WHAขยายลงทุนทำนิคมฯเพื่อนบ้าน ตั้งเป้าขายพื้นที่1.4พันไร่รับลูกค้าจีน

08 มี.ค. 2559 | 08:00 น.
ดับบลิวเอชเอ ขยายธุรกิจสู่เพื่อนบ้านตั้งเป้า 3 ปี ผุดนิคมอุตสาหกรรมในเวียดนามและกัมพูชา ขณะที่คลังสินค้าและโรงงานให้เช่า พร้อมเปิดที่อินโดนีเซียไตรมาส 3 ส่วนปีนี้ใช้อีก 6.5 พันล้าน พัฒนานิคม และขยายธุรกิจโลจิสติกส์ ตั้งเป้าขายพื้นที่ในนิคม 1.4 พันไร่ รองรับนักลงทุนจากจีนที่เข้ามาผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ป้อน

[caption id="attachment_36144" align="aligncenter" width="377"] น.พ.สมยศ อนันตประยูร  ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร  บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) น.พ.สมยศ อนันตประยูร
ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)[/caption]

น.พ.สมยศ อนันตประยูร ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ผู้นำด้านการให้บริการด้านคลังสินค้าและโรงงานสำเร็จรูปเปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงทิศทางการดำเนินงานว่า หลังจากที่บริษัทเข้าไปซื้อกิจการของบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด(มหาชน) ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม ด้วยมูลค่า 4.32 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 98.54 % และมีการปรับโครงสร้างธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่มธุรกิจที่สำคัญ ได้แก่ โลจิสติกส์ ระบบฐานข้อมูลดิจิตอล นิคมอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภคและพลังงาน

สำหรับการดำเนินงานหลังจากนี้ไปในระยะ 3 ปี(2559-2561) บริษัทมีแผนที่จะขยายธุรกิจไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย เวียดนาม เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย ซึ่งขณะนี้ได้เข้าไปลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์แล้ว โดยทำการก่อสร้างคลังสินค้าและโรงงานสำเร็จรูปให้เช่า ขนาด 3 หมื่นตารางเมตรแล้ว ด้วยเงินลงทุนประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงกลางปี และจะเปิดให้บริการลูกค้าได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ซึ่งการออกไปลงทุนดังกล่าว ถือเป็นการขยายตลาดเพื่อไปรองรับลูกค้าเดิมในไทยที่ใช้บริการของบริษัทอยู่แล้ว

ขณะที่ธุรกิจการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมนั้น มีแผนที่จะเข้าไปลงทุนตั้งนิคมอุตสาหกรรมบริเวณตอนเหนือของเวียดนาม ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาภาครัฐและพันธมิตรที่จะร่วมลงทุน ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะประสบความสำเร็จและเห็นความชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และน่าจะเข้าพัฒนาได้ในช่วงปลายปีนี้ และคาดว่าจะเปิดขายหรือบริการลูกค้าได้ภายในปี 2560 ส่วนขนาดพื้นที่และเงินลงทุนนั้น ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะยังอยู่ในขั้นเจรจากับทางภาครัฐของเวียดนามอยู่ ซึ่งการไปลงทุนที่เวียดนามนั้นนอกจากจะมีนิคมอุตสาหกรรมแล้ว จะต้องเข้าไปลงทุนด้านระบบสาธารณูปโภค เช่น การจัดหาน้ำดิบ และการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าควบคู่เพื่อบริการให้กับลูกค้าด้วย

ทั้งนี้ การที่บริษัทสนใจลงทุนตั้งนิคมดังกล่าว เนื่องจากทางเวียดนามมีนโยบายสนับสนุนให้โรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ในนิคม และการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างดีมากในภูมิภาคนี้ รวมทั้งมีแรงงานจำนวนมากที่จะเป็นจุดดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนได้ จึงเห็นโอกาสที่บริษัทจะขยายธุรกิจออกไปได้

"การขยายการลงทุนออกไปประเทศเพื่อนบ้านนั้น มีเป้าหมายอยู่ใน 5 ประเทศดังกล่าว แต่ในระยะ 3 ปีนี้ คงต้องดูว่าแต่ละประเทศมีความเหมาะสมกับธุรกิจประเภทไหน ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมอาจจะเหมาะกับการลงทุนในเวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศที่มีแรงงานค่อนข้างมาก ที่จะมารองรับกับการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม ขณะที่สปป.ลาว อาจจะเหมาะกับการลงทุนด้านพลังงาน เป็นต้น ดังนั้น ในช่วง 3 ปีนี้ไปน่าจะได้เห็นการเข้าไปลงทุนตั้งนิคมในเวียดนามและกัมพูชาได้"

น.พ.สมยศ กล่าวอีกว่า ส่วนการลงทุนในประเทศไทยนั้น ในปีนี้ ได้ตั้งงบประมาณไว้ที่ 6.5 พันล้านบาท โดยจะแบ่งเป็นการลงทุนในส่วนของธุรกิจโลจิสติกส์ประมาณ 3 พันล้านบาท จะมีการก่อสร้างเพื่อขยายพื้นที่คลังสินค้าและโรงงานสำเร็จรูปเพิ่มอีก 2 แสนตารางเมตร เพื่อรองรับลูกค้าในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจยังไม่ดี ผู้ประกอบการไม่กล้าที่จะลงทุนซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างโรงงานเอง

นอกจากนี้ จะใช้สำหรับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ระบบสาธารณูปโภคและธุรกิจไฟฟ้าอีกไม่เกิน 3.5 พันล้านบาท โดยในส่วนนิคมนั้นมีโครงการจะพัฒนาใน 3 โครงการ อยู่ในพื้นที่จังหวัดระยะรวมประมาณ 6.7 พันไร่ ซึ่งโครงการแรก 2 พันไร่ น่าจะเริ่มพัฒนาได้ช่วงปลายปีนี้ และจะทยอยแล้วเสร็จทั้งหมดทั้ง 3 โครงการไม่เกินปี 2564 ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีพื้นที่พร้อมให้บริการลูกค้าอยู่ราว 1 หมื่นไร่

สำหรับปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายการขายที่ดินในนิคมไว้ประมาณ 1-1.4 พันไร่ จากปีก่อนขายได้ 1.043 พันไร่ ซึ่งการที่ตั้งยอดขายใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจในประเทศจะไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากเห็นว่านักลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาจะมองการลงทุนในระยะยาว ภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่จึงไม่ได้เป็นปัจจุบันต่อการตัดสินใจลงทุนมากนัก โดยเฉพาะที่ผ่านมาบริษัทได้มีการเจรจากับนักลงทุนรายใหญ่จากจีน มีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนด้านปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ซึ่งจะใช้พื้นที่ไม่ต่ำกว่า 50 ไร่ขึ้นไป

อีกทั้ง การที่บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด จากจีน ได้เข้ามาลงทุนโรงงานประกอบรถยนต์ภายใต้แบรนด์"เอ็มจี"ในนิคมของบริษัทอยู่แล้ว โดยมียอดผลิตรถยนต์ 2 แสนคันต่อปี จะเป็นตัวช่วยให้ผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จากจีน ตามมาลงทุน เพื่อป้อนชิ้นส่วนยานยนต์ให้กับบริษัทดังกล่าว ทางบริษัทจึงคาดว่าจะได้รับอานิสงส์ในส่วนนี้ด้วย ซึ่งขณะนี้มองว่ารัฐบาลจีนกำลังสนับสนุนให้ผู้ประกอบการภายในประเทศออกมาลงทุนมากขึ้น ดังนั้นพื้นที่นิคมของบริษัทจึงเป็นเป้าหมายหนึ่งของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุน ซึ่งปีนี้ตั้งเป้ารายได้ของกลุ่มอยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135 วันที่ 6 - 9 มีนาคม พ.ศ. 2559