"ซีพี" ชงเลิกนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ แนะผลิตเอง ใช้เองในประเทศ "เบทาโกร-แสงทอง" มั่นใจ 3 มาตรการดันราคาขยับ

24 พ.ย. 2561 | 03:21 น.
บิ๊ก “ซีพี” แจงนำเข้าปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่เพื่อความมั่นคง ป้องโรคระบาด ลั่นพร้อมให้ทุกฝ่ายตรวจสอบ เสนอต่างมุมให้รัฐบาลห้ามนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ หันผลิตเองใช้กันเองในประเทศ คุมปัญหาได้ดีกว่า “เบทาโกร-แสงทอง” มั่นใจ 3 มาตรการดันราคาไข่ขยับ

“ฐานเศรษฐกิจ” ยังคงเกาะติดการแก้ปัญหาราคาไข่ไก่ตกตํ่าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกรมปศุสัตว์ ได้มีการขอความร่วมมือ 16 บริษัทที่มีแผนการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (พีเอส) ในปี 2561 จำนวน 550,000 ตัว นำเข้าเลี้ยงแล้ว 454,690 ตัว และแผนการเลี้ยงปู่ย่าพันธุ์ (จีพี) 4,500 ตัว นำเข้าเลี้ยงแล้ว 4,474 ตัว ผลการสำรวจแม่ไก่ไข่ยืนกรงจำนวน 58 ล้านตัว ผลผลิตไข่เฉลี่ยประมาณ 46-47 ล้านฟอง/วัน ราคาขายไข่คละหน้าฟาร์มเฉลี่ยฟองละ 2.40 บาท ยังตํ่ากว่าราคาประกาศของสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ที่ 2.50 บาท โดยมี 3 มาตรการออกมา ซึ่งแต่ละฝ่ายคิดเห็นอย่างไรจะได้ผลหรือไม่นั้น TP8-3421-A-

นายบรรเจิด หอมบุญมา รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสฝ่ายธุรกิจสายธุรกิจไก่ไข่ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากทั้ง 3 มาตรการเร่งด่วน เพื่อปรับลดปริมาณการผลิตไข่ (ซัพพลาย) ดังนี้ 1. ปลดแม่ไก่ไข่ยืนกรง จำนวน 1 ล้านตัว ภายใน 1 สัปดาห์ 2.มาตรการที่จะเอาไข่ไก่ฟักออกจากระบบจำนวน 200 ตู้ หรือ 60 ล้านฟองภายใน 1 เดือน เป็นมาตรการระยะสั้น และ 3.มาตรการที่จะเห็นผลในระยะ 4-5 เดือน คือการปลดพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (พีเอส) อายุ 25-60 สัปดาห์ จำนวน 1 แสนตัวภายใน 1 สัปดาห์ คาดว่าจะทำให้ไข่ไก่ที่มีมากเกินความต้องการหรือโอเวอร์ซัพพลายถูกตัดออกไป และจะช่วยพยุงราคาไข่ไก่ให้อยู่ได้ ไก่ไข่

“สาเหตุที่บริษัทนำเข้าปู่ย่าพันธุ์นั้นเกรงว่าหากมีโรคระบาดเกิดขึ้นบริษัทจะอยู่ไม่ได้ เรื่องนี้มองถึงความมั่นคงเพราะเราไม่ได้จัดส่งให้เฉพาะในเครืออย่างเดียว โดยในเรื่องนี้ทางกรมปศุสัตว์ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้วและกำลังอยู่ในระหว่างการนัดหมายผู้ที่ยังสงสัย ซึ่งทางบริษัทก็พร้อมที่จะให้ตรวจสอบว่ามีการเลี้ยงปู่ย่าพันธุ์ทั้งหมดจริง แล้วมีปัญหาหรือไม่ ก็อยากให้คณะกรรมการเข้าไปตรวจสอบเพราะบริษัทโปร่งใสอยู่แล้ว”

นายบรรเจิด กล่าวอีกว่า หากมองกลับกันว่า ให้นำเข้าปู่ย่าพันธุ์อย่างเดียว แล้วให้ยกเลิกการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ทั้งหมดจะดีกว่าหรือไม่ โดยให้รัฐบาลคุมนำเข้าแค่ 2-3 บริษัทใหญ่เลย เพราะการนำเข้าปู่ย่าพันธุ์เป็นการนำเข้ามาเพื่อความมั่นคงไม่ใช่ของบริษัทเดียว เป็นของทุกบริษัทด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นจะคุมได้ง่ายกว่า เพราะพ่อแม่พันธุ์ในประเทศนำเข้ามาใช้แค่ 4-5 แสนตัวโดยซื้อมาจากต่างประเทศทั้งหมด ทำไมไม่ผลิตเองในประเทศ ทุกคนจะได้ไม่มีใครกล่าวหากัน แล้วให้กรมปศุสัตว์เป็นผู้กำกับดูแลมองว่าเป็นทางออกที่ดีกว่า ไก่

ด้านนายกฤษดา ฤทธิชัยดำรงกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ปีก บมจ. เบทาโกร กล่าวว่า ทางบริษัทเห็นชอบตามที่กรมปศุสัตว์เสนอ เชื่อว่าทั้ง 3 มาตรการจะทำให้จำนวนไข่ไก่ในประเทศลดลง แก้ปัญหาราคาไข่ไก่ตกตํ่าได้ ราคาน่าจะปรับตัวสูงขึ้น ผู้เลี้ยงคุ้มทุนและอยู่ได้

ขณะที่นายธนาวุฑ เอื้อละพันธ์ รองประธานกรรมการ บจก.แสงทองสหฟาร์ม กล่าว เชื่อมั่นว่ามาตรการที่ออกมาจะทำให้ราคาไข่ไก่ที่จะกระเตื้องขึ้นเพื่อพยุงราคาที่ทำให้เกษตรกรสามารถขายไก่ไข่ได้ในราคาที่เหนือกว่าต้นทุน

นายนรินทร์ ปรารถนาพร เลขาธิการสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ มองว่า ปัญหาไม่น่าจะแก้ได้ เนื่องจากมองว่าการนำเข้าปู่ย่าพันธุ์ 1 ตัว นำเข้ามาเลี้ยงในไทยจะได้เป็นพ่อแม่พันธุ์ 77 ตัว (อิงข้อมูลกรมปศุสัตว์) แล้ว พ่อแม่พันธุ์ 1 ตัวสามารถให้ลูกไก่ไข่ 106 ตัว คิดคำนวณ 365 วัน จะได้ 77 คูณ 106 คูณ 365 เท่ากับจะได้ไข่ไก่ จำนวน 2.9 ล้านฟอง กรมปศุสัตว์รายงานข้อมูล ณ เดือน ตุลาคม แผนการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ 5.5 แสนตัว นำเข้าเลี้ยงแล้ว 4.54 แสนตัว แผนการเลี้ยงปู่ย่าพันธุ์ 4,500 ตัว นำเข้าเลี้ยงแล้ว 4,474 ตัว ปัญหานี้จะแก้ราคาไก่ไข่ได้หรือไม่

| หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปี 38 ฉบับที่ 3,421 วันที่ 25-28 พฤศจิกายน 2561
595959859