"เสื้อผ้าจีน" ทะลักไทย 1.4 หมื่นล้าน! ส่งออกการ์เมนต์เวียดนามทิ้งห่างไทย 3 เท่าตัว

22 พ.ย. 2561 | 07:56 น.
ในปี 2561 สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยคาดการส่งออกเครื่องนุ่งห่ม (การ์เมนต์) ของไทย จะกลับมาขยายตัวได้ที่ 5% (จากปี 2560 มีการส่งออก 2,348 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือในรูปเงินบาทที่ 79,510 ล้านบาท) หรือขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 ปี ผลพวงตลาดหลักทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียน ยังขยายตัวได้ดี แต่อีกมุมหนึ่งจากการตรวจสอบพบ ไทยมีการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศ ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่าสูงถึง 27,347 ล้านบาท (ปี 2560 มีการนำเข้า 31,052 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18% โดยแหล่งนำเข้าอันดับ 1 คือ จีน มีมูลค่านำเข้า 14,460 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 53% ของการนำเข้าจากทุกแหล่ง) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 23%


เทรดวอร์-สินค้าถูกทะลัก
นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เผยในการให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เสื้อผ้าสำเร็จรูปจากจีนที่ส่งเข้ามาไทยเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากสงครามการค้า ที่สินค้าจากจีนถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้า ทำให้สินค้าจีนส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ลดลง ขณะที่ กำลังผลิตของจีนไม่ได้ลดลง จึงต้องหาทางระบายสินค้าไปประเทศอื่น ง่ายสุด คือ การระบายสินค้าผ่านทางชายแดนไปยังประเทศใกล้เคียง เช่น เวียดนาม เมียนมา กัมพูชา รวมถึงไทย


ยุทธนา2

"ขณะนี้ สินค้าสิ่งทอ หรือ เท็กซ์ไทล์ จากจีนถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษีแล้ว แต่ 'การ์เมนต์' หรือ เครื่องนุ่งห่มยังไม่โดน แต่มีแนวโน้มอาจจะโดนในครั้งที่ 3 ที่สหรัฐฯ ขู่จะขึ้นภาษีสินค้าจีน คิดเป็นมูลค่า 2.67 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ผมคิดว่า ต่อให้เสื้อผ้าถูกขึ้นภาษี จะโดนก็แค่บางหมวด จะไม่ใช่ทุกหมวด เพราะสหรัฐฯ ก็อยากจะได้เสื้อผ้าราคาถูกไปใส่ เพราะเสื้อผ้า คือ ปัจจัยสี่"

นอกจากผลกระทบสงครามการค้าที่คาดจะมีสินค้าเสื้อผ้าจากจีนทะลักเข้ามายังประเทศข้างเคียงเพิ่มมากขึ้นแล้ว โดยปกติก็มีสินค้าเสื้อผ้าจากจีนเข้ามาตามชายแดนตลอดเวลา และสินค้าเหล่านี้ไม่มีการเก็บตัวเลขที่ชัดเจน ที่เข้ามาแบบดำดินผิดกฎหมายก็มาก ส่วนที่ผ่านด่านศุลกากรก็มี แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้สำแดง หรือ ระบุพิกัดภาษีสินค้า หรือ ระบุจำนวนที่แท้จริงอย่างถูกต้อง เมื่อเข้ามาแล้วทำให้ผู้ประกอบการในประเทศได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนมาดัมพ์ขายราคาตํ่า

"สินค้าที่ดำดินเข้ามา ผมว่า คูณ 3 สมมุติรถคันหนึ่งควรใส่ได้ 4 หมื่นตัว แต่อินวอยซ์ก็เขียนแค่ 1 หมื่นตัว ราคาควรจะตัวละ 100 ก็ใส่มา 50 บาท เพื่อให้เสียภาษีน้อย ทั้งนี้ ปัจจุบันในเอฟทีเออาเซียน-จีน (ACFTA) ในสินค้าเสื้อผ้านำเข้าระหว่างกัน ภาษียังไม่เป็น 0% ทุกหมวด ซึ่งสินค้าเหล่านี้ไม่ขอ C/O (ใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า) มาสำแดง เพราะถ้าขอ C/O จำนวนมันต้องถูกต้องหมด ภาษีน้อยก็จริง แต่ไม่ขอใบ C/O มาสำแดงที่ด่าน แต่ขอเหมาจ่าย เช่น จำนวนที่เข้ามา 4 หมื่นตัว ดีแคร์ 1 หมื่นตัว อีก 3 หมื่นตัว ก็ยัดไส้จ่ายหน้าด่านก็จบ เพราะเจ้าหน้าที่เขาไม่มานั่งนับจำนวน ตรงนี้คือ ปัญหาอันหนึ่ง ที่จริงเรื่องนี้สามารถตรวจสอบรายละเอียดได้และสามารถชั่งนํ้าหนักได้ ซึ่งอยากขอให้เจ้าหน้าที่มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง ทั้งจำนวนและคุณภาพสินค้า การตรวจจับสินค้าที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย หรือ มีการสำแดงข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เพราะทำให้ธุรกิจในประเทศเสียหาย"

