"นิสสัน ลีฟ" 1.99 ล้าน ... แพงที่ภาษี หรือ ตำแหน่งการตลาด

04 ธ.ค. 2561 | 05:35 น.
ประเด็น "นิสสัน ลีฟ" รถพลังไฟฟ้า "อีวี" ที่ตั้งราคาขาย 1,990,000 บาท หลายคนบอกเป็นราคาที่สูงไป สำหรับตัวผมเองที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของนิสสันก็มองว่าสูงไปจริง ๆ

เรามาแยกมองกันทีละประเด็นนะครับ อย่างที่ผมเคยบอกไปในงานเขียนที่ผ่าน ๆ มา "นิสสัน ลีฟ" ถ้านำเข้ามาขายในไทยจะเสียภาษีนำเข้า 20% ภายใต้กรอบของเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น JTEPA ซึ่งถือเป็นอัตราที่ต่ำกว่าปกติ เพราะรถเครื่องยนต์ทั่วไป (ICE - Internal Combustion Engine) จะโดนภาษีนำเข้า 80% (แต่ตัวเลขนี้จะเป็น 0% ทันที ถ้านิสสันยืนยันกับรัฐบาลว่า มีแผนลงทุนประกอบ อีวี รุ่นนี้ในไทย)

จากนั้นเมื่อนำรถเข้ามาแล้ว ลีฟจะโดนภาษีสรรพสามิตอีก 8% ซึ่งเป็นอัตราของรถอีวีและรถไฮบริดที่ปล่อยไอเสียต่ำกว่า 100 กรัมต่อกิโลเมตร แต่ถ้าประกอบในประเทศจะเสียภาษีสรรพสามิตเพียง 2% ต่ำกว่า "โตโยต้า คัมรี่ ไฮบริด" ที่เสียอยู่ 4%ในตอนนี้เสียอีก

 

[caption id="attachment_356710" align="aligncenter" width="503"] (ซ้าย) ยูตากะ ซานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทนิสสัน มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด (ขวา) นายอันตวน บาร์เตส ประธาน นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย (ซ้าย) ยูตากะ ซานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทนิสสัน มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด (ขวา) นายอันตวน บาร์เตส ประธาน นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย[/caption]

นอกเหนือจากภาษีนำเข้าและภาษีสรรพสามิตแล้ว ลีฟยังจะต้องเจอ VAT อีก 7% และภาษีมหาดไทยอีก 10% (จากภาษีสรรพสามิต)

ทั้งหมดนี้เป็นโครงสร้างภาษีที่ลีฟต้องโดนเหมือนรถหลายรุ่นหลายคัน แต่ถ้าดูให้ดีจะเห็นว่า "นิสสัน ลีฟ" ได้สิทธิ์ดีกว่ารถยนต์เครื่องยนต์ปกติ ทั้งภาษีนำเข้าและภาษีสรรพสามิต

จริงอยู่ที่ภาษีสรรพสามิตไม่ได้ต่ำที่สุด เพราะยังเป็นการนำเข้า แต่ก็ต่ำกว่ารถยนต์นั่งทั่วไป (อีโคคาร์ว่าแน่ ๆ ยังโดน 12-17% และรถเก๋งทั่ว ๆ ไปต้องโดน 20% ขึ้นไป ตามการปล่อยไอเสีย)

ดังนั้น การด่ารัฐบาลว่า ไม่สนับสนุนทางด้านภาษี ผมว่าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมนัก

แน่นอน ถ้ารัฐบาลอยากให้รถประเภทนี้เกิดจริงต้องสนับสนุนในด้านอื่น ๆ อีกหลายมิติ (ปัจจุบันกำลังทำอยู่) เพียงแต่รัฐบาลย้ำว่า ถ้าคุณอยากได้สิทธิประโยชน์เต็มเพดาน ต้องมาประกอบในประเทศเท่านั้น (เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต่อไป) ซึ่งค่ายรถจะได้ทั้งภาษีสรรพสามิตต่ำและได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ประจำปี คิดเป็นมูลค่าพันล้านบาทต่อปี

อีกประเด็นที่ผมตั้งข้อสังเกต คือ ราคารถญี่ปุ่นเครื่องยนต์สันดาปภายในทั่วไป เมื่อนำเข้ามาขายไทยและโดนภาษีเต็มพิกัดทุกตัว (เช่น ภาษีนำเข้า 80%) ราคาขายจริงในไทยก็คูณสามจากราคาขายปลีกที่ญี่ปุ่นได้ ซึ่งเป็นหลักคร่าว ๆ ที่คำนวณกันมานานแล้ว

แต่ราคาลีฟที่ขายในญี่ปุ่นเมื่อแปลงเป็นเงินไทยแล้ว คือ 1 ล้านบาท ดังนั้น ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนเลย เมื่อนำเข้ามาไทยก็ควรจะขายราคา 3 ล้านบาท

ด้วยสิทธิพิเศษด้านภาษีอย่างน้อย 2 ตัว คือ ภาษีนำเข้าและภาษีสรรพสามิตอัตราพิเศษ ทำให้ราคาต่ำลงและนิสสัน เลือกมาเคาะที่ 1.99 ล้านบาท


LEAF1 LEAF2 LEAF3 LEAF4

"นิสสัน ลีฟ" ได้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ดีกว่ารถเครื่องยนต์ปกติมากมายหลายเท่า แต่ถามว่า ตั้งราคาขายต่ำกว่านี้ได้ไหม ผมว่าได้ เพียงแต่ นี่คือ นโยบายการตั้งราคาเพื่อทำธุรกิจ

ถ้าตั้งราคาขาย 1.5-1.6 ล้านบาท ผมเชื่อว่าคนธรรมดาอย่างผม หรือ คนทั่วไปที่ยังทำงานกันหัวหกก้นขวิด ต่อให้มีกำลังซื้อราคานี้ ก็ยังไม่เลือก "ลีฟ" เพราะจะตั้งธงว่า ซื้อรถเครื่องยนต์เดิม ๆ ราคาถูกกว่า แล้วเอาเงินที่เหลือไปเติมน้ำมันได้สบายหลายปี หรือ คิดว่าเพิ่มเงินซื้อรถรุ่นอื่น ๆ ที่เท่กว่า และไม่ต้องกังวลเรื่องระยะทางการวิ่งของรถพลังไฟฟ้า ซึ่งคนกลุ่มนี้ยังไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่นิสสันอยากขาย

ดังนั้น การตั้งราคาเกือบ 2 ล้านบาท ได้กำไรต่อคันมากกว่าแน่ ๆ และมุ่งไปยังตลาดที่สูงกว่า หวังกลุ่มคนที่ซื้อใช้เพื่อเป็นรถคันที่ 2, 3 ของบ้าน คนที่พอมีศักยภาพด้านการเงิน แล้วชื่นชอบในเทคโนโลยี คนที่ขับเบนซ์ BMW ปอร์เช่ อยู่แล้ว ซื้ออีกคันเอาไว้ขับสบาย ๆ ใครเห็นก็ว่าดูดีมีฐานะ ได้ภาพลักษณ์ (เพราะใคร ๆ ก็รู้ว่า ลีฟเป็นรถราคาสูง และไม่กินน้ำมัน ไม่ปล่อยมลพิษ)

ค่ายรถเขาค้าขายต้องทำกำไร แล้วเขาก็รู้ว่าเขาต้องขายใครครับ

อ่อ ผมขอเพิ่มเติมไว้อีกนิด จีนกับไทยก็ทำข้อตกลงเรื่องเขตการค้าเสรีไว้เช่นกัน และหนึ่งในสินค้าที่นำเข้ามาขายในไทยโดยไม่เสียภาษีนำเข้า หรือ เป็น 0% ทันทีวันนี้เลย คือ รถพลังไฟฟ้า "อีวี" ... รอดูเกมใหม่ กระดานใหญ่ที่น่ากลัวกว่า


โดย กรกิต กสิคุณ

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก