กรมโรงงานฯรุกขึ้นทะเบียนบุคลากร CSR ประจำโรงงาน

07 มี.ค. 2559 | 02:35 น.
กรมโรงงานฯ เร่งยกระดับสร้างมาตรฐานแก่โรงงานอุตสาหกรรม นำร่องจัดโครงการขึ้นทะเบียนบุคลากรเฉพาะด้านความรับผิดชอบต่อสังคมประจำโรงงาน 2559  ให้แก่โรงงานจำพวกที่ 3 ในกลุ่มโรงงานที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กว่า 3,000 โรงงานจากโรงงานจำพวกที่ 3 ที่มีทั้งหมด 68,000 โรงงาน  โดยคาดว่า สิ้นปี 59 จะมีโรงงานยื่นขอขึ้นทะเบียนบุคลากรเฉพาะไม่ต่ำกว่า 30%

ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามหลักมาตรฐานสากล ISO 26000 และ UN Global Compact  ในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (ซีเอสอาร์) เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่งจำเป็นต้องให้ความสำคัญ นอกจากจะสามารถสร้างประโยชน์ในแง่ของการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจ รวมถึงยังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีของบริษัทเมื่อถึงภาวะวิกฤติ และเป็นการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการโดยประมาทได้อีกด้วย ซึ่งการบริหารจัดการธุรกิจจะต้องทำควบคู่กับการมีคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ

ทั้งนี้ปัจจุบันปัญหาของสถานประกอบการในไทยส่วนใหญ่ คือ ขาดแคลนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในการทำกิจกรรมซีเอสอาร์ที่แท้จริง ดังนั้นกรมโรงงานฯ จึงได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม “การขึ้นทะเบียนบุคลากรเฉพาะด้านความรับผิดชอบต่อสังคมประจำโรงงาน พ.ศ. 2559” เพื่อพัฒนาบุคลากรซีเอสอาร์ประจำโรงงานจำพวกที่ 3 โดยเฉพาะโรงงานที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในกลุ่ม EIA EHIA ESA และ RA และโรงงานทั่วไปที่สนใจจากโรงงานจำพวกที่ 3 ที่มีทั้งหมด 68,000 โรงงาน ให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญตามมาตรฐานการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมของกรมโรงงานฯ  7 ประการ ได้แก่ 1.การกำกับดูแลองค์กร 2.สิทธิมนุษยชน 3.การปฏิบัติด้านแรงงาน 4.สิ่งแวดล้อม 5.การดำเนินงานอย่างเป็นธรรม 6.ประเด็นด้านผู้บริโภค และ 7.การมีส่วนร่วมพัฒนาต่อสังคมและชุมชนตามมาตรฐานของกรมโรงงานฯ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัย และป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมโดยรอบโรงงาน รวมทั้งตัวโรงงานเอง ดร.พสุ กล่าว

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวจะทำให้โรงงานอุตสาหกรรมมีมาตรฐานตามหลักสากล ISO 26000 และ UN Global Compact ในการดำเนินกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมที่ชัดเจนมากขึ้น และมีความพร้อมในการแข่งขันกับตลาดอาเซียน ตลอดจนเป็นการปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) ที่ประเทศส่วนใหญ่นำมาใช้ในการกีดกันการค้ามากขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศคู่ค้าหลัก เช่น ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะมีโรงงานที่ยื่นขอขึ้นทะเบียนบุคลากรเฉพาะไม่ต่ำกว่า  30% จากจำนวน 3,000 โรงงาน