เคลียร์หนี้ 3.3 หมื่นล้าน! ร.ฟ.ท. เร่งส่งมอบ "แอร์พอร์ตลิงค์" ภายใน 2 ปี

19 พ.ย. 2561 | 00:57 น.
ร.ฟ.ท. เร่งมอบภาระหนี้ก้อนโต 3.3 หมื่นล้าน ของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ แยก 2 ก้อนชัดเจน ทั้งของบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด วงเงินราว 1.06 หมื่นล้านบาท ชงรัฐบาลรับไปดำเนินการ 2 หมื่นล้านบาท

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ตามที่ได้เปิดให้มีการยื่นซองเอกสารประกวดราคาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินไปแล้วนั้น โดยมี 2 กลุ่มสนใจเข้ามายื่นซอง คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ นำโดย นายกวิน กาญจนพาสน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน), นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน), กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ที่นำโดย นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ส่วนพันธมิตรในกลุ่มนี้ ประกอบไปด้วย


แอร์พอร์ตลิ้งค์

1.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง 2.บริษัทไชน่าเรลเวย์ คอนสตรั๊คชั่น (เซาท์อีสท์ เอเชีย) จำกัด (CRCC) หรือ China Railway Construction Corporation Limited. (สาธารณรัฐประชาชนจีน) 3.บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ 4.บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ และ 5.บมจ.ช.การช่าง

ดังนั้น เพื่อให้การเร่งส่งมอบโครงการให้กับกลุ่มบริษัทที่ชนะประมูลสามารถนำไปพัฒนาโครงการได้รวดเร็วขึ้น จึงต้องเร่งเคลียร์ภาระหนี้ของโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์โดยเร็ว โดยปัจจุบันมีภาระหนี้ก้อนโตคิดเป็นวงเงินรวม 3.3 หมื่นล้านบาท จำแนกเป็นหนี้เกี่ยวกับตัวรถและงานระบบต่าง ๆ ที่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด รับไปดำเนินการและอยู่ในความรับผิดชอบบริหารจัดการแล้วนั้น คิดเป็นวงเงินประมาณ 1.06 หมื่นล้านบาท ดังนั้น ส่วนที่เหลืออีกกว่า 2 หมื่นล้านบาท รัฐบาลจะต้องเร่งเคลียร์ให้ ร.ฟ.ท. ต่อไป

"หนี้ที่เกิดจากตัวรถและงานระบบต่าง ๆ จะเป็นภาระของบริษัทลูกของ ร.ฟ.ท. รับผิดชอบบริหารจัดการไปแล้ว แต่ยังมีสัญญาขึ้นตรงกับ ร.ฟ.ท. ส่วนภาระหนี้เกิดจากสถานีจำนวน 8 แห่ง ศูนย์ซ่อมบำรุงและตามแนวเส้นทาง รัฐบาลจะต้องชำระให้กับ ร.ฟ.ท. ต่อไป โดยจะต้องมอบหมายให้สำนักงบประมาณเข้ามาดำเนินการเรื่องดังกล่าวนี้ให้ชัดเจนโดยเร็ว เพื่อให้สามารถส่งมอบโครงการให้กับผู้ชนะการประมูลรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ได้อย่างรวดเร็วต่อไป"

ทั้งนี้ ตามหลักการวิเคราะห์โครงการดังกล่าวนี้เพื่อจะจ่ายเงินสนับสนุนยังได้มีการนำพื้นที่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ทั้งตัวรถและตามสถานีทั้งหมดไปรวมเอาไว้ด้วย เทียบกับรายได้ที่ได้รับจากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะพื้นที่โฆษณาชัดเจนจึงสามารถเปรียบเทียบรายรับ-รายจ่ายได้ทันที คาดว่าประเด็นดังกล่าวนี้ผู้ชนะประมูลรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ก็คงจะรับไปดำเนินการต่อเนื่องและอาจจะต้องร่วมหารือกับรายเดิมให้สามารถต่อยอดผลการดำเนินการต่อไป


090861-1927-9-335x503-3

ด้าน นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด กล่าวว่า บริษัท โคอะ-ฉะมีเดีย (ประเทศ ไทย) จำกัด ได้ทำสัญญากับ ร.ฟ.ท. มีระยะเวลา 10 ปี โดยยังคงเหลืออีกประมาณ 3 ปี แต่ไม่ทราบว่า มีเงื่อนไขระบุไว้ในสัญญาหรือไม่ว่า หากจะต้องส่งมอบโครงการแอร์พอร์ตลิงค์เร็วขึ้นจะสามารถกระทำได้หรือไม่

"แอร์พอร์ตลิงค์ปัจจุบันยังอยู่ในฐานะรับจ้างเดินรถให้ ร.ฟ.ท. โดยเปิดให้บริการมาแล้ว 8 ปี แต่บริษัท โคอะ-ฉะ มีเดียฯ ลงนามสัญญาช้าไป 1 ปี ดังนั้น จึงมีช่วงคาบเกี่ยวกัน หากจะต้องส่งมอบให้ผู้ชนะประมูลรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน จะต้องไปตรวจสอบเอกสารสัญญาว่า มีเงื่อนไขใดกำหนดไว้เป็นพิเศษหรือไม่ โดยเฉพาะกรณีระบุพื้นที่เชิงพาณิชย์เอาไว้ด้วยอย่างไรบ้าง แต่ในส่วนของแอร์พอร์ตลิงค์ยืนยันพร้อมส่งมอบตัวรถทั้ง 9 ขบวน และระบบต่าง ๅ อาทิ ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบสื่อสาร ระบบไฟฟ้าขับเคลื่อน ระบบเดินรถ ได้ทันทีภายหลังจากได้ลงนามสัญญาให้บริษัทผู้ชนะการประมูลโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน รับไปดำเนินการพร้อมกับจะต้องถ่ายโอนเทคโนโลยีต่อกันให้แล้วเสร็จต่อไป"

หน้า12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,419 วันที่ 18 - 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

e-book-1-503x62