โค้งสุดท้ายรัฐบาล 'ฉัตรชัย' เร่งแผนแม่บทน้ำ 20 ปี

06 ธ.ค. 2561 | 06:12 น.
"บิ๊กฉัตร" ลุยแผนแม่บทน้ำ 20 ปี เตรียงชงเข้าที่ประชุม กนช. เห็นชอบ 19 ธ.ค. นี้ หวังเป็นคัมภีร์ด้านน้ำของประเทศ ครอบคลุม 6 ด้าน สู่เป้าหมายการยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำแล้ง แก้ปัญหาน้ำท่วมในเขตพื้นที่เศรษฐกิจอีอีซี-แหล่งท่องเที่ยว

409575

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันนี้ (6 ธ.ค. 61) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2561 เปิดเผยว่า ในที่ประชุมได้เห็นชอบร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดทำร่างแผนดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานให้สอดรับและครอบคลุมกับ 3 แผนหลักของประเทศ ประกอบด้วย 1.แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 5 การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ


ประชุมคณะอนุฯครั้งที่2 v20

ประกอบด้วย พัฒนาการจัดการน้ำเชิงลุ่มน้ำทั้งระบบ เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ เพิ่มผลิตภาพของน้ำทั้งระบบในการใช้น้ำอย่างประหยัด รู้คุณค่า และสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้น้ำให้ทัดเทียมกับระดับสากล และอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วประเทศ

2.แผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรน้ำ อาทิ การบริหารเชิงพื้นที่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ การจัดการระบบเส้นทางน้ำ

3.เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) โดยร่างแผนแม่บทฯน้ำสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 6 การสร้างหลักประกัน ว่า จะมีการจัดให้มีน้ำและสุขอนามัยสำหรับทุกคนและมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบในวันที่ 19 ธ.ค. นี้ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนแม่บทฯ โดยเร่งด่วนต่อไป


ประชุมคณะอนุฯครั้งที่2 V10

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผยว่า ร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ที่ได้มีการปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จาก 12 ปี (2558-2569) เป็น 20 ปี (2561-2580) เพื่อให้เป้าหมายของการพัฒนาสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ เป้าหมายการพัฒนาประเทศ มีความชัดเจน และสามารถนำไปขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย แผนแม่บท 6 ด้าน ได้แก่ แผนแม่บทด้านที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งมีเป้าหมายขยายเขต เพิ่มประสิทธิภาพระบบประปา 20,034 หมู่บ้าน พัฒนาประปาเมืองและเขตเศรษฐกิจ 9,816 แห่ง ครอบคลุม 4.5 ล้านครัวเรือน น้ำประปาและน้ำดื่มได้มาตรฐาน 75,032 หมู่บ้านทั่วประเทศ


ฝนหลวง22052561_๑๘๑๒๐๖_0008

แผนแม่บทด้านที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต อาทิ เพิ่มประสิทธิภาพโครงการแหล่งน้ำ และระบบส่งน้ำเดิม ปริมาณน้ำ 717 ล้าน ลบ.ม. การจัดหาน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน พื้นที่รับประโยชน์ 14 ล้านไร่ การพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ/ระบบส่งน้ำใหม่ พื้นที่ชลประทาน 18 ล้านไร่ พัฒนาระบบผันน้ำและระบบเชื่อมโยงแหล่งน้ำ ปริมาณน้ำ 2,596 ล้าน ลบ.ม. แผนแม่บทด้านที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย โดยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ 562 แห่ง ลำน้ำธรรมชาติ 1,234 แห่ง ระยะทาง 5500 กม. ป้องกันอุทกภัยในพื้นที่ชุมชนเมือง 764  แห่ง พื้นที่รับประโยชน์ 1.7 ล้านไร่ ผังน้ำ 25 ลุ่มน้ำ บรรเทาอุทกภัยเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ


กรมฝนหลวงฯ 29361_๑๘๑๒๐๖_0007

แผนแม่บทด้านที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ได้แก่ การป้องกันและลดการเกิดน้ำเสียที่แหล่งกำเนิด เพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดและควบคุมการระบายน้ำเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมในแหล่งน้ำธรรมชาติ 101 แห่ง การรักษาสมดุลของระบบนิเวศ 13 ลุ่มน้ำหลัก การฟื้นฟูแม่น้ำ ลำคลอง 25 ลุ่มน้ำหลัก และคูคลองสาขา แผนแม่บทด้านที่ 5 การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ เป้าหมายเพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม 3.5 ล้านไร่ การป้องกันและลดการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ต้นน้ำ 0.45 ล้านไร่ และแผนแม่บทด้านที่ 6 การบริหารจัดการ โดยดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย ตั้งองค์กรด้านการบริหารจัดการน้ำ พัฒนาระบบฐานข้อมูล การศึกษา วิจัย และพัฒนาแนวทางการจัดการทรัพยากรน้ำ จัดทำแผนบริหารจัดการทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต รวมถึงการสร้างความร่วมมือด้านน้ำระหว่างประเทศ เป็นต้น


สถานการณ์น้ำเพชรบุรี_๑๘๑๒๐๖_0013

"การจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ได้มีการนำประเด็นการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรน้ำ ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ มาพิจารณาเพิ่มเติม อาทิ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ การพัฒนาภาคกลางตอนล่าง และกรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครที่ทันสมัย ทำให้มีการเคลื่อนย้ายประชากรเข้าสู่เมือง จำเป็นต้องจัดการน้ำต้นทุนรองรับการขยายตัวของเมืองหลัก จัดทำข้อตกลงในการจัดสรรน้ำ การวางแผนการจัดการน้ำในพื้นที่ภาคกลางตอนล่างในอนาคต การแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในแหล่งท่องเที่ยว และจัดการน้ำท่วมในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แนวโน้มจะมีความแปรปรวน และรุนแรงมากขึ้นทำให้ต้องจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำแบบยืดหยุ่น มีแหล่งน้ำหลักและแหล่งน้ำสำรอง การเชื่อมโยงกับระบบชลประทาน การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยธรรมชาติ การบริหารพื้นที่น้ำท่วม และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบด้วย" นายสมเกียรติ กล่าว


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว