ชี้ช่องจากทีมทูต : ความตกลงการค้าเสรี "เวียดนาม-สหภาพยุโรป" (EVFTA) และผลกระทบต่อไทย (ตอนจบ)

17 ธ.ค. 2561 | 10:37 น.
| ชี้ช่องจากทีมทูต : ความตกลงการค้าเสรี "เวียดนาม-สหภาพยุโรป" (EVFTA) และผลกระทบต่อไทย (ตอนจบ)

| โดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย

……………….

ความตกลง EVFTA กำหนดว่า เวียดนามจะต้องเปิดตลาดให้แก่ผู้ประกอบการภาคบริการของสหภาพยุโรป (อียู) มากกว่าข้อผูกพันกับองค์การการค้าโลกในบริการธุรกิจ (Business Services) บริการสิ่งแวดล้อม บริการไปรษณีย์ ธนาคาร ประกันภัย และการขนส่งทางทะเล นอกจากนี้ ยังจะต้องเปิดโอกาสการลงทุนจากอียูในบางสาขาการผลิต อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม ปุ๋ย ยางนอกรถยนต์ ถุงมือและผลิตภัณฑ์จากพลาสติก เซรามิก และวัสดุก่อสร้าง สำหรับ "ภาคการผลิตเครื่องจักรกล" เวียดนามจะลดข้อจำกัดเกี่ยวกับการประกอบเครื่องยนต์ทางทะเล เครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน และการผลิตรถจักรยาน

สาระสำคัญในด้านการประมูลงานและสัญญาของรัฐ (Public Contracts) ความตกลง EVFTA เปิดโอกาสให้บริษัทจากอียูเข้าร่วมงานประมูลและสัญญาของรัฐในประเภทงานของกระทรวงของเวียดนาม รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนและท่าเรือ กิจการภาครัฐที่สำคัญ เช่น การจำหน่ายไฟฟ้า การดำเนินการระบบราง กิจการโรงพยาบาล 34 แห่ง และสัญญางานของกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ รวมถึงได้มีข้อตกลงการประมูลภาครัฐ (Government Procurement Agreement : GPA) ซึ่งบริษัทจากอียูนับเป็นบริษัทต่างชาติกลุ่มแรกที่สามารถเสนอราคาการประมูลแก่รัฐบาลเวียดนาม


VN-EU

สาระสำคัญด้านอื่น ๆ อาทิ การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ในด้านข้อผูกพันเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ สิ่งประดิษฐ์ สิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) จะมีระดับการคุ้มครองที่สูงกว่าองค์การการค้าโลก (WTO)โดยเวียดนามจะปกป้องสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของอียูรวม 169 รายการ และอียูจะปกป้องสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของเวียดนามรวม 39 รายการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าการเกษตรและอาหาร ความตกลง EVFTA ยังได้ระบุเกี่ยวกับข้อบังคับของรัฐวิสาหกิจในการเข้าแข่งขัน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมในการแข่งขันทางธุรกิจที่เท่าเทียมและเป็นธรรม โดยเฉพาะในด้านความโปร่งใสและการใช้เงินรัฐสนับสนุน มีการสร้างนวัตกรรม เสริมสร้างมาตรฐานการคุ้มครองทางสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยระบุรายชื่อกิจกรรมที่ทั้ง 2 ฝ่าย ต้องดำเนินการในการเสริมสร้างมาตรฐานการคุ้มครองทางสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น มาตรฐานแรงงาน การบังคับใช้กฎหมายของแต่ละฝ่าย ทั้งในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด รวมทั้งมีกลไกระงับข้อพิพาทในการอธิบาย หรือ ตีความหมายของคำ เพื่อดำเนินการตามข้อผูกพัน กลไกดังกล่าวรวมถึงขั้นตอนและระยะเวลาในการแก้ไขข้อพิพาทที่กำหนดโดยคู่สัญญา แรกเริ่มทั้ง 2 ฝ่าย จะต้องปรึกษาหารือกัน หากการหารือล้มเหลว ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจกำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ โดยผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายได้ เป็นการสร้างกลไกที่มีความยืดหยุ่น โดยมีตัวกลางเพื่อจัดการปัญหา

ในด้านความท้าทายของความตกลง EVFTA ประการแรก คือ การที่เวียดนามอาจต้องเผชิญความยากลำบากจากข้อกำหนดเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดวัตถุดิบของสินค้า ที่ระบุว่า ต้องใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นเพื่อการผลิตเท่านั้น เนื่องจากภาคการผลิตของเวียดนามยังคงพึ่งพาการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบจากจีนและอาเซียนเพื่อใช้ในการผลิต (ยกเว้นสิ่งทอ ซึ่งได้รับอนุญาตให้ใช้ด้ายที่นำเข้าจากเกาหลีใต้) ประการที่ 2 คือ อียูยังมีความกังวลเกี่ยวกับอุปสรรคด้านเทคนิคจากฝ่ายเวียดนาม กระบวนการพิจารณาอนุมัติที่ไม่เป็นไปตามสากล โดยเฉพาะในสาขารถยนต์ รถจักรยานยนต์ ผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม รวมถึงการเคารพในทรัพย์สินทางปัญญาและสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ประการที่ 3 คือ ในด้านผลกระทบของ NGO เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนในเวียดนาม

เนื่องจากเวียดนามได้ลงนามในข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ (Partnership and Co-operation Agreement : PCA) กับอียูในปี 2555 และมีผลบังคับใช้เกี่ยวกับประเด็นด้านพลังงาน การอพยพ และสิทธิมนุษยชน ไปตั้งแต่เดือน ต.ค. 2559 ทั้งนี้ ระหว่างข้อตกลง PCA และ EVFTA มีความสัมพันธ์กัน เช่น ข้อกำหนดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน (ในมาตราที่ 1 ของ PCA) อาจจะนำไปสู่มาตราในความตกลง EVFTA ซึ่งหากเวียดนามไม่เคารพข้อตกลง PCA แล้ว ความตกลง EVFTA อาจถูกเลื่อนออกไป และในประการสุดท้าย ความล่าช้าในกระบวนการภายในของอียู เนื่องจากการดำเนินการใด ๆ จะต้องขอรับความคิดเห็นและการยอมรับจากประเทศสมาชิก 28 ประเทศ ดังกรณีของความตกลงการค้าเสรีระหว่างอียู-สิงคโปร์ ที่ล่าช้าจากคำตัดสินของศาลสหภาพยุโรป ซึ่งจะต้องรอข้อคิดเห็นและได้รับความยินยอมจากประเทศสมาชิกทั้งหมด

ความตกลงการค้าเสรี "เวียดนาม-สหภาพยุโรป" จะช่วยลดการพึ่งทางการค้าระหว่างเวียดนามกับตลาดคู่ค้าเดิมอย่างจีนและสหรัฐฯ ขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มบทบาทของอียูในเอเชียมากขึ้น ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการเวียดนามกว่า 2,700 ราย ที่กำลังส่งออกสินค้าไปยังอียู ซึ่งเวียดนามได้รับการยกเว้นภาษี (Generalized System of Preferences : GSP) สำหรับสินค้าส่งออกเกือบทุกประเภท ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาและมีรายได้เฉลี่ยปานกลาง (ระดับล่าง) นับตั้งแต่ปี 2557 ในอัตราภาษีเฉลี่ยเพียง 4.5%

