พรุ่งนี้ "บอร์ด กสทช." ตั้งคณะทำงานประเมินค่าคลื่น-ราคาประมูล 700 MHz

11 ธ.ค. 2561 | 07:37 น.
บอร์ด กสทช. เร่งเต็มสูบประมูล 5G เผย วาระประชุมพรุ่งนี้ (12 ธ.ค. 61) เตรียมตั้งคณะทำงานจัดทำหลักเกณฑ์ประมูลคลื่นและประเมินมูลค่าคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ล่าสุด เซ็นเอ็มโอยูกับจุฬาฯ ทดสอบระบบ 5G ภายในมหาลัยฯ เป็นเวลา 2 ปี

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" สำหรับวาระการประชุมบอร์ด กสทช. ในวันพรุ่งนี้ (12 ธ.ค. 61)
โดยจะมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ล่วงหน้า และตั้งคณะทำงานประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งคาดว่าพรุ่งนี้จะออกคำสั่งแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ

 

[caption id="attachment_359734" align="aligncenter" width="503"] 86477 ฐากร ตัณฑสิทธิ์[/caption]

นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช. ได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อจัดตั้งศูนย์ทดสอบ 5G ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเวลา 2 ปี โดยจะดำเนินการศึกษา ทดสอบ และตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์ ระบบ รวมถึงบริการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี 5G ได้แก่ อุปกรณ์เชื่อมต่อ Internet of Things (IoT) ระบบการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล Big Data ระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ (Intelligent Transportation System : ITS) ระบบสาธารณสุขทางไกล (Telehealth) เป็นต้น

ทั้งนี้ การลงนามความร่วมมือดังกล่าวจะครอบคลุมการแลกเปลี่ยนและเสริมสร้างความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลทางวิชาการ รวมทั้งจัดฝึกอบรม ประชุมเชิงปฏิบัติการ และสัมมนา เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี 5G ระหว่างบุคลากรของทั้ง 2 ฝ่าย และจะมีการพัฒนาบริการที่ได้จากการดำเนินการของศูนย์ทดสอบให้เป็นบริการนำร่องและนำเสนอบริการดังกล่าวต่อสาธารณะ โดยในส่วนนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะเป็นฝ่ายดำเนินการ

"ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของการให้บริการโทรคมนาคมที่จะสามารถส่งข้อมูลขนาดใหญ่ผ่านทางโครงข่ายโทรคมนาคมไร้สายในระบบ 5G (The Fifth Generation Mobile Communication) เริ่มมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น การให้บริการโทรคมนาคมในระบบ 5G จึงเป็นอนาคตของการให้บริการโทรคมนาคมในประเทศไทยที่จะช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น ความร่วมมือระหว่างสำนักงาน กสทช. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครั้งนี้ จึงเป็นการเตรียมความพร้อมการให้บริการโทรคมนาคม เพื่อเป็นการวางรากฐานที่เข้มแข็งและรองรับการเปลี่ยนแปลงในการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่เทคโนโลยี 5G ในอนาคต" นายฐากร กล่าว

 

[caption id="attachment_359732" align="aligncenter" width="503"] mouจุฬา_181211_0005 ตั้งศูนย์ทดสอบ 5G[/caption]

ขณะที่ ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงโครงการความร่วมมือนี้ ว่า เพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศและช่วยให้สังคมไทยได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G อย่างทั่วถึง จำเป็นต้องมีการทดสอบ ทดลองเรียนรู้ และวิจัยเพื่อต่อยอดการพัฒนาบริการให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ ตลอดจนการสร้างระบบนิเวศเพื่อให้ภาคส่วนต่าง ๆ มีโอกาสทำงานร่วมกันในการทดลองและพัฒนาบริการ 5G

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากจะมีบทบาทในการสร้างบุคลากรเพื่ออนาคตของประเทศแล้ว ยังมุ่งมั่นที่จะวิจัยและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ของสังคม โดยคณาจารย์และนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายคณะวิชา การจัดตั้งศูนย์ฯ นี้ สอดคล้องกับการพัฒนาไปสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะของมหาวิทยาลัย (Smart UniverCity) และการบูรณาการศาสตร์กับภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม จะนำไปสู่การเสนอแนวทางการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมไทยทุกภาคส่วนต่อไป

ศูนย์ทดสอบนี้จะทำหน้าที่เป็นเวทีกลางในการทดสอบทดลอง 5G ที่เป็นลักษณะของ Open Platform โดยความร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้ผลิตอุปกรณ์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม ผู้ประกอบการ Startup และสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ตลอดจนหน่วยงานวิจัยของรัฐ เพื่อพัฒนาให้เกิดองค์ความรู้ของประเทศเกี่ยวกับ 5G ทั้งนี้ ศูนย์จะมีบทบาท 3 ด้าน คือ การทดสอบทดลองและวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยี การพัฒนาและทดสอบรูปแบบการใช้งาน (Use Case) และการพัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง

595959859-6-503x60