‘ประพัฒน์’ จับมือธ.ก.ส.พลิกโฉมไทย 7.2 หมื่นล้านสร้าง SMEs เกษตรทุกพื้นที่

07 มี.ค. 2559 | 01:00 น.
เรือธงสำคัญในกรอบหลักคิด "ประชารัฐ" เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ขีดวงไปที่ภาคการเกษตร ซึ่งเป็นฐานปิรามิดใหญ่ของประเทศ ภายใต้แนวคิด "1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีเกษตร" ถูกจุดประกายขึ้น โดย "สภาเกษตรกรแห่งชาติ" เพื่อยกระดับเพิ่มศักยภาพ จากเกษตรกรผู้ปลูกพืชเกษตร แล้วขายเป็นวัตถุดิบต้นทาง ให้ขยับก้าวขึ้นมาเป็น "ผู้พัฒนาแปรรูปสินค้าเกษตร" สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตด้วยตัวเอง เป็นเพียงหนึ่งเรื่องที่นำออกมาจากลิ้นชักเท่านั้น

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ คีย์แมนคนสำคัญ ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงแผนปฏิบัติการนี้ว่า มีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี เพื่อยกระดับภาคการเกษตรของไทย ซึ่งได้เริ่มปฏิบัติการอุ่นเครื่องรอมาระยะหนึ่งแล้ว โดยได้ทำงานร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตั้งกรอบวงเงินและกดปุ่มปล่อยสินเชื่อนำร่องไปบ้างแล้วหลายพันล้านบาท แต่จะเปิดโครงการอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 เมษายนนี้ โดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มือทำงานฝ่ายเศรษฐกิจของรัฐบาล มาเป็นประธานเปิดงาน ซึ่งที่ผ่านมาสภาเกษตรกรฯ ได้ลุยลงพื้นที่ เตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกร ที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการเองผ่านโครงการแปรรูปสินค้าเกษตรต่างๆ ไว้พร้อมแล้ว

แนวคิด 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีเกษตร ถือเป็นโครงการนำร่อง แต่เป้าหมายของสภาเกษตรกรฯที่ร่วมกับธ.ก.ส.ไม่จำกัดที่ตำบลละหนึ่งราย แต่เกษตรกรรายไหนพร้อม ธ.ก.ส.ก็จะสนับสนุนสินเชื่อ ให้ใช้ในการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าขึ้นไปในแต่ละช่วงซัพพลายเชน ซึ่งจะขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

โดยสภาเกษตรกรจะลงทำงานพื้นที่กับเกษตรกร เพื่อฝึกความคิดและวางรากฐานสร้างองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร ที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการเอง เตรียมจัดทำเวิร์กช็อปร่วมกัน มีธุรกิจต้นแบบที่ประสบความสำเร็จจากทุกเซ็กเตอร์ และทุกภาคของประเทศมาเป็นตัวอย่าง เพื่อสร้างแรงบันดาลให้กับเกษตรกร ตามแผนปฏิบัติการนี้ ตั้งเป้า 7 ปีนี้ จะยกระดับเกษตรกรทุกตำบลเห็นทุกหมู่บ้าน ขยับฐานะเป็นผู้ประกอบการด้วยตัวเอง เป็นการสร้างเศรษฐกิจจากฐานรากของจริง

ขณะที่พันธมิตรหลัก คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งเป็นแหล่งเงินสนับสนุนนั้น จะให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 7 ปีแรก คิดดอกเบี้ย 4% ต่อปี อัตราเดียวกับต้นทุนแบงก์ จากนั้นจึงคิดดอกเบี้ยสินเชื่อตามสถาบันการเงินปกติ คาดหมายว่าอย่างน้อยตำบลละ 10 ล้านบาท รวม 7.2 พันตำบล เท่ากับ 7.2 หมื่นล้านบาททั่วประเทศ โดยแต่เดิม ธ.ก.ส. ก็มีแพ็กเกจเงินกู้ลักษณะนี้ให้บริการลูกค้าอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ทำเชิงรุกหรือมีเป้าที่ชัดเจน เรามาร่วมตั้งเป้าหมายทั้งยอดสินเชื่อ 7.2 หมื่นล้าน เฉลี่ยตำบลละ 10 ล้านบาท ให้กระจายไปทุกพื้นที่

