สภาพัฒน์ เผย ไตรมาส 3 "จ้างงานเพิ่ม-ว่างงานลดลงทุกระดับ"

29 พ.ย. 2561 | 13:41 น.
สภาพัฒน์ เผย ภาวะสังคมไทย ไตรมาส 3 พบการจ้างงานเพิ่ม 1.7% อัตราว่างงานลดลงทุกระดับ แนวโน้มหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น ฆ่าตัวตายแนวโน้มลดลง ขณะที่ ประชากรไทยมีอัตราการเจริญพันธุ์ลดลงอย่างรวดเร็ว

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แถลงข่าวรายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาส 3 ปี 2561 ดังนี้

ด้านการจ้างงาน มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ไตรมาส ซึ่งการจ้างงานนอกภาคเกษตรถือว่าขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี โดยเฉพาะในสาขาการขนส่ง การโรงแรมและภัตตาคาร การผลิตอุตสาหกรรม และการก่อสร้าง

อัตราการว่างงานลดลงในทุกระดับการศึกษา โดยเฉพาะระดับ ปวส. แต่ผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษามีอัตราการว่างงานสูงกว่าระดับอื่น รายได้และผลิตภาพแรงงานขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่า แนวโน้มการจ้างงานในไตรมาส 4 ก็จะดีขึ้นต่อเนื่อง

ขณะที่ ด้านหนี้สินครัวเรือน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มีสัญญาณปัญหาการชำระหนี้ ซึ่งการสร้างความรู้พื้นฐานทางการเงินและการสร้างวินัยทางการเงินเป็นสิ่งสำคัญ จะช่วยลดปัจจัยความเสี่ยงการเป็นหนี้ โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน

ด้านการเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวัง โดยรวมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ ไข้หวัดใหญ่ และโรคหัด และต้องเฝ้าระวังโรคอุบัติซ้ำที่ระบาดจากการเดินทางข้ามประเทศ อาทิ โรคหัดเยอรมันและโรคเมอร์ส ที่ระบาดล่าสุดในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งประชาชนควรป้องกันตัวเอง ฉีดวัคซีน และหลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย ส่วนค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลง

คดียาเสพติดเพิ่มขึ้น ต้องให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังสารเสพติดและการป้องกันปัญหาอาชญากรรมที่จะเกิดขึ้นตามมา ขณะที่ คดีเกี่ยวกับชีวิตร่างกายและเพศ และคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ลดลง

การเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์ สาเหตุ คือ การขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด แต่จำนวนผู้เสียชีวิตและมูลค่าความเสียหายโดยรวมลดลง ทุกภาคส่วนจึงต้องเร่งลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน


ทศพร ศิริสัมพันธ์

ขณะที่ อัตราการฆ่าตัวตายมีแนวโน้มลดลง แต่พบว่า มีคนที่พยายามฆ่าตัวตายมากกว่าผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จถึง 10 เท่า โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา คนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 4,000 รายต่อปี โดยในปี 2560 ฆ่าตัวตายสำเร็จ 3,934 คน หรือมีอัตราฆ่าตัวตายเท่ากับ 6.03 ต่อประชากรแสนคน ผู้ชายฆ่าตัวตายมากกว่าผู้หญิง 4.4 เท่า ซึ่งพบมากสุดในกลุ่มวัยแรงงาน 40-49 ปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป สาเหตุส่วนใหญ่ครอบครัว โรคภัยไข้เจ็บ

ปัญหาเศรษฐกิจ สำหรับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ไทยอยู่ในอันดับที่ 3 ในกลุ่มอาเซียน ต่อจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย และเป็นอันดับ 38 จาก 140 ประเทศทั่วโลก ส่วนด้านตลาดสินค้าและตลาดแรงงาน อยู่ที่อันดับ 44 จาก 140 ประเทศ โดยรัฐต้องยกระดับคุณภาพแรงงานทั้งระบบ การเพิ่มบทบาทภาครัฐในฐานะสื่อกลางนายจ้างและแรงงาน และการเตรียมความพร้อมของแรงงาน

ในงานแถลงข่าวมีการนำเสนอรายงานพิเศษ เรื่อง "คนรุ่นใหม่กับการสร้างประชากรไทยที่มีคุณภาพ" โดยพบว่า สถานการณ์ประชากรไทยมีอัตราการเจริญพันธุ์ลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ติด 1 ใน 5 ของเอเชีย มีปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อม การทำแท้ง เด็กถูกทอดทิ้ง การเลี้ยงดูไม่เหมาะสม

ขณะที่ ประชากรผู้สูงอายุมีแนวโน้มสูงขึ้นจากอายุขัยเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น ส่วนทัศนคติการสร้างครอบครัวและการมีบุตรของคน Gen Y พบร้อยละ 76 เห็นด้วยกับการมีครอบครัว ร้อยละ 65 เห็นด้วยกับการมีบุตร แต่ 1 ใน 5 ของประชากรเจนเนอร์เรชันนี้ ไม่ต้องการมีบุตร เพราะต้องการมีอิสระในการใช้ชีวิต พอใจปัจจุบัน และปัญหาค่าใช้จ่าย จึงควรมีมาตรการจูงใจ 3 อันดับ ดังนี้ เงินตั้งต้นมีบุตรใหม่ ลดหย่อนภาษี และจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือ

ติดตามฐาน