่เกี่ยวข้อง การพิสูจน์เอกลักษณ์ การจัดอนุกรมวิธาน การจำแนกชนิดเชื้อราและยีสต์ต่าง ๆ การสร้างความเข้าใจถึงบทบาทของเชื้อจุลินทรีย์ในระบบนิเวศวิทยา และให้การสนับสนุนในการประยุกต์ใช้เชื้อราและยีสต์ในทางเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ จุลินทรีย์มีบทบาทสำคัญต่อการเกษตรกรรม อาหาร และอาหารสัตว์ ทั้งคุณและโทษ เนื่องจากสามารถก่อให้เกิดโรค การเน่าเสีย การปนเปื้อน และในขณะเดียวกัน ราและยีสต์บางชนิดก็เป็นประโยชน์ เช่น การเป็นหัวเชื้อของกระบวนการหมัก จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย (Probiotic) ตลอดจนจุลินทรีย์ที่ใช้ในการปกป้องโรคที่เกิดขึ้นกับพืช


Manop3

ศจ.ดร.สเตฟาน เดอเคลิร์ก ผู้อำนวยการ BCCM/MUCL เปิดเผยว่า ทางศูนย์ฯ กำลังดำเนินการเพื่อใช้ประโยชน์จากราบางชนิดที่สามารถใช้ในการป้องกันโรคพืชได้ ทำให้สามารถลดการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ใช้ราที่มีประโยชน์ในการกระตุ้นให้พืช เช่น ต้นยางพาราเกิดการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว กระตุ้นให้พืชบางชนิดผลิตสารทุติยภูมิที่นำไปสู่การเพิ่มปริมาณการผลิตสารสำคัญที่มีประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น สารที่ใช้ในการผลิตยารักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น เขายังแสดงความสนใจที่จะเดินทางมาเยี่ยมหน่วยงานวิจัยที่เกี่ยวข้องของไทย และยินดีที่จะสร้างความร่วมมือด้านวิชาการและการวิจัยที่เกี่ยวข้องร่วมกัน

ด้าน ดร.มาณพ สิทธิเดช อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ให้ทัศนะว่า สำนักงานที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ กรุงบรัสเซลส์ มีความยินดีในการสร้างความร่วมมือดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถใช้ศักยภาพของประเทศที่อุดมไปด้วยวัตถุดิบด้านการเกษตร และโดยเฉพาะสำหรับการผลิตสมุนไพรที่มีคุณค่าและคุณภาพสูง ซึ่งจะสามารถสร้างมูลค่าต่อประเทศไทยได้อย่างมหาศาล

595959859

[caption id="attachment_362480" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]