มองอนาคตการศึกษาไทย กับการเปลี่ยนผ่านสู่ การศึกษา 4.0  

16 พ.ย. 2561 | 07:31 น.
แนะการศึกษาไทย เร่งพัฒนาสู่การศึกษา 4.0  พร้อมปรับตัวรับเทรนด์เศรษฐกิจ และสังคมที่เปลี่ยนแปลงทั้งด้านหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน  และบทบาทบุคคลากร

ผศ.ดร.ดนุวัศ สาคริก รักษาราชการแทนรองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)  กล่าวว่า ปัจจุบันการพัฒนาประเทศต่างๆ ในโลกนับว่ามีความท้าทายเป็นอย่างมาก เนื่องจากบริบททางด้านเศรษฐกิจ และสังคมนั้นมีการเปลี่ยนแปลง หน่วยงานทั้งภาครัฐและ ภาคเอกชนในปัจจุบัน ต่างก็ปรับตัวเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง หรือบางแห่งต้องปฏิรูป เพื่อให้หน่วยงาน สามารถเติบโตและอยู่รอดได้ อย่างไรก็ดีสำหรับอนาคตการศึกษาไทยที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นการก้าวสู่ยุคการศึกษา 4.0 จากการที่บริบททางเทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างมาก และเมื่อมองภาพรวมของการศึกษาจะพบว่ามีหลักสูตร ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก บ่งบอกถึงการแข่งขันมากขึ้นมี supply มากขึ้นนั่นเอง

นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่สุดก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของเทคโนโลยี ที่เข้ามามี บทบาทอย่างมากในการดำรงชีพและการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคม ดังนั้นความท้าทายจึงเกิดขึ้นกับสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ หลายแห่ง ในประเทศไทยโดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาโดยความท้าทายหลัก คือความสามารถในการรับมือกับบริบททางเศรษฐกิจสังคมและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก หากไม่สามารถตอบโจทย์สิ่งที่สังคมคาดหวังได้หรือไม่สามารถตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มต่างๆในสังคมได้การอยู่รอดหรือเติบโตคงเป็นไปได้ยาก หนทางที่ดีที่สุดคือต้องปรับตัวอย่างมาก

Dr.Dhanuvas

     ดนุวัศ สาคริก

นโยบายการศึกษาในอนาคต จึงควรมุ่งเน้นวัตถุประสงค์ของ การจัดการศึกษา เพื่อให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษานั้นสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานในทุกภาคส่วน ในทุกกลุ่ม อุตสาหกรรมได้ทันที การศึกษาในระดับอุดมศึกษานั้นควรจะมุ่งเน้นความรู้ที่ทันสมัย ไม่เพียงแค่ท่องจำเท่านั้น แต่ต้องประยุกต์ใช้ความรู้ เพื่อให้ ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก แนวทางการเรียน การสอนควรฝึกให้นักศึกษาหรือผู้เรียน ได้รู้จักการคิดวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น

ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยจำเป็นที่จะต้องนำเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลมาปรับใช้ กับทั้งการบริหารงานภายในการจัดการเรียนการสอนและให้บริการกับผู้เรียน นอกจากนี้ ผู้บริหาร มหาวิทยาลัย ควรคำนึงถึงความต้องการของผู้เรียนและความต้องการของภาคส่วนต่างๆเป็นหลัก จะต้องเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนไปมาก

S__88858809

มหาวิทยาลัยจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทั้งในด้าน 1. การจัดการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา ที่ต้องยึดหลักผู้เรียนเป็นศูนย์กลางหรือ student center อย่างแท้จริง  2. มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษานั้นควรปรับบทบาท จากเป็นเพียงแค่สถานที่ให้ความรู้ และให้ใบปริญญา เป็นสถานที่ที่ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการลองผิดลองถูก นำประสบการณ์ การทำงานมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ 3. มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาควรที่จะมุ่งผลิตบุคลากร เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศที่ขาดแคลน และจะต้องมั่นใจว่าบุคลากรที่ผลิตไปนั้น มีความรู้ทักษะจริง และตรงกับความ ต้องการของอุตสาหกรรมต่างๆ 4. ครูอาจารย์ในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษานั้น จะต้องเพิ่มพูนความรู้ตัวเองให้มากกว่า ที่มีอยู่ในตำราหรือในทฤษฎีให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ที่ทันสมัย และตรงกับความต้องการจริงของภาครัฐและภาคเอกชนในปัจจุบัน การทำวิจัยต่างๆ ควรจะตอบโจทย์ความต้องการในการพัฒนาประเทศ และ สามารถเข้าใจถึงตัวงานที่เกิดขึ้นจริงในอุตสาหกรรมต่างๆได้