อินโดรามาผลักดัน rPET สู่แฟชั่นรักษ์โลก

23 พ.ย. 2561 | 08:21 น.
ในฐานะผู้นำด้านการส่งเสริมการใช้ PET รีไซเคิล (rPET) และเส้นใยโพลิเอสเทอร์รีไซเคิล ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ ไอวีแอล จึงได้สนับสนุนโครงการ RECO Young Designer Competition มาต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 เพื่อปลูกฝังแนวคิดรักษ์โลกสู่นักออกแบบรุ่นใหม่ และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และองค์กรในระยะยาว โดยปีนี้ สถานทูตเนเธอร์แลนด์ได้จับมืออินโดรามา เวนเจอร์สเป็นครั้งแรก กับการสนับสนุนโครงการดังกล่าว ซึ่งได้ “ชนะจิตร หนูเดช” เป็นผู้ชนะ จากผลงานคอลเลกชัน “Back to the Earth” รับเงินรางวัล และเข้าร่วมโครงการทัศนศึกษา เปิดประสบการณ์ด้านการออกแบบ และโอกาสเข้าร่วมงาน Dutch Design Week ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์

ผลงานของน้องๆ

“เคส ราเดอ” เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย บอกว่า ประเทศเนเธอร์แลนด์ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมที่มีความคิดสร้างสรรค์ (Creative Industry) ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากกับระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพราะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับหลากหลายวงการ ไม่ว่าจะในเชิงของสถาปัตยกรรม แฟชั่น สินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ก็ต้องอาศัยนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์นี้ และเมื่อนำมาผสมผสานกับมิติของความยั่งยืนในการตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อน จะได้เห็นการกระตุ้นให้เกิดโมเดลใหม่ๆ ที่ผสมผสานกันระหว่างสังคมที่มีความคิดสร้างสรรค์กับการให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในเจเนอเรชันต่อๆ ไป

นักออกแบบรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการ แต่ละปี จะได้รับความรู้ด้านการดีไซน์ และเทคนิคใหม่ๆ ในการนำวัสดุใช้แล้วมาสร้างสรรค์เป็นผลงาน ตลอดจนเข้าใจถึงแนวคิดในการรักษ์โลกด้วยการอัพไซเคิลเพื่อเพิ่มมูลค่าสิ่งของใช้แล้ว โดยอินโดรามา เวนเจอร์ส ได้คัดเลือกนักออกแบบที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 30 ทีม จาก 200 ผลงาน เพื่อเข้าร่วมการ Workshop ด้านการออกแบบเชิงนิเวศ (eco-design workshop) โดยมีผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการออกแบบคอยให้คำแนะนำ และผู้เข้ารอบ 10 ทีมสุดท้าย จะได้ใช้ความรู้ที่ได้รับจากการเวิร์กช็อป ผลิตผลงานเพื่อจัดแสดงในงานประกาศผลรอบสุดท้าย

“ริชาร์ด โจนส์” รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายการสื่อสารองค์กร ความยั่งยืน และทรัพยากรบุคคล(สำนักงานใหญ่) อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวว่า เทคโนโลยีการผลิตเม็ดพลาสติกจากขวดพลาสติกรีไซเคิล มีความ
ทันสมัย และสะอาด ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา และระเบียบคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ซึ่งบริษัท เริ่มดำเนินการโรงงานรีไซเคิลมาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งPET รีไซเคิล
(rPET) และเส้นใยโพลิเอสเทอร์รีไซเคิล สามารถนำผลิตอะไรก็ได้ เยอะแยะมากมาย และสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้เรื่อยๆ แบบไม่มีข้อจำกัด

EAK_9311 copy

การนำ PET รีไซเคิล (rPET) และเส้นใยโพลิเอสเทอร์รีไซเคิล มาแต่งเติมไอเดีย เป็นเสื้อผ้า นั่นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง จากอีกหลายๆ อย่างที่พลาสติกเหล่านี้สามารถทำได้ “ริชาร์ด” บอกเพิ่มเติมว่า ในอีกประมาณ 7 ปีข้างหน้า ผู้ผลิตรถยนต์วอลโว่ จะใช้วัสดุจากเส้นใยโพลิเอสเทอร์รีไซเคิล 100% ภายในรถวอลโว่ทุกคัน นั่นแสดงให้เห็นว่า ทั้ง PET รีไซเคิล (rPET) และเส้นใยโพลิเอสเทอร์รีไซเคิล สามารถนำมาผลิตเป็นข้าวของเครื่องใช้ได้หลากหลายรูปแบบจริงๆ

และนั่นคือโอกาสในการขจัดขยะอย่างมีมูลค่า แทนที่จะต้องเสียเงินปีละกว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการไปเก็บขยะพลาสติกจากทะเล เราควรสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะเหล่านี้ ด้วยแนวคิดสร้างสรรค์ และเห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านั้นจริงๆ

หน้า 26-27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,420 ระหว่างวันที่ 22-24 พฤศจิกายน 2561

595959859