พร้อมทั้งเสนอให้ธ.ก.ส.ปรับโครงสร้างภายใน เพื่อผลักดันนโยบายดังกล่าวนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้ จึงเสนอธ.ก.ส.ให้ตั้งส่วนงานเพื่อขับเคลื่อนโครงการนี้ขึ้นมาเป็นหน่วยถาวร พร้อมทั้งมีรองผู้จัดการใหญ่คนหนึ่ง มาดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง รวมถึงให้มีศูนย์บ่มเพาะภายในขึ้นมา เพื่อฝึกอบรม จัดการศึกษาดูงานให้กับเกษตรกรที่มีใจต้องการพัฒนาพืชผลทางการเกษตรด้วยตัวเอง ขับเคลื่อน บ่มเพาะเกษตรกรในเรื่องนี้ควบคู่กันไปด้วย

นายประพัฒน์ ระบุว่า โครงการนี้ไม่จำกัดว่าต้องเป็นเกษตรกรที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส.เท่านั้น แต่เปิดกว้างให้กับเกษตรกรที่สนใจทุกราย เรียกว่า เปิดทุกประตู จะมาคนเดียว มาคู่ หรือมาเป็นกลุ่ม สามารถเข้าร่วมเสนอโครงการรับสินเชื่อจาก ธ.ก.ส.ได้ทั้งหมด ขอเพียงแค่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเท่านั้น

โครงการนี้มุ่งประสงค์จะปรับบทบาทของเกษตรกร จากผู้ผลิตต้นทาง พลิกมาเล่นเป็นผู้แปรรูปเสียเอง อาจมองได้ว่าเกษตรกรที่ต้องแบกรับความเสี่ยงแทนผู้ประกอบการเองนั้น นายประพัฒน์ ชี้ให้เห็นว่า เป็นข้อดี เกษตรกรมีความเสี่ยงน้อยกว่าผู้ประกอบการคนกลาง เนื่องจากเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบได้เอง ทำให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบที่อยู่ในมือได้ดีกว่า

เรื่องนี้มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมแล้วในหลายพื้นที่ของประเทศ ดังเช่น ในจังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งปลูกข้าวปากพนัง มีคุณภาพต่ำ ขายไม่ได้ราคาเมื่อเทียบกับคุณภาพข้าวที่ปลูกในจังหวัดภาคกลาง ทำให้ได้ราคาต่ำกว่าอย่างน้อยตันละ 2 พันบาท ภายหลังค้นพบว่า ข้าวที่นั่นมีคุณสมบัติที่เหมาะสมเมื่อนำมาผลิตเป็นแป้งเส้นขนมจีน เกิดการแปรรูปขายได้ราคาดีกว่าเดิมมาก

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจ ที่บ้านวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มเกษตรกร จัดตั้งเป็นสมาคม จดทะเบียนเป็นสหกรณ์ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์มันเส้นสะอาด เพิ่มมูลค่าจากการขายหัวมันสดกิโลกรัมละ 1.50-2 บาท สามารถขายเป็นมันเส้นได้กิโลกรัมละ 5-6 บาท

หรืออีกเคสที่น่าทึ่ง คือ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งประสบปัญหาอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา ทั้งจากกฎหมายถูกกีดกันทางการค้า และการระบาดของโรคอีเอ็มเอสในกุ้ง แต่เกษตรกรรายนี้ได้วางระบบการเลี้ยงกุ้งรูปแบบใหม่ โดยขุดบ่อก้นบ่อให้มีลักษณะสโลฟทั้งสี่ด้าน ทำให้ง่ายต่อการทำความสะอาด นำน้ำที่ปล่อยไปผ่านกระบวนการบำบัด ก่อนนำกลับมาเลี้ยงกุ้งใหม่ เป็นต้น

"ถ้าประเทศไทยมีความคิดที่ถูกต้อง มีนโยบายที่ถูกต้อง มีการดำเนินการที่ดีที่ถูกต้อง เข้าใจปัญหา และปรับปรุงสิ่งที่แย่ให้ดีขึ้น ประเทศจะเปลี่ยนได้จากความคิดนี้ จะทำให้เศรษฐกิจไหลลงไปหาเกษตรกรฐานรากได้ จากการประกอบกิจการของเขาเอง รัฐบาลไม่ต้องทำใด ๆ เลย เพียงแค่มีนโยบายที่ดีให้ก็พอ นี่คือยั่งยืน มั่นคง ยาวนาน ประเทศนี้จะเปลี่ยน การเมืองจะเปลี่ยน เพราะเขาลืมตาอ้าปากได้ เพราะไม่ต้องพึ่งพาการเมืองอีกต่อไป"

