'เอสซีจี' ลุยลงทุนปิโตรเคมี ทุ่ม 7.5 พันล้าน 4 โครงการ รองรับ 10 อุตฯเป้าหมาย

08 ก.พ. 2562 | 06:59 น.
กลุ่มเอสซีจีเล็งลงทุนในพื้นที่อีอีซี ทุ่ม 7.5 พันล้านบาท ลุย 4 โครงการ ต่อยอดปิโตรเคมีขั้นสูง รองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายขยายตัว รอเพียงความชัดเจนนิคมฯอาร์ไอแอล ถูกประกาศเป็นเขตส่งเสริมพิเศษ ภายในเดือน ธ.ค. นี้ พร้อมเดินหน้าลงทุน

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
ว่า ขณะนี้ ทางบริษัท อาร์ไอแอล 1996 จำกัด ในกลุ่มเอสซีจี ได้ยื่นเสนอนิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล พื้นที่ 1,703 ไร่ บริเวณ อ.มาบตาพุด จ.ระยอง จัดตั้งเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการอุตสาหกรรมที่จะใช้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตาม พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในการลงทุนโครงการต่าง ๆ

ทั้งนี้ เนื่องจากพื้นที่นิคมฯดังกล่าว ปัจจุบันยังมีพื้นที่ว่างเพื่อพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมในอนาคตอีกจำนวน 250 ไร่ และมีแผนจะเริ่มการพัฒนาในระยะแรกบนเนื้อที่ 136 ไร่ ภายในปี 2562 โดยจะมีแผนงานเพิ่มศักยภาพการผลิตอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นสูง เพื่อสนับสนุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ รวมถึงการขยายธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมยานยนต์ ด้านการออกแบบและจัดทำต้นแบบ ตลอดจนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารในพื้นที่

โดยแผนการลงทุนจะประกอบไปด้วย 4 โครงการหลัก ภายใต้เงินลงทุน 7,500 ล้านบาท ได้แก่ โครงการขยายโรงงานผลิตโอเลฟินส์ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์ต้นทางให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะเป็นตัวเร่งผลักดันให้เกิดความต้องการปริมาณการผลิตของสารกลุ่มโอเลฟินส์ โดยเฉพาะเอทิลีนและโพรพิลีน ซึ่งเป็นสารที่นำไปสู่กระบวนการผลิตโพลิเมอร์ หรือ เม็ดพลาสติก ที่เพิ่มมากขึ้น ที่จะช่วยสนับสนุนภาคการออกแบบขึ้นรูปและอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจะใช้เงินลงทุนราว 5,680 ล้านบาท บนพื้นที่ 49 ไร่


TP11-3426-A

นอกจากนี้ ยังมีโครงการเพิ่มกระบวนการผลิตโพลิเอทิลีนที่มีคุณสมบัติพิเศษ (HVP) หรือ การพัฒนาเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง (HDPE) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของเทคโนโลยีเดิมในการผลิต HDPE ประเภทใหม่ ๆ ด้วยเงินลงทุน 970 ล้านบาท บนพื้นที่ 20 ไร่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอจดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกิดขึ้น และแผนการพัฒนาต้นแบบการปรับปรุงคุณสมบัติการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก โดยเม็ดพลาสติกดังกล่าวจะมีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น 20% ทำให้สามารถนำไปขึ้นรูปสินค้าจะมีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น 20% ด้วย สามารถลดการใช้เม็ดพลาสติกลง 20% และช่วยลดการนำเข้าเม็ดพลาสติกชนิดนี้ได้มากกว่า 6 พันตันต่อปี

อีกทั้งการลงทุนในโครงการศูนย์วิจัยและพัฒนาขึ้นรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกต้นแบบ เพื่อเป็นชิ้นส่วนประกอบรถยนต์สมัยใหม่ และเพื่อรองรับอุตสาหกรรมพลาสติกอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์รองรับสินค้าการเกษตรในพื้นที่ ซึ่งจะใช้เงินลงทุนราว 720 ล้านบาท บนพื้นที่ 12 ไร่

รวมถึงการลงทุนในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดกำลังการผลิต 4.5 เมกะวัตต์ บนเนื้อที่ 55 ไร่ เงินลงทุน 190 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งพลังงานทดแทนให้กับทุกอุตสาหกรรมฯ

 

[caption id="attachment_359653" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

ทั้งนี้ หากโครงการเดินหน้าได้ตามแผนจะช่วยให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซีเพิ่มขึ้นอีก 7,500 ล้านบาท ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในประเทศเกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ส่งออกไปขายยังต่างประเทศได้ในปริมาณที่มากขึ้น เกิดการจ้างแรงงานฝีมือเพิ่มขึ้น รวมทุกตำแหน่งมากกว่า 500 อัตรา และเกิดการจ้างทำของและจ้างบริการจากผู้รับเหมาช่วงเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 500 ล้านบาทต่อปี เป็นต้น

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,426 ระหว่างวันที่ 13-15 ธันวาคม 2561

595959859