‘ไอคอนสยาม’ปั้นมัลติแบรนด์ เนรมิต‘ไอคอนคราฟต์’สโตร์สินค้าไทยเจาะทัวริสต์

01 ธ.ค. 2561 | 14:07 น.
“ไอคอนสยาม” เนรมิตโซน “ไอคอนคราฟต์” มัลติแบรนด์ สโตร์รวมสินค้าจากศิลปิน ดีไซเนอร์ ผู้ประกอบการไทยกว่า 300 แบรนด์ ทั้งแฟชั่นเสื้อผ้า ของตกแต่งบ้าน อาหารแห้ง สินค้าสุขภาพและความงาม วางขายบนพื้นที่กว่า 2,500 ตร.ม. มั่นใจสร้างรายได้กว่า 160 ล้านบาทต่อปี

นางวรางคณา สุเมธาศร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจค้าปลีก 2 บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด ผู้บริหาร “ไอคอนสยาม” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทมีแผนเดินหน้าสร้างแบรนด์ไอคอนคราฟต์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง หลังเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่ามีลูกค้าให้ความสนใจเข้าไปชมและเลือกซื้อสินค้าต่อเนื่อง แต่ไอคอนสยามมีพื้นที่กว้างขวางและมีแม็กเนตหลากหลาย ทำให้ลูกค้าไม่สามารถเดินชมและเลือกซื้อสินค้าได้ทั่วถึง ดังนั้นจึงต้องสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ “ไอคอนคราฟต์” พร้อมทั้งจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้า

[caption id="attachment_355321" align="aligncenter" width="336"] วรางคณา สุเมธาศร วรางคณา สุเมธาศร[/caption]

 โดยกลยุทธ์การทำตลาด บริษัทเน้นเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวโดยประชาสัมพันธ์พร้อมจัดกิจกรรมโปรโมชันผ่านสื่อออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นอินสตาแกรมเฟซบุ๊ก เว็บไซต์ ของไอคอนสยาม และพันธมิตรต่างๆ พร้อมมอบสิทธิพิเศษให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเลือกซื้อสินค้า รวมทั้งทำกิจกรรม Like & Share เมื่อมาถึงไอคอนคราฟต์ ก็จะได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ มากมาย

ICONCRAFT_๑๘๑๑๒๐_0007

“ไอคอนคราฟต์ เป็นโซนที่รวมสินค้าจากความคิดสร้างสรรค์และฝีมือของศิลปิน ดีไซเนอร์ และผู้ประกอบการคนไทยกว่า 300 แบรนด์รวมกว่า 5,000 ชิ้น บนพื้นที่กว่า 2,500 ตร.ม. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานแฮนด์เมด ทำให้สินค้ามีจำนวนจำกัด และไม่ซํ้ากัน ถือเป็นจุดเด่นที่แตกต่างจากสินค้าแบรนด์อื่นๆ โดยสินค้ามีระดับราคาตั้งแต่ 69 บาท จนถึงสูงกว่า 1 แสนบาท ทำให้มีความหลากหลายและรองรับกลุ่มลูกค้าได้ทุกระดับ”

ICONCRAFT_๑๘๑๑๒๐_0024

อย่างไรก็ดี แม้จะเพิ่งเปิดให้บริการ แต่การสร้างการรับรู้เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะกระแสการเปิดตัวของไอคอนสยาม ถือเป็นการจุดพลุให้คนทั่วโลกได้รู้จัก จึงอาศัยช่วงเวลานี้ในการสร้างแบรนด์ไอคอนคราฟต์ ให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้า โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยเริ่มเจาะเข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ผ่านเว็บไซต์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เหว่ยป๋อ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการตั้งบูธทำกิจกรรม เล่นเกม พร้อมลุ้นรับกิฟต์เวาเชอร์ บัตรส่วนลด และสินค้าต่างๆ อาทิ ไอศกรีมมะม่วง เป็นต้น นอกจากนี้จัดทำมุมจำหน่ายสินค้าของฝาก โดยคัดเลือกสินค้าคุณภาพและเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ มาจัดอันดับและวางจำหน่าย อาทิ ทุเรียนกรอบ แคบหมู นมอัดเม็ด นมผึ้ง เป็นต้น

ICONCRAFT_๑๘๑๑๒๐_0005

ICONCRAFT_๑๘๑๑๒๐_0029

นางวรางคณา กล่าวอีกว่า จุดเด่นของไอคอนคราฟต์ คือสินค้าจะหมุนเวียนเปลี่ยนทุกๆ 6 เดือน โดยนำเสนอผลงานจากศิลปิน ดีไซเนอร์ และผู้ประกอบการไทยใหม่ๆ เข้ามา นอกจากนี้ยังมี แคมปัส โซน ซึ่งร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากรและสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) นำผลงานของนักศึกษามาวางจำหน่าย รวมทั้งจัดทำรายละเอียดบอกเล่าเรื่องราวของสินค้าแหล่งที่มา และศิลปินผ่าน QR Code ใน 3 ภาษาคือ ภาษาไทย อังกฤษ และจีน เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับลูกค้าและผู้สนใจด้วย

ICONCRAFT

ด้านแผนการดำเนินงานในปีหน้า บริษัทเน้นทำตลาดในช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยขณะนี้เริ่มวางจำหน่ายในรูปแบบ B2B (Business to Business) โดยจำหน่ายให้กับพันธมิตรเช่นซีพี, แมกโนเลีย เป็นต้น แต่ปีหน้าจะขยายฐานลูกค้าไปกลุ่มอื่นๆ มากขึ้น รวมทั้งการจำหน่ายผ่านแค็ตตาล็อก และบริการดีลิเวอรีจัดส่งสินค้าให้ถึงโรงแรม และในอนาคตจะร่วมกับพันธมิตร บริการจัดส่งสินค้าให้ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขาย และอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าด้วย โดยบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมียอดขายกว่า 160 ล้านบาทต่อปี

ICONCRAFT_๑๘๑๑๒๐_0026

ทั้งนี้ภายในพื้นที่ไอคอน คราฟต์ แบ่งออกเป็น 7 โซน ได้แก่ The Smith งานช่างทอง ช่างโลหะต่างๆ, The Painter งานลงสีลงยา งานเขียน วาดลวดลาย งานลงรักปิดทอง, The Sculptor งานปั้น, The Carpenter งานช่างไม้ ช่างแกะสลัก, The  Weaver งานช่างทอ ช่างจักสาน, The Gastronomer งานปรุง งานสร้างสรรค์อาหารและThe Therapist งานแพทย์แผนไทยและผลิตภัณฑ์สำหรับการบำบัดและดูแลสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีโซนสินค้าเฮาส์แบรนด์ของไอคอนคราฟต์ที่เชิญนักออกแบบมาร่วมสร้างสรรค์ผลงานด้วย

หน้า 34 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,423 ระหว่างวันที่ 2-5 ธันวาคม 2561 ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว