ปี'59 ธุรกิจโรงแรมเติบโตร้อยละ 4.7-6.0 การลงทุนต่างจังหวัดขยายตัว

02 มี.ค. 2559 | 02:25 น.
ปี'59 ธุรกิจโรงแรมเติบโตร้อยละ 4.7-6.0 การลงทุนต่างจังหวัดขยายตัว แต่ยังเผชิญความท้าทายหลายด้าน

ประเด็นสำคัญ

•การเติบโตของการท่องเที่ยวในหัวเมืองหลัก รวมถึงการกระตุ้นการท่องเที่ยวจังหวัดเมืองรอง ส่งผลให้การลงทุนธุรกิจโรงแรมในต่างจังหวัดขยายตัว แต่ธุรกิจโรงแรมก็เผชิญความท้าทายในการเพิ่มอัตราการเข้าพักและราคาห้องพัก รวมถึงการกระจายตัวของนักท่องเที่ยว ซึ่งอาจส่งผลให้รายได้ค่าห้องพักต่อจำนวนห้องพักที่มีอยู่ของธุรกิจโรงแรมที่รุกขยายธุรกิจไปยังต่างจังหวัดลดลง หรือเติบโตอย่างชะลอตัวลงได้ในภาพรวม

•การแข่งขันของธุรกิจโรงแรมระดับกลางถึงบัดเจ็ทโฮเท็ลมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ประกอบกับขีดความสามารถในการขึ้นราคาห้องพักเป็นไปอย่างจำกัด โดยการรุกคืบขยายธุรกิจของธุรกิจโรงแรมรายใหญ่มาสู่ธุรกิจโรงแรมระดับกลางถึงบัดเจ็ทโฮเท็ล ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมในตลาดมีแนวโน้มใช้กลยุทธ์การแข่งขันด้านราคา

•จากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น รวมถึงที่ประชุม ครม. อนุมัติวันหยุดราชการเพิ่มในเดือน พ.ค. และ ก.ค. ปี 2559 กระตุ้นการท่องเที่ยวจากตลาดในประเทศ ประกอบกับการฟื้นตัวของรายได้อื่นๆ เช่น จัดประชุม สัมมนา และอีเว้นท์ อาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ปี 2559 จะมีเม็ดเงินสะพัดสู่ธุรกิจโรงแรม 537,000-544,000 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 4.7-6.0 จากปี 2558 โดยการลดการพึ่งพิงตัวกลางที่ให้บริการจองโรงแรมผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นความท้าทายระยะข้างหน้า

แม้ภาพรวมธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น แต่การแข่งขันก็รุนแรงมากขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ซึ่งผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างกัน โดยธุรกิจโรงแรมรายใหญ่รุกขยายธุรกิจในประเทศทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด รวมถึงรุกขยายฐานธุรกิจในต่างประเทศ ส่วนธุรกิจโรงแรมรายกลางและเล็ก ก็สร้างเอกลักษณ์เพื่อเจาะนักท่องเที่ยวที่เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ในขณะที่ ธุรกิจโรงแรมรายกลางและเล็กที่เจาะนักท่องเที่ยวทั่วไป ก็ให้การสร้างความคุ้มค่ายิ่งขึ้น ในระดับราคาไม่สูงนัก ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมรายกลางและเล็กมีความหลากหลายมากขึ้น

การลงทุนโรงแรมในต่างจังหวัดขยายตัว...แต่เผชิญความท้าทายในการเพิ่มอัตราการเข้าพักและราคาห้องพัก รวมถึงการแข่งขันในหัวเมืองหลักรุนแรงขึ้นจากการกระจายตัวของนักท่องเที่ยว

แม้ว่าการแข่งขันของธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยจะรุนแรงมากขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ประกอบการ แต่ธุรกิจโรงแรมรายใหญ่ก็รักษาการเติบโตของรายได้ได้เป็นอย่างดี สอดคล้องกับภาพธุรกิจโรงแรมที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีรายได้จากกิจการโรงแรมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 เติบโตถึงร้อยละ 18.7 จากในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557  รวมถึงรายได้ค่าห้องพักต่อจำนวนห้องพักที่มีอยู่ (Revenue Per Available Room) ของธุรกิจโรงแรมที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยส่วนใหญ่ยังเติบโตต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเข้าพัก และราคาห้องพักเพิ่มสูงขึ้น

