"วัฒนา" ชนะคดีซื้อรถ-เรือดับเพลิง กทม. ไม่ต้องชดใช้เงินกว่า 1,296 ล้าน

21 พ.ย. 2561 | 10:11 น.
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนสั่งเพิกถอนคำสั่ง กทม. ให้ "วัฒนา เมืองสุข" ไม่ต้องชดใช้ กทม. คดีซื้อรถ-เรือดับเพลิง เพราะไม่เกี่ยวข้องโดยตรง



วัฒนา8

วันนี้ (21 พ.ย. 61) ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง สั่งเพิกถอนคำสั่ง กทม. ที่ให้ นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชดใช้เงินจำนวน 1,296,794,910.27 บาท ให้กับ กทม. กรณีเกิดความเสียหายการทุจริตการซื้ออุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย จากบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จํากัด ประเทศออสเตรีย เมื่อปี 2547

เนื่องจากเห็นว่า แม้ในขั้นตอนการทำการค้าต่างตอบแทน "นายวัฒนา" ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้น จะเข้าร่วมประชุม ครม. เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2547 และ ครม. มีมติรับหลักการโครงการจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง อุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย ตามที่ กทม. เสมอ โดยมีเงื่อนไขทำการค้าต่างตอบแทน ร้อยละ 100 โดยมอบให้ให้กระทรวงพาณิชย์ไปดำเนินการ ซึ่งนายวัฒนารับที่จะไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบเรื่องการค้าต่างตอบแทน

นายวัฒนา ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีหน้าที่กำหนดนโยบายควบคุมดูแลเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติตามนโยบาย ไม่ได้มีหน้าที่ทำการค้าต่างตอบแทนเอง จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากการทำการค้าต่างตอบแทนดังกล่าว นอกจากนี้ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่า การกำหนดให้สินค้าในการทำการค้าต่างตอบแทนเป็นไก่ต้มสุก ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2547 เป็นผลมาจากการผลักดันของนายวัฒนา จึงไม่อาจฟังได้ว่า นายวัฒนามีส่วนต้องรับผิดชอบในการกำหนดสินค้าส่งออกเป็นไก่ต้มสุก

ส่วนที่อ้างว่า นายวัฒนาตอบข้อหารือของ นายโภคิน พลกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ว่า แม้ กทม. ได้ดำเนินการซื้อขายรถดับเพลิงกับผู้ขายก่อนการทำการค้าต่างตอบแทนแล้ว แต่เมื่อกรมการค้าต่างประเทศได้ทำการค้าต่างตอบแทนกับ บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จํากัด ผู้ขายสินค้ากับ กทม. ก็ให้ กทม. ทำสัญญาจัดซื้อรถดับเพลิง เพื่อป้องกันความผิดพลาดจากการทำสัญญาต่างตอบแทนนั้น

เห็นว่านายวัฒนาตอบข้อหารือไปยังนายโภคิน หลังจากการที่ กทม. ได้ทำสัญญาจัดซื้อรถดับเพลิงไปแล้ว และหลังจากที่กรมการค้าต่างประเทศได้ทำสัญญาการค้าตอบแทนไปแล้วเช่นกัน การตอบข้อหารือดังกล่าวของวัฒนา จึงไม่ได้การกระทำที่เป็นเหตุให้ กทม. ต้องซื้อรถ-เรือดับเพลิงแพงกว่าปกติ

ส่วนที่อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศในขณะนั้น ลงนามในสัญญาการค้าต่างตอบแทน โดยไม่ได้กำหนดว่า ห้ามส่งออกไก่ต้มสุกไปยังประเทศญี่ปุ่น เห็นว่าการทำการค้าต่างตอบแทนเป็นอำนาจของอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของนายวัฒนา สอดคล้องกับที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำวินิจฉัยคดีที่นายวัฒนาเป็นจำเลยที่ 3 ว่า พยานหลักฐานยังฟังไม่ได้ว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นเอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น กรณีนี้จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า การกระทำของนายวัฒนาเป็นการกระทำจงใจ หรือ ประมาทเลินเล่นอย่างร้ายแรง จนทำให้ กทม. เกิดความเสียหาย

ดังนั้น นายวัฒนาไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมให้กับ กทม. ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 8 วรรคหนึ่ง ตาม พ.ร.บ.การรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ 2539

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการนัดอ่านคำพิพากษาคดีดังกล่าว คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะ นายวัฒนา เมืองสุข ไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาตามหายนัดแต่อย่างใด

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว