ญี่ปุ่นเกาะติดSECเชื่อม2ทะเล เส้นทางรถไฟใหม่ระนอง-ชุมพร จุดเปลี่ยนการขนส่งโลก

08 ธ.ค. 2561 | 02:00 น.
ญี่ปุ่นสนใจโครงการระเบียงเศรษฐกิจใต้ สร้างทางรถไฟชุมพร-ระนอง เชื่อมการค้า 2 ฝั่งทะเลฟื้นเส้นทางสายไหมใหม่ ชี้หากเกิดได้จริงจะเป็นจุดเปลี่ยนการค้าการขนส่งของโลกในอนาคต

sec4
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่สำนักงานหอการค้าจังหวัดระนอง นายชินอิจิ อาสาเบะ (Shinichi Asabe) ผู้สื่อข่าว Yohoo-News Japan เข้าพบนายธีระพล ชลิศราพงศ์ ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เพื่อสัมภาษณ์และบันทึกเทปผ่านล่ามภาษาญี่ปุ่น ในหัวข้อการพัฒนาประเทศโดยการขนส่งสินค้าเชื่อม 2 ฝั่งทะเล

นายชินอิจิ อาสาเบะ กล่าวว่า ระนองอยู่บนเส้นทางขนส่งสินค้าของโลกมาแต่อดีต หรือเส้นทางสายไหมทางทะเล แต่ภายหลังลดบทบาทลง สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทหารญี่ปุ่นสร้างทางรถไฟชุมพร-ระนอง เพื่อยกกำลังพลเข้าเมียนมา แต่ยกเลิกไปหลังสงคราม จนเมื่อกลางปี 2561 ที่ผ่านมารัฐบาลไทยหยิบยกทางรถไฟสายนี้ขึ้นมาอีกครั้ง ข่าวนี้สร้างความสนใจให้กับรัฐบาลและนักลงทุนญี่ปุ่นอย่างมาก เนื่องจากจะเป็นจุดเปลี่ยนของการค้าการขนส่งของโลกในอนาคต หากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจริงและสำเร็จตามแผนที่กำหนดไว้

MP21-3424-A

นายพรเทพ ผ่องศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวว่า การประชุมครม.สัญจรภาคใต้กลุ่ม จังหวัดชุมพร ระนอง และสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 20-21 สิงหาคม 2561 เห็นชอบหลักการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor-SEC) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ โดยมีแผนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญคือ โครงการรถไฟทางคู่เชื่อมระหว่างจังหวัดชุมพร-ระนอง-สุราษฎร์ธานี และโครงการพัฒนาท่าเรือนํ้าลึกที่จังหวัดระนอง และโครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะต่อจากหัวหินไปถึงจังหวัดชุมพรและสุราษฎร์ธานี

นายธานี นันทวัฒนาศิริชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนขนส่ง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การศึกษาความเหมาะสมเส้นทางรถไฟชุมพร - ท่าเรือนํ้าลึกระนอง ระยะทางประมาณ 125 กิโลเมตร เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงการขนส่งในภูมิภาคและนอกภูมิภาคเข้าด้วยกัน และเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคเอเชียต่อไป จากความได้เปรียบด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทย รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยว 2 ฝั่งทะเล เพิ่มทางเลือกการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่ สำหรับพื้นที่ศึกษาของโครงการครอบคลุมบริเวณแนวเส้นทางเลือกของโครงการเบื้องต้น 4 แนวเส้นทาง

ด้านนายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง อดีตประธานกรรมการหอการค้า จังหวัดระนอง กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคเอกชนร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย มุ่งผลักดันท่าเรือระนองให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางทะเลฝั่งอันดามัน เชื่อมโยงโครงข่ายโลจิสติกส์ทางทะเลจากอาเซียนสู่กลุ่มประเทศ BIMSTEC หากมีระบบรางหรือเส้นทางรถไฟเชื่อมถึงท่าเรือระนอง เชื่อว่าสายการเดินเรือขนส่งสินค้าจะฟื้นกลับมาได้อีกครั้ง โดยการขนส่งจากแหลมฉบังมาพักถ่ายที่ศูนย์คอนเทนเนอร์แลนด์ยาร์ดที่ชุมพร ขนส่งขึ้นรถไฟมาท่าเรือระนอง เป็นโครงการเชื่อมโยงการขนส่ง 2 ฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง และลดต้นทุนการขนส่งผ่านท่าเรือสิงคโปร์ที่ราคาแพงและแออัด

ท่าเรือระนองจึงเป็นจุดสำคัญที่จะพัฒนาต่อยอดการเชื่อมโยงโครงข่ายโลจิสติกส์อื่นๆ ต่อไป ซึ่งโครงการนี้เป็นไปได้มากกว่าเรื่องคอคอดกระมาก

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,424 วันที่ 6-8 ธันวาคม 2561

[caption id="attachment_358383" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]