‘เอไอเอส-ทรู’ฟอร์มสวย นักวิเคราะห์ สแกนหุ้น 4 จีกองทุน DIF เจ๋งปันผล 7-8%

08 มี.ค. 2559 | 02:30 น.
นักวิเคราะห์สแกนหุ้น 4 จี บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ มอง "ทรู" น่าสนใจ เหตุเป็นเจ้าของคลื่นความถี่แบบเต็มรูปแบบ ทำให้ไม่ต้องลงทุนมาก เชื่อภายใน 2 ปีดันฐานลูกค้าได้เทียบเท่าเอไอเอส ขณะที่บล.กสิกรไทย ยังมั่นใจเอไอเอส เชื่องัดสารพัดกลยุทธ์รักษาความเป็นผู้นำตลาด อีกทั้งจ่ายปันผล 100%

[caption id="attachment_36211" align="aligncenter" width="503"] ราคาหุ้น ADVANCE ย้อนหลัง 6 เดือน ราคาหุ้น ADVANCE ย้อนหลัง 6 เดือน[/caption]

[caption id="attachment_36212" align="aligncenter" width="503"] ราคาหุ้น ADVANCE ย้อนหลัง 6 เดือน ราคาหุ้น TRUE ย้อนหลัง 6 เดือน[/caption]

นางสาวมยุรี โชวิกรานต์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) เปิดเผยภายในงานสัมมนา "โลกการเงินใหม่ในยุค 4G" ภายใต้หัวข้อ "เปิดหุ้นเด็ด 4 เด้งในยุค 4G" เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ต่อมุมมองหุ้นกลุ่มไอซีที ว่า กลุ่มหุ้นที่เกี่ยวข้องกับ 4 จี ก็คงเป็นกลุ่มของไอซีที ซึ่งสามารถแยกออกมาได้ 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ราย คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (บมจ.) (ADVANC), บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) และบมจ. ทรู คอเปอร์เรชั่น (TRUE) โดยอาจจะมีผู้เล่นรายใหม่เพิ่มเข้ามาก็คือ บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) และ 2.กลุ่มผู้วางระบบ ซึ่งจะได้งานจากการเกิดขึ้นของ 4จี

ส่วนกลุ่มผู้วางระบบว่าจะได้งานมากน้อยเพียงใด โดยต้องมีความเข้าใจก่อนว่าการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจาก 3จี ไปสู่ 4 จีเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนอุปกรณ์บนเสาโทรคมนาคม ซึ่งอาจจะมีการลงเสาโทรคมนาคมเพิ่มเติมขึ้นมาในบางจุด แต่จุดหลัก คือ การเปลี่ยนอุปกรณ์ซึ่งผู้ที่จะให้บริการในการเปลี่ยนอุปกรณ์ก็อาจจะมีมูลค่างานไม่มาก เพราะเป็นการให้บริการครั้งเดียวแล้วจบ

เพราะฉะนั้นการที่หุ้นกลุ่มนี้ปรับขึ้นมาในบางตัว และมีการระบุถึงโอกาสที่จะได้งานจากการเกิด 4จี ในรอบนี้อาจจะดูมากเกินไปเล็กน้อย โดยราคาหุ้นอาจจะมีการเก็งกำไรในช่วงก่อนหน้านี้ แต่อยากให้นักลงทุนรอดูสถานการณ์ก่อนสักระยะว่ากลุ่มผู้วางระบบจะได้งานจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือมากน้อยแค่ไหน ช่วงนี้อาจจะต้องระมัดระวังไปก่อน

สำหรับกลุ่มของผู้ให้บริการโทรศัพท์จากจำนวนทั้งหมดนั้น อาจจะแบ่งออกเป็นได้ 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มผู้ให้บริการปัจจุบันเดิม ซึ่งฝ่ายวิจัยบล.กิมเอ็งฯ มองว่าทรูโดดเด่นในด้านการเป็นผู้ให้บริการความถี่ครบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นคลื่น 800 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์

ขณะที่ผู้ให้บริการที่มีคลื่นยาวก็จะต้องลงทุนในเรื่องของอุปกรณ์ติดตั้งถี่ขึ้น เพราะฉะนั้นทรูมีทุกรูปแบบ ดังนั้น รูปแบบของเงินลงทุนก็จะมีความได้เปรียบมากขึ้น อย่างที่ผู้บริหารของทรูเองก็ให้ความเห็นว่าคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ จะครอบคลุมทั้งประเทศช่วงกลางปีนี้ เพราะฉะนั้นจึงถือว่าทรูเป็นผู้ให้บริการ 4จีแอลทีอี (4G LTE) อย่างแท้จริงในแง่คุณภาพของคลื่น แต่คงต้องขึ้นอยู่กับว่าทรูจะสามารถหาลูกค้าได้มากน้อยเพียงใดและเร็วแค่ไหน เพราะอุปกรณ์ครบหมดเหลือแค่เพียงผู้ที่เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น

"คาดว่าระยะเวลาประมาณ 18-24 เดือน ทรูน่าจะมีผู้ใช้บริการมากกว่าดีแทคจนก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งกับเอไอเอส" นางสาวมยุรี กล่าวและว่า

ส่วนเอไอเอสซึ่งเป็นผู้ให้บริการที่มีฐานลูกค้ามากที่สุดนั้น ไม่ได้สัมปทานคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ มองว่าเม็ดเงินที่ประหยัดงบประมาณได้จากการไม่ได้รับใบอนุญาตดังกล่าวน่าจะถูกนำมาใช้ในการวางโครงข่ายให้มากขึ้นและถี่ขึ้น โดยเอไอเอสมีคลื่น 2100 และคลื่น 1800 ที่เป็นคลื่นยาว เพราะฉะนั้นการติดตั้งอุปกรณ์จะต้องดำเนินการแบบถี่มากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในการเชื่อมต่อสัญญาณระหว่างจุดต่อจุด จึงต้องใช้เงินลงทุนที่มากพอสมควร

ทั้งนี้ในแง่ของภาพการลงทุนคงจะเห็นภาพที่แตกต่างกัน โดยมองว่าเอไอเอสน่าจะยังรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดที่เป็นอันดับ 1 ได้ แต่จะเป็นการรักษาตลาดที่ต้องแลกมาด้วยเงินที่มากพอสมควร ขณะที่ทรูเองก็พยายามในฐานะที่มีคลื่นความถี่ที่ดีที่สุดว่าจะสามารถดึงลูกค้าจากเอไอเอสได้เร็วและมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นจุดที่มองว่าเอไอเอสอาจจะมีความเสี่ยงที่น้อยกว่า มีการจ่ายปันผล 100% ของกำไร ในขณะที่ทรูอาจจะมีประเด็นเรื่องของการเพิ่มทุน หลังจากนั้นงบดุลก็น่าจะมีภาวะที่แข็งแรงมากขึ้น และพร้อมที่จะลงสนามในการแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดอีกรอบหนึ่ง

สำหรับมุมมองต่อราคาหุ้นนางสาวมยุรี กล่าวนักลงทุนที่ต้องการหุ้นที่มีความเสี่ยงน้อยแต่มีปันผลระหว่างทางก็คงจะต้องเจาะจงไปเอไอเอส ส่วนผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูงและยังมองว่าทรูน่าจะมีศักยภาพในการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดจนไปถึงระดับใกล้เคียงกับเอไอเอสในช่วง 2 ปีข้างหน้า ทรูก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ด้านผู้ให้บริการรายใหม่อย่างจัสมินนั้น อาจจะต้องรอดูไปอีกสักระยะว่าภายในวันที่ 21 มีนาคมจะสามารถนำเงินมาชำระในส่วนแรกประมาณ 8 พันล้านบาทและแบงก์การันตีได้หรือไม่ โดยที่ยังเป็นจุดที่มีความก้ำกึ่งพอสมควร เพราะเงื่อนไขที่ธนาคารกรุงเทพได้ยื่นข้อเสนอกลับมาให้ดำเนินการเรื่องแผนธุรกิจใหม่ ซึ่งเชื่อว่าหนึ่งในเงื่อนไขน่าจะมีเรื่องของการเพิ่มทุน โดยจะทำให้ระยะเวลาในการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นมีความกระชั้นชิด และอาจมีความเสี่ยงที่จะเลยระยะเวลาที่กำหนดได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นอาจจะต้องรอดูสถานการณ์ไปก่อนสำหรับจัสมิน

นายกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการสายงานวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า หุ้นเอไอเอสน่าสนใจ เพราะจะต้องใช้กลยุทธ์ทางการตลาดอย่างเต็มที่เพื่อรักษาความเป็นผู้นำ สำหรับอีกกลุ่มที่น่าสนใจที่สามารถได้ทั้งเงินปันผลและอัตราการเติบโตด้วยก็ คือ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิตอล (DIF)
"การลงทุนใน DIF จะเป็นการลงทุนในธุรกิจ 4 จีที่ดูปลอดภัยในระดับหนึ่ง และน่าจะปลอดภัยที่สุด" นายกวีกล่าวและว่า

โดย DIF อาจจะให้ผลตอบแทนที่เอไอเอสเคยจ่ายในอดีตประมาณ 7-8% ต่อปี เพราะไม่ว่าจะอย่างไรทรูก็มีสัญญาที่จะต้องจ่ายค่าเช่าให้กับ DIF ซึ่งก็จะเกิดในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้น DIF ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการเรื่องเงินปันผลเหมือนเอไอเอสแต่ไม่กล้าที่จะลงทุนในเอไอเอส หรือต้องการที่จะได้โกรสแบบฟลุกๆ ไม่ต้องขนาดทรูแต่ก็โตไปกับทรูได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135 วันที่ 6 - 9 มีนาคม พ.ศ. 2559