จากข้อมูลในปี 2560 อียูเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่อันดับ 2 ของเวียดนาม ด้วยสัดส่วน 18% จากปริมาณสินค้าส่งออกทั้งหมด โดยมูลค่าการค้าระหว่างเวียดนาม-อียูอยู่ที่ 50,460 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีดังกล่าว เพิ่มขึ้น 5 เท่าจากมูลค่าการค้าของปี 2549 สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ โทรศัพท์ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และสัตว์นํ้า นอกจากนี้ ตลอดช่วงที่ผ่านมา อียูเข้าลงทุนในเวียดนามมูลค่ารวมกว่า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยอียูลงทุนในเวียดนามรวม 1,835 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เฉพาะในปี 2560

โดยสรุป เวียดนามคาดหวังที่จะได้ดุลการค้าจากสินค้าเกษตร ซึ่งรวมถึงผลผลิตทางการเกษตร (Agricultural Product) สินค้าประมง (Fishery Product) และสิ่งทอ ทั้งนี้ ประเด็นท้าทายของเวียดนาม ได้แก่ การที่อียูยังคงให้ใบเหลืองเตือนเวียดนามในการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing : IUU) นอกจากนี้ อียูยังคาดหวังว่าจะส่งออกชิ้นส่วนเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิตต่าง ๆ ให้กับเวียดนามมากขึ้น

ในส่วนผลกระทบต่อไทยภายหลังความตกลง EVFTA มีผลบังคับใช้ อาจมีผลกระทบที่มีนัยสำคัญต่อการส่งออกของไทยไปยังอียูโดยตรง โดยสินค้าของไทยที่คาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่

1.สัตว์นํ้าแปรรูปและแช่แข็ง ซึ่งปัจจุบันไทยถูกอียูตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (Generalized System of Preferences : GSP) ทำให้ไทยต้องเสียภาษีนำเข้าเพิ่มในส่วนของกุ้งสดที่ 12% และกุ้งแปรรูปที่ 20% ขณะที่ เวียดนามเสียภาษีตํ่ากว่าและอนาคตจะได้ลดเหลือเพียง 0% เมื่อความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกสัตว์นํ้าของเวียดนามไปยังอียูยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้ากุ้งของเวียดนาม โดยในปี 2560 อียูได้แซงหน้าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่นำเข้าสัตว์นํ้ารายใหญ่สุดของเวียดนาม ด้วยมูลค่า 1,460 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบกับปี 2559 โดยเป็นการนําเข้ากุ้งและสินค้าแปรรูปที่มีมูลค่าสูง

2.ข้าว ปัจจุบันข้าวของไทยและเวียดนามเสียภาษีนำเข้าให้แก่อียูในอัตรา 145 ยูโร/ตัน ซึ่งหากในอนาคต ข้าวเวียดนามได้รับการละเว้นภาษีนำเข้า จะเป็นการเพิ่มข้อได้เปรียบให้แก่การส่งออกข้าวของเวียดนาม และจะสร้างความกดดันให้แก่ไทยในการส่งออกข้าวหอมมะลิและข้าวบรรจุถุงไปยังอียู โดยปัจจุบันไทยส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังอียูรวม 200,000 ตัน

3.เภสัชกรรม : การกำหนดภาคผนวกอำนวยความสะดวกให้อียูสามารถส่งออกยามายังเวียดนามได้ง่ายขึ้น และกำหนดให้อียูมีสิทธิเสนอขาย/สัมปทานยาให้กับโรงพยาบาลเวียดนาม อาจมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของเอกชนไทยในเวียดนามได้


TP10-3427-A

นอกจากนี้ นับตั้งแต่ปี 2555 มูลค่าการส่งออกสินค้าของเวียดนามไปยังอียูได้แซงไทย และมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการเติบโตของการส่งออกของสินค้าเกษตร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าของเวียดนามไปยังอียู ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับการผลักดันจากการเข้าร่วมของบริษัทต่างชาติจากจีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน และมาเลเซีย ที่กำลังลงทุนในเวียดนาม ปรากฏดังตารางข้างบนนี้

พบกับอัพเดตความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

คอลัมน์ | หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,427 ระหว่างวันที่ 16-19 ธันวาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว