5หมื่นล้านจ่อลงหุ้นท้ายปี ระดมผ่านLTF-RMF ทิสโก้ปลื้มสินทรัพย์ทะลุเป้า

27 พ.ย. 2561 | 12:35 น.
บลจ.ทิสโก้ฯ แนะเป็นจังหวะเข้าซื้อ LTF ต่อเนื่องรักษาสิทธิภาษี เหตุหมดอายุปีหน้า แถมราคาหุ้นปรับลง ปลื้ม AUM 10 เดือนทะลุเป้าทั้งปีที่ตั้งไว้ 2.4 แสนล้านบาท หลังสิ้นตุลาคมแตะ  2.48 แสนล้านบาท แนะลงทุนโกลบัล เฮลธ์แคร์ เหตุเติบโตยั่งยืน

ไตรมาสสุดท้ายของปี เป็นช่วงที่นักลงทุนมักจะซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว(LTF)และกองทุนเพื่อการเกษียณอายุ(RMF)และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยบริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ฯ คาดว่าในไตรมาส 4 ปีนี้จะมีเม็ดเงินรวมไม่ตํ่ากว่า 5 หมื่นล้านบาทไหลเข้าตลาดหุ้น โดยเป็นเม็ดเงินจาก LTF ราว 3.5 หมื่นล้านบาทและจาก RMF อีก 1.5 หมื่นล้านบาท

นายธีรนาถ รุจิเมธาภาส กรรมการอำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้จำกัด เปิดเผยว่า คาดว่าเม็ดเงินจากกองทุน LTF และ RMF ยังคงลงทุนเหมือนเดิมในปลายปีนี้ โดยเฉพาะ RMF ที่ยังเติบโตปกติ ไม่เหมือนกับ LTF ที่จะมีการขายออกบ้าง แต่ปลายปีนี้ ยังมีแรงซื้อใน LTF เข้ามาเป็นจำนวนมากเหมือนเดิม เพราะสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะหมดในปีหน้าจึงเป็นจังหวะดีที่นักลงทุนจะซื้อต่อเนื่องเพื่อรักษาสิทธิ อีกทั้งนักลงทุนเข้าใจตลาดที่ปีนี้หุ้นปรับลดลงแรง จึงหันมาทยอยซื้อสะสมใน LTF มากขึ้น

MP19-3421-A

“ภาวะหุ้นไทยปีนี้ค่อนข้างผันผวน แต่การบริหารกองทุนของทิสโก้ยังเติบโตตามปกติและดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ แม้สินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ(AUM)จะโตไม่มากและผันผวนจากราคาหุ้นที่ปรับลดลง ส่วนในปีหน้าไม่ได้คาดหวังว่า จะต้องตั้งเป้าหมาย AUM ให้เติบโตหวือหวา คาดว่าจะโต 5-10% เพราะในภาวะที่ตลาดผันผวน เชื่อว่านักลงทุนต้องพิจารณาถึงผลตอบแทนเป็นหลัก แม้อยากจะแนะนำให้ลูกค้าซื้อ แต่ลูกค้าจะติดตามข่าวสาร ระมัดระวังในการลงทุน และสามารถตัดสินใจเองได้”

ทั้งนี้ AUM ของบลจ.ทิสโก้ฯปี 2561 คาดว่าจะสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 10% จากสิ้นปี 2561 ที่ 2.4 แสนล้านบาท โดย ณ สิ้นเดือนตุลาคมอยู่ที่ 2.48 แสนล้านบาท ซึ่งมาจากการเติบโตทั้ง 3 กอง คือ กองทุนรวม (Mutual Fund) กองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) และ กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) ที่มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง จากภาวะตลาดหุ้นที่ปรับลดลง ทำให้ความน่าสนใจของกองทุนมีมากขึ้น

สำหรับ AUM ของ 3 กองทุน ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2561 Mutual Fund อยู่ที่ 47,000 ล้านบาท ซึ่งในระหว่างปีเคยปรับขึ้นสูงถึง 48,000 ล้านบาท แต่ปรับลดลงช่วงที่ดัชนีหุ้นมีความผันผวน ส่วน Private Fund อยู่ที่ 41,000 ล้านบาท ยังคงทรงตัวเท่าเดิม และ Provident Fund อยู่ที่ 159,000 ล้านบาท โดยมีการเติบโตมากที่สุด เนื่องจากมีเม็ดเงินทยอยเข้าลงทุนทุกเดือนตามปกติ

[caption id="attachment_351696" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

ส่วนกลยุทธ์การลงทุนในช่วงปลายปี นักลงทุนควรลดความเสี่ยงลง เนื่องจากยังมีปัจจัยจากต่างประเทศกดดัน ทั้งสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีน และแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะเป็นตัวกดดันให้ธนาคารกลางอื่นๆ ปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม ทำให้เกิดการไหลออกของเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ โดยแนะนำให้ลงทุนในกองทุนกลุ่มโกลบัล เฮลธ์แคร์ แม้จะไม่หวือหวา แต่อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรต่อหุ้น(พี/อี)ถูกกว่าและเติบโตที่ยั่งยืน และกลุ่มที่น่าลงทุนจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด คือ กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะ US Finance

หน้า 19 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3421 วันที่ 25-28 พฤศจิกายน 2561 595959859