อย่างไรก็ดี อีกด้านหนึ่งไทยมีการส่งออกเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มไปจีนเช่นกัน (ปี 2560 ไทยส่งออกเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มไปจีน 2,934 ล้านบาท และช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ ส่งออก 2,243 ล้านบาท) ซึ่งนายยุทธนาระบุว่า สินค้าเสื้อผ้าที่ไทยส่งออกไปจีน ส่วนใหญ่เป็นสินค้ากลุ่มบนที่มีฟังก์ชันพิเศษ รวมถึงเสื้อผ้ากีฬา ชุดชั้นในสตรี ที่ชาวจีนนิยมชุดชั้นในจากไทย เพราะมีดีไซน์ รูปแบบ และฟังก์ชันหลากหลาย คุณภาพดี ราคาไม่แพง สินค้ากลุ่มนี้เริ่มมีตัวแทนจำหน่ายในจีนเพิ่มขึ้น


ฉันทนา

เร่งสปีดไล่ตามเวียดนาม
นายยุทธนา ยังได้ฉายภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มในอาเซียน ว่า ขณะนี้มีเวียดนามเป็นเบอร์ 1 ในการผลิตและส่งออก ซึ่งแซงหน้าไทยไปหลายปีแล้ว นับตั้งแต่เวียดนามได้เปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ ก่อนหน้านี้เวียดนามมีแต่อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นปลายนํ้า แต่ช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ได้เปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น ส่งผลต่างชาติแห่ไปลงทุนเท็กซ์ไทล์ (สิ่งทอต้นนํ้า) ในเวียดนามจำนวนมาก เทียบกับอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทยแล้ว เครื่องจักรเทคโนโลยีของเวียดนามจะเป็นของใหม่กว่าไทยทั้งหมด เวลานี้เวียดนามทำต้นนํ้าได้ดีกว่าไทยแล้ว ขณะที่ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของไทยไม่เปลี่ยนเครื่องจักรมาเกิน 40 ปี เครื่องย้อมผ้าของไทยก็อายุ 40-50 ปีทั้งนั้น ขณะที่ ของเวียดนามอายุไม่ถึง 10 ปี และเป็นรุ่นใหม่

"สิ่งทอต้นนํ้าของเวียดนามยังทำได้บางหมวด เช่น หมวดที่เป็นซินเธติกส์ โพลิเอสเทอร์ทำได้ครบ ส่วนที่เป็นคอตตอนยัง แต่ในอนาคตเขาเปิดรับลงทุนมากและให้สิทธิประโยชน์มาก ขณะที่ ปลายนํ้าเวลานี้ เขาส่งออกการ์เมนต์มากกว่าไทย 3 เท่า ตัวเลขเขาไปสหรัฐฯ ประเทศเดียวก็มหาศาล (คาดปีนี้เวียดนามจะส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปสหรัฐฯ กว่า 13,840 ล้านดอลล์) และยังโตมากกว่านี้ได้อีก ทุกปีเขาโตมากกว่า 10% อีกไม่กี่ปีก็จะส่งออกได้มากกว่าไทย 4-5 เท่า หากเราไม่ทำอะไร ส่วนของเราปีหนึ่งโตได้ 3% 4% เราก็ดีใจแล้ว ยิ่งสินค้าจีนมีปัญหาเรื่องสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ประเทศแรกที่สหรัฐฯ จะซื้อเสื้อผ้าก่อน คือ เวียดนาม ส่วนของเราก็ได้มาเล็กน้อย"

 

[caption id="attachment_346846" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

เพื่อเร่งยกระดับและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ทางสมาคมมี 3 เรื่อง ที่เป็นนโยบายสำคัญ ได้แก่ 1.กระตุ้นให้สมาชิกได้มีการปรับเปลี่ยน และนำเทคโนโลยี ซอฟต์แวร์ เครื่องจักร โรบอต IoT สมัยใหม่ เข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมให้มากที่สุด 2.เรื่องแวลูเชน ซึ่งต่อไปการ์เมนต์ไม่ใช่เชื่อมกับแค่โรงงานปั่นทอ ฟอกย้อม และผลิตเป็นเสื้อผ้าก็จบ แต่ต้องทำเป็น Pool เชื่อมกับคู่ค้าและผู้บริโภค ว่า ต้องการเสื้อผ้าแบบไหน อย่างไร รวมถึงขยายกลุ่มลูกค้าเข้าไปในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น รถยนต์ โรงแรม โรงพยาบาล ออร์แกไนเซอร์งานต่าง ๆ เป็นต้น และ 3.ต้องออกไปเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น เพื่อติดต่อซื้อขายและร่วมมือทำประโยชน์ทางการค้าเพิ่มขึ้น


หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,420 วันที่ 22-24 พฤศจิกายน 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว