LTV เอื้อรายเล็กแข่งยักษ์อสังหา วางดาวน์เท่ากันลดช่องว่าง

10 ธ.ค. 2561 | 04:02 น.
มาตรการ ธปท. บวกดอกเบี้ยขาขึ้นยังเป็นความกังวลใหญ่ปี 62 ขณะรายกลาง-เล็ก สะท้อน ถือเป็นโอกาส

นายชยพล หรรรุ่งโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อัลติจูด ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์  เปิดเผยถึงภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยว่าในช่วงปีที่ผ่านมา ผู้พัฒนาอสังหาฯ ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายเรื่อง เพราะแม้ตลาดมีอัตราการขยายตัวต่อเนื่อง แต่ในบางเซ็กเมนต์ยังต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะในกลุ่มคอนโดมิเนียม ที่มีจำนวนซัพพลายใหม่มากกว่าความต้องการซื้ออยู่มาก โดยปัจจุบันตลาดมีอัตราขายออกอยู่ที่ 75% จากจำนวนหน่วยใหม่เข้ามาประมาณ 170,000 หน่วย อย่างไรก็ตาม เป็นกังวลว่าในปี 2562 ธุรกิจอสังหาฯ จะมีทิศทางไม่แน่นอนมากขึ้นเพราะแม้มีปัจจัยสนับสนุนจาก เศรษฐกิจมหภาคและการเมืองเป็นพื้นฐานที่ดีรองรับ แต่จากกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมเปลี่ยนเงื่อนไขการพิจารณาปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย (แอลทีวี) เพิ่มเงินดาวน์ ลดเงินกู้ลงนั้น จะทำให้กระทบต่อลูกค้าในบางเซ็กเมนต์ ลดความสามารถในการซื้อของลูกค้า ยกเว้นเพียงตลาดระดับราคากลางบน-บนขึ้นไป ที่ยังมีแนวโน้มดี เนื่องจากการเพิ่มเงินดาวน์มีผลต่อตลาดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะปกติมีการเรียกเก็บดาวน์สูง 20-30% อยู่ก่อนแล้ว

[caption id="attachment_358050" align="aligncenter" width="335"] ชยพล หรรรุ่งโรจน์ ขวัญชัย ยิ่งเจริญถาวรชัย ชยพล หรรรุ่งโรจน์                                  ขวัญชัย ยิ่งเจริญถาวรชัย[/caption]

ทั้งนี้ แม้มาตรการดังกล่าวจะมีผลกระทบ แต่เป็นข้อดีในระยะยาว และถือเป็นโอกาส ช่วยเพิ่มการแข่งขันให้กับผู้พัฒนาอสังหาฯรายกลางและรายเล็ก ให้สามารถสู้กับรายใหญ่ได้ หลังจากที่ผ่านมา มีช่องว่างในการแข่งขันค่อนข้างสูง การเก็บเงินดาวน์น้อยในรายใหญ่กดให้รายกลาง-รายเล็กต้องปฏิบัติตาม ทั้งๆที่มีข้อจำกัดด้านความแข็งแกร่งทางการเงินต่างกันโดยมาตรการใหม่ ของ ธปท.ที่ว่างกฎเกณฑ์การเก็บเงินดาวน์ในระดับเดียวกัน จะทำให้เกิดภาพช่องว่างดังกล่าวน้อยลง

“สมัยก่อน รายใหญ่ทุนเยอะ ลูกค้าไม่วางดาวน์ หรือวาง 5% เขาก็ไม่เดือดร้อน เพราะเงินทุนเยอะ แต่ในรายเล็ก ด้วยต้นทุนเงินที่แพง แบงก์ปล่อยกู้ก็น้อย พอมีมาตรการนี้ เท่ากับทุกคนทุกบริษัทเหมือนกัน อยู่ในกฎเกณฑ์เดียวกัน สิ่งที่เกิดขึ้นมาเป็นกรอบกติกาใหม่ จะไม่ได้ขึ้นกับต้นทุนเงินที่ถูกกว่า แล้วจะทำอะไรก็ได้อย่างเคย”

ขณะที่ นายขวัญชัย ยิ่งเจริญถาวรชัย กรรมการบริหาร บริษัท อัลติจูด ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวเสริมว่า ในฐานะเคยเป็นทั้งนักลงทุนอสังหาฯ และผู้พัฒนาในปัจจุบัน พบในแต่ละปีตลาดมีการซื้อ-ขาย อยู่ที่ 5 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าแม้ปีหน้าตลาดอาจจะสะดุดไปบ้าง จากเรื่องแอลทีวี และดอกเบี้ยขาขึ้น ที่ทำให้ความสามารถในการซื้อน้อยลงไป แต่ตลาดน่าจะยังเติบโตได้ แต่เป็นไปในระดับที่ชะลอตัว ส่วนมูลค่าหายไปไม่มาก เนื่องจากกลุ่มที่อยู่อาศัยเป็นปัจจัย 4 จำเป็นต้องมี และยังมีนักลงทุนที่สนใจ ขณะที่ผู้พัฒนาสามารถป้องกันความเสี่ยงได้ โดยการพิจารณาถึงทำเลที่ตั้งที่มีแนวโน้มน่าสนใจ และศึกษาถึงดีมานด์ในตลาดที่ยังขาดแคลนซัพพลายเป็นหลัก

หน้า 29-30 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,425 วันที่ 9-12 ธันวาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว