รฟม. ชี้แจง! สิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานสำหรับผู้พิการ "รถไฟฟ้าสายสีม่วง"

29 พ.ย. 2561 | 08:54 น.
รฟม. ชี้แจงประเด็นการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานสำหรับผู้พิการ ภายในสถานีและขบวนรถของรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง)

จากกรณีที่ "ภาคีคนพิการ" ได้ยื่นฟ้องรถไฟฟ้าสายสีม่วง ประกาศ "วันสิทธิคนพิการไทย" บริเวณหน้ากรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2561 โดยกล่าวว่า รฟม. ผู้รับผิดชอบรถไฟฟ้าสายสีม่วง (รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม) ได้จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานสำหรับผู้พิการภายในสถานีรถไฟฟ้าและในขบวนรถไม่ครบสมบูรณ์และขัดต่อหลักความเสมอภาคนั้น

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงว่า รฟม. ได้ดำเนินการจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุภายใต้พื้นที่ในความรับผิดชอบของโครงการรถไฟฟ้าทุกสายในการกำกับของ รฟม. ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งครอบคลุมถึงรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) และสายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดย รฟม. ได้พิจารณาใช้มาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในสากล และคำนึงถึงกฎกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้ ยังได้เปิดรับฟังข้อเสนอแนะจากหน่วยงานผู้พิการต่าง ๆ ผ่านการประชุมหารือและการเปิดให้เข้าเยี่ยมชมโครงการหลายครั้ง ในแต่ละช่วงเวลา ทั้งนี้ เนื่องด้วยหน่วยงาน สมาคม โรงเรียนที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการ มีจำนวนมาก รฟม. จึงได้รับข้อคิดเห็นที่มีความหลากหลายในการพิจารณาจัดหาอุปกรณ์ที่จะรองรับความพึงพอใจสำหรับผู้พิการได้ครบทุกกลุ่ม อย่างไรก็ดี รฟม. ได้พิจารณาจากอุปกรณ์ที่สามารถอำนวยความสะดวกได้ดี โดยไม่มีผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยโดยรอบพื้นที่สถานี เปิดโอกาสให้คนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะได้สอดคล้องตามหลักความเสมอภาค รายละเอียด ดังนี้

1.รฟม. ได้ดำเนินการตามกฎกระทรวงกำหนดลักษณะ หรือ การจัดให้มีอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวก หรือ บริการในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ และบริการขนส่ง เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ พ.ศ. 2556 โดยการปรับปรุงทางเท้าบริเวณสถานีรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ทางเท้าในบริเวณอื่นนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานท้องถิ่น ซึ่ง รฟม. จะดำเนินการแจ้งปัญหาไปยังผู้รับผิดชอบในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อพิจารณาดำเนินการแก้ไขปรับปรุงต่อไป

2.รฟม. ได้ดำเนินการตามกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพและคนชรา พ.ศ. 2548 โดยการติดตั้งลิฟต์โดยสารและจัดทำทางลาดสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพและคนชรา บริเวณทางขึ้น-ลงสถานีรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ทั้ง 2 ฝั่งถนน

สำหรับกรณีที่สถานีรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ซึ่งได้แก่ สถานีรถไฟฟ้าบางซ่อน สถานีรถไฟฟ้า บางพลู และสถานีรถไฟฟ้าแยกนนทบุรี 1 มีลักษณะคร่อมทางแยกนั้น ก่อนดำเนินการก่อสร้าง รฟม. ได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานผู้พิการจำนวนหลายครั้ง ตั้งแต่ในขั้นตอนการออกแบบ โดยได้มีการพิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผู้ถูกเวนคืนร่วมด้วย จนได้มีข้อสรุป โดยให้มีการติดตั้ง Inclined Platform Lift (ลิฟต์บันได) เป็นอุปกรณ์ช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับสถานีคร่อมทางแยก นอกเหนือจากอุปกรณ์หลักที่มีอยู่แล้ว นอกจากนี้ ในระหว่างดำเนินงานก่อสร้างโครงการฯ รฟม. ยังได้จัดให้มีการประชุมหารือร่วมกับผู้พิการเป็นระยะ ๆ รวมทั้งได้มีการร่วมลงพื้นที่ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุในโครงสร้างพื้นฐาน และในระบบขนส่งมวลชนของกระทรวงคมนาคมอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2558 โดยมีรองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้แทนสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่น ๆ ณ สถานีรถไฟฟ้าเตาปูน สถานีรถไฟฟ้าบางซ่อน สถานีรถไฟฟ้าบางพลู และสถานีรถไฟฟ้าคลองบางไผ่ รวมถึงทางเชื่อมระหว่างสถานีรถไฟฟ้าบางซ่อนกับสถานีรถไฟบางซ่อนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งจากการทดลองใช้ Inclined Platform Lift ของผู้พิการ เป็นที่พึงพอใจ

3.รฟม. ได้ดำเนินการตามคำแนะนำของสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ที่ได้มีหนังสือแจ้งขอให้ รฟม. จัดให้มีพื้นผิวต่างสัมผัสสำหรับผู้พิการทางการมองเห็นแบบแนวเตือนภัยให้ระวังสิ่งกีดขวาง (Detectable Warning Tile) บริเวณสถานีรถไฟฟ้า MRT

4.รฟม. ได้ดำเนินการจัดให้มีห้องน้ำสำหรับผู้พิการภายในสถานีรถไฟฟ้า MRT ครบทุกสถานี

5.รฟม. ได้ดำเนินการออกแบบสถานีรถไฟฟ้า MRT โดยกำหนดระดับพื้นชานชาลาและระดับพื้นภายในตู้โดยสาร ให้มีความเหมาะสมสำหรับผู้พิการสามารถขึ้น-ลงขบวนรถไฟฟ้าได้ด้วยตนเอง รวมทั้งได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมไว้กรณีผู้พิการต้องการความช่วยเหลือ

6.รฟม. ได้ดำเนินการติดตั้งลิฟต์โดยสารสำหรับผู้พิการ 1 ชุด และจัดทำทางลาด เพื่อให้ผู้พิการสามารถใช้บริการอาคารจอดแล้วจรของรถไฟฟ้า MRT ครบทุกอาคาร รวมทั้งได้จัดให้มีช่องจอดรถสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ ซึ่งแสดงสัญลักษณ์ไว้อย่างชัดเจน

7.กรณีสะพานข้ามแยก (Sky Walk) ของสถานีสำโรง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง–สมุทรปราการ รฟม. ได้ก่อสร้างเพิ่มเติมเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้บริการสถานีสำโรงได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น นอกเหนือจากที่ รฟม. ได้ติดตั้งลิฟต์โดยสารทางขึ้น-ลงสถานี ทั้ง 2 ฝั่งของถนน ครบถ้วนแล้ว


ติดตามฐาน