 4 ปีงานหินลงฐานองค์กรใหม่

จะครบเทอม 4 ปีในวันที่ 14 มีนาคมนี้แล้ว "นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์" ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ในฐานะผู้กุมบังเหียนทำงานใกล้ชิดคลุกวงในกับเกษตรกรทั่วประเทศ กล่าวยอมรับว่า ยากลำบากมาก ซึ่งก็เป็นธรรมชาติขององค์กรเกิดใหม่ ผนวกรวมกับ "ความใหญ่" ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 27-28 ล้านครัวเรือน ยิ่งทำให้การสร้างเอกภาพทำได้ยากมาก

ซ้อนทับด้วย สถานการณ์การเมืองไทยที่ไม่นิ่ง 4 ปีมี 4 นายกฯ ถูกตั้งป้อมว่าเป็นมรดกตกทอดของอีกขั้วการเมือง กว่าจะทำความเข้าใจและสร้างความยอมรับ ว่าเป็นองค์กรตัวแทนและเข้ามาทำงานเพื่อเกษตรกรจริง ๆ ต้องใช้เวลา ขณะที่สภาเกษตรกรแห่งชาติ ต้องทำงานประสานกับฝ่ายการเมือง เพราะหน้าที่หลักคือ ทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ของเกษตรกรเสนอต่อรัฐบาล จึงไม่ใช่เรื่องง่าย

"ความคาดหวังช่วง 2 ปีแรกที่พยายามสุดชีวิต ก็คือ ทำให้องค์กรของเกษตรกรนี้มีเอกภาพ ทำโครงสร้างภายในให้ดีขึ้น" ประพัฒน์ระบุ จึงไม่แปลกเมื่อรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่รู้จัก และยังใช้กลไกของสภาเกษตรกรฯในการขับเคลื่อนน้อยไป

"สภาเกษตรกรฯ ถือเป็นกลไกสำคัญในการทำความเข้าใจ เจรจากับคนในพื้นที่ ซึ่งนับตั้งแต่มีสภาเกษตรกรฯ จะเห็นได้ว่า สถานการณ์ความขัดแย้งของเกษตรกรในพื้นที่ มีการปิดถนน ปิดศาลากลาง เพื่อประท้วงน้อยลง"

พร้อมยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ราคามะพร้าวตกต่ำเหลือลูกละ 1 บาท ชาวสวนมะพร้าวประชุมวางแผนจะปิดถนน ตั้งแต่จังหวัดสมุทรสาครถึงจังหวัดสงขลา เพราะเดือดร้อนกันมาก ทางสภาเกษตรกรฯรีบลงไปหาข้อมูลทางลึกจึงพบสาเหตุว่า เนื่องจากรัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ อนุมัติให้มีการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศที่มีราคาถูก เข้ามาตีตลาดทำให้ราคาตกต่ำ จึงได้ทำหนังสือทักท้วงไปให้ยุติการนำเข้า เมื่อแก้ที่ต้นทางได้ปัญหาก็คลี่คลายจนถึงปัจจุบัน

ถัดมากรณีชาวสวนปาล์มที่ราคาตกลงมาเหลือ 2 บาทกว่า จะปิดถนนตั้งแต่สุราษฎร์-ชุมพร ได้จัดเวทีเป็นสื่อกลางให้รัฐมนตรีมาชี้แจง กรณีของราคาตกต่ำก็เช่นเดียวกัน ทำหน้าที่เป็นคนกลาง เป็นกลไกประสานงานกับหน่วยงานรัฐกับเกษตรกร สามารถแก้ไขสถานการณ์ให้ลุล่วงผ่านมาได้

"เกษตรกรถ้าไม่ถึงที่สุดไม่มีใครอยากก่อม็อบ ไม่อยากเดือดร้อน สภาเกษตรกรฯเป็นช่องทางให้เขาได้เจรจาภาครัฐให้เข้ามาแก้ไขปัญหา จึงลดการเผชิญหน้าได้มาก"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,137 วันที่ 6 - 9 มีนาคม พ.ศ. 2559