อีสท์ วอเตอร์ ชู Water Complex สู้ภัยแล้ง

07 มี.ค. 2559 | 09:14 น.
อีสท์ วอเตอร์ รณรงค์คนไทยประหยัดน้ำสู้ภัยแล้งแข็งขัน  เชิญชวนประชาชนใช้น้ำลดลง เตรียมชู Water Complex  เป็นตัวช่วยบริหารจัดการน้ำอย่างรู้คุณค่าและครบวงจร  เร่งประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงานบรรเทาปัญหาวิกฤติภัยแล้ง

ปีนี้สถานการณ์ภัยแล้งมาเร็วและคาดว่าน่าจะรุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี  ซึ่งขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก 4  แห่ง  มีน้ำใช้ได้รวม 2,945  ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 16 %  แบ่งเป็นเขื่อนภูมิพล 811 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 1,459  ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 290 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 385 ล้าน ลบ.ม.  อ้างอิงข้อมูลจากกรมชลประทาน  ณ วันที่ 1 มี.ค. 2559   ซึ่งคาดว่าจะเพียงพอถึงเดือนมิถุนายน 2559  อย่างไรก็ตามจากสถิติการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา  พบว่ายังคงมีการใช้น้ำในปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งภาคการเกษตรภาคอุตสาหกรรม  สถานประกอบการ และภาคครัวเรือน  ที่มีการใช้ร่วมกันประมาณ 20 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน  โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครซึ่งมีปริมาณการใช้น้ำสูงสุดถึงวันละ 5 ล้าน ลบ.ม.  ทำให้รัฐบาลต้องออกมาขอความร่วมมือกับทุกภาคส่วนให้ตระหนักถึงปัญหาการขาดน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในฤดูแล้งนี้

นายวิทยา  ฉายสุวรรณ  ประธานคณะกรรมการบริษัท  จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์  ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการน้ำด้วยระบบโครงข่ายท่อส่งน้ำดิบ (Water Grid) ในภาคตะวันออกได้แสดงความห่วงใยว่า   “ขณะนี้สถานการณ์น้ำในประเทศไทยน่าเป็นห่วง  ทุกคน  ทุกหน่วยงาน ต้องเริ่มมาตรการประหยัดน้ำกันอย่างจริงจังตั้งแต่บัดนี้เพื่อให้มีน้ำใช้ตลอดช่วงฤดูแล้งที่กำลังมาถึง  สำหรับอีสท์ วอเตอร์  เองได้เริ่มรณรงค์ให้พนักงานและผู้เช่าใช้น้ำกันอย่างรู้คุณค่า  โดยตั้งเป้าลดการใช้น้ำลง 20%  นอกจากนี้ยังได้นำระบบน้ำรีไซเคิลมาใช้ในอาคารเพื่อนำน้ำทิ้งกลับมาใช้ใหม่ตามนโยบายของรัฐบาล”

ที่ผ่านมา อีสท์ วอเตอร์  ให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง โดยได้นำเสนอแนวคิดการบริหารจัดการน้ำที่เน้นการใช้น้ำทุกหยดอย่างคุ้มค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในโครงการ Water Complex  ซึ่งเป็นการวางระบบน้ำแบบครบวงจรให้เหมาะกับการใช้งานของแต่ละอุตสาหกรรมและสามารถนำน้ำทิ้งกลับมาใช้ใหม่ โครงการนี้จะสามารถตอบโจทย์รัฐบาลในการแก้ปัญหาภัยแล้งได้อย่างยั่งยืน

Water Complex ยังสามารถนำมาใช้กับภาคครัวเรือนได้ด้วย  โดยการวางระบบน้ำ Reclaimed หรือระบบน้ำแบบ 2 เส้นท่อ  แยกท่อน้ำดีกับท่อน้ำเสียออกจากกัน เพื่อนำน้ำที่ใช้แล้วมาผ่านระบบบำบัดขนาดเล็กและกระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำน้ำทิ้ง กลับมาใช้ใหม่ในระบบฟลัดชิ่งและรดน้ำต้นไม้  คาดว่าจะมีน้ำเพิ่มขึ้นในระบบอีกกว่า 800 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี

ปริมาณน้ำที่นำกลับมาใช้ใหม่เมื่อรวมๆ กันแล้วเทียบได้กับความจุของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์  ดังนั้นจึงพูดได้ว่า ระบบ water complex น่าจะเป็นการจัดการน้ำที่สามารถแก้ปัญหาการแย่งน้ำระหว่างภาคเกษตรกรรมและอุปโภคบริโภคในระยะยาวได้เป็นอย่างดี

สำหรับสถานการณ์น้ำในภาคตะวันออก   นายวิทยา เปิดเผยเพิ่มเติมว่า  สถานการณ์น้ำโดยรวมไม่น่าเป็นห่วง  ยกเว้นในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและฉะเชิงเทราที่ยังคงต้องเฝ้าระวัง อย่างไรก็ตาม อีสท์ วอเตอร์  ได้มีแผนสำรองเพื่อป้องกันภัยแล้ง โดยมีการจัดหาแหล่งน้ำสำรองจากบ่อดินเอกชน เพิ่มอีก 4.6 ล้าน ลบ.ม.  อีกทั้งเร่งรัดโครงการวางท่อส่งน้ำดิบหนองปลาไหล-หนองค้อ 2 ทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นเพื่อส่งจ่ายไปยังผู้ใช้น้ำภาคอุตสาหกรรมและอุปโภคบริโภคในพื้นที่ชลบุรีและฉะเชิงเทรา นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาสระเก็บน้ำดิบทับมา เพื่อเพิ่มน้ำต้นทุนให้แก่พื้นที่ระยอง ซึ่งตามแผนจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2559

อีกทั้งยังไดให้บริการวิ่งรถบริการจ่ายน้ำประปาและนำรถน้ำดื่มเคลื่อนที่ออกบริการประชาชนในพื้นที่ปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีน้ำกินน้ำใช้ในช่วงฤดูแล้งด้วย นอกจากนี้ยังมีการประชุมร่วมกันกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ได้แก่ กรมชลประทาน  การประปาส่วนภูมิภาค  และกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม  เป็นประจำทุกเดือนเพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด  จึงมั่นใจว่าภาคตะวันออกจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้งไปได้เช่นเดียวกับปีก่อนอย่างแน่นอน

ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักในพื้นที่ระยอง  ได้แก่  อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ดอกกราย คลองใหญ่ และประแสร์  มีปริมาณน้ำรวมอยู่ที่ 211.59 ล้าน ลบ.ม.  คิดเป็น 73.3%  มากกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.4%  ซึ่งหากฝนไม่ตกปริมาณน้ำนี้จะสามารถใช้ได้ไปอีก 7 เดือน สำหรับอ่างเก็บน้ำบางพระ  และอ่างเก็บน้ำหนองค้อ  ในพื้นที่ชลบุรี  มีปริมาณน้ำอยู่เพียง 41.97 ล้าน ลบ.ม.  คิดเป็น 30.3% ของความจุอ่างทั้งหมด ต่ำกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อน 13.6 %

ด้านเศรษฐกิจการลงทุนในภาคตะวันออก ในปี 2559 การลงทุนยังคงมีการเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ปลวกแดง-บ่อวิน เนื่องจากปัจจัยส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐและการเริ่มเข้าสู่ประช่าคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งสอดรับกับปริมาณความต้องการใช้น้ำในปีนี้ที่เพิ่มขึ้น 2-3% จากปีก่อน