ม.หอการค้า ชี้! ดอกเบี้ยนโยบาย 1.50% ยังจำเป็นต่อการฟื้น ศก. ถึงไตรมาส 1/62

26 พ.ย. 2561 | 09:14 น.
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เชื่อการคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ยังมีความจำเป็นต่อเอสเอ็มอีและภาคธุรกิจอื่น ชี้! เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวชัดเจนและเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบ

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโส วิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ยังมีความจำเป็นต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในเชิงเศรษฐกิจอีกในระยะเวลาประมาณ 6 เดือน หรือจนถึงไตรมาส 1/62 เนื่องจากความจำเป็นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังไม่มีเท่าใดนัก เพราะจากการประเมินอัตราเงินเฟ้อไม่น่าจะเกินระดับ 1.5% และยังไม่มีอัตราเร่งที่สูง ดังนั้น กรอบของเงินเฟ้อจะยังอยู่ที่ระดับ 1-4%

ทั้งนี้ มองว่าปัญหาที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังกังวล คือ เรื่องช่องว่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกา ดังนั้น การปรับขึ้นเพื่อทำให้ช่องว่างดังกล่าวแคบลงน่าจะเป็นประเด็นที่สำคัญมากกว่า ซึ่งขณะนี้ที่ผ่านมา ทิศทางอัตราดอกเบี้ยยังเป็นขาลง ยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะฉะนั้นในระยะเวลา 6 เดือน เพื่อให้เอสเอ็มอีและธุรกิจต่าง ๆ ได้ใช้ประโยชน์ จึงยังมีความสำคัญอยู่ เพราะเศรษฐกิจไทยยังมีการฟื้นตัวที่ไม่เด่นชัดเท่าใดนัก

อย่างไรก็ดี ภายหลังจากที่มีการเลือกตั้งแล้ว เชื่อว่าน่าจะมีเม็ดเงินไหลสะพัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทุกภูมิภาคมากขึ้น ขณะที่ เศรษฐกิจโลกก็น่าจะมีสัญญาณที่ดีโดดเด่นมากขึ้น ดังนั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไตรมาส 2/62 หรือ ปลายไตรมาส 1/62 ยังมีความเหมาะสม เพราะจากการสำรวจพบว่า เอสเอ็มอียังมีปัญหาเรื่อสภาพคล่อง หากมีการปรับขึ้น อาจส่งผลกระทบให้เกิดการตรึงตัวได้

"ถ้าดอกเบี้ยจะต้องผูกด้วย MRR+- แบบนี้ หากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น จะทำให้มีต้นทุนสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ และหากยอดขายนิ่ง เอสเอ็มอีจะประสบปัญหาเรื่องของสภาพคล่อง ซึ่งเชื่อว่าไม่น่าจะเป็นผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ"

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวต่อไปอีกว่า หลังจากไตรมาส 1/62 ไปแล้ว คาดว่าเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องดูด้วยว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชานจีน จะมีการเจรจากันอย่างไร และทิศทางของ BREXIT จะมีการคลี่คลายลงหรือไม่ โดยจากภาพของเศรษฐกิจเชื่อว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยในปลายไตรมาส 1/62 น่าจะทำให้เศรษฐกิจมีโอกาสทยอยฟื้นตัวได้โดยไม่ชะงักงัน


บาร์ไลน์ฐาน