จากการที่กรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ส่งผลให้ในระยะที่ผ่านมาผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมรายใหญ่ให้ความสำคัญกับการขยายการลงทุนธุรกิจโรงแรมในกรุงเทพฯ ที่มีส่วนหนุนให้กรุงเทพฯเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนห้องพักสูงที่สุดคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 18 ของจำนวนห้องพักในประเทศไทยโดยรวม รวมถึงในปี 2558 ที่ผ่านมา กรุงเทพฯยังมีบทบาทผลักดันให้อัตราการเติบโตของค่าห้องพักเฉลี่ยที่ขายได้จริงในภาคกลางเพิ่มสูงขึ้นอย่างโดดเด่น รวมถึงผลักดันให้อัตราการเข้าพักในภาคกลางสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ขีดความสามารถในการขยายการลงทุนธุรกิจโรงแรมในกรุงเทพฯเป็นไปอย่างจำกัด ประกอบกับการเล็งเห็นโอกาสในการขยายการลงทุนธุรกิจโรงแรมในต่างจังหวัด ทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวในหัวเมืองหลัก รวมถึงการกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวกระจายตัวท่องเที่ยวจังหวัดเมืองรอง เช่น ภาครัฐดำเนินโครงการ "เมืองต้องห้ามพลาด...PLUS" ท่องเที่ยว 12 เมืองรอง และอีก 12 เมืองใกล้เคียง ธุรกิจการบินที่บริการเที่ยวบินตรงและรถหรือเรือเพื่อต่อไปยังแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดเมืองรอง การจัดอีเว้นท์แข่งขันกีฬาต่างๆซึ่งมีแนวโน้มจัดการแข่งขันยังจังหวัดเมืองรองมากขึ้น เป็นต้น ส่งผลให้ทิศทางของผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมรายใหญ่รุกขยายธุรกิจไปยังต่างจังหวัดมากขึ้นอย่างสอดคล้องกับกลุ่มนักท่องเที่ยวและรูปแบบการท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ ครอบคลุมตั้งแต่โรงแรมระดับบน โรงแรมระดับกลาง ไปจนถึงบัดเจ็ทโฮเท็ล

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางของผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมรายใหญ่ที่รุกขยายธุรกิจไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ทั้งการก่อสร้างโรงแรมใหม่ รวมถึงการเข้าซื้อธุรกิจโรงแรมรายเดิมในพื้นที่ ส่งผลให้การลงทุนธุรกิจโรงแรมในต่างจังหวัดขยายตัว ทั้งในหัวเมืองหลัก และจังหวัดเมืองรอง แต่ก็เผชิญความท้าทายในการเพิ่มอัตราการเข้าพักและราคาห้องพัก จากจำนวนนักท่องเที่ยวและราคาห้องพักในจังหวัดเมืองรองที่ยังไม่สูงนัก เมื่อเปรียบเทียบกับในกรุงเทพฯและหัวเมืองหลัก รวมถึงการกระจายตัวท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวในจังหวัดเมืองรอง อาจส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวในหัวเมืองหลักมีแนวโน้มลดลง ซึ่งอาจส่งผลให้รายได้ค่าห้องพักต่อจำนวนห้องพักที่มีอยู่ของธุรกิจโรงแรมที่รุกขยายธุรกิจไปยังต่างจังหวัดลดลง หรือเติบโตอย่างชะลอตัวลงได้ในภาพรวม

โดยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในบริเวณชายแดนเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่จะนำมาซึ่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สะท้อนโอกาสสำหรับธุรกิจโรงแรมในการขยายธุรกิจเพื่อให้บริการที่พักสำหรับผู้ติดต่อธุรกิจทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

จับตา โรงแรมระดับกลางถึงบัดเจ็ทโฮเท็ลแข่งขันด้านราคา

พัฒนาการของธุรกิจโรงแรมระดับบน ทั้งการขยายธุรกิจในพื้นที่ศักยภาพ และการต่อยอดเป็น Mixed-use Project ประกอบกับภาครัฐให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติระดับบนหลายกลุ่ม ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมระดับบนยังสามารถเจาะตลาดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติระดับบนกลุ่มใหม่ๆที่มีโอกาสเติบโตได้ เช่น กลุ่มล่องเรือยอร์ช กลุ่มไมซ์ กลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กลุ่มฮันนีมูนและจัดงานแต่งงาน เป็นต้น ส่งผลให้ในปี 2559 นี้ ธุรกิจโรงแรมระดับบนยังสามารถรักษาตำแหน่งการแข่งขันได้ ประกอบกับยังมีรายได้อื่นๆ เช่น จัดประชุม สัมมนา และอีเว้นท์ อาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น ที่คาดว่าจะฟื้นตัวช่วยหนุนให้ภาพรวมของธุรกิจโรงแรมระดับบนคึกคักในปี 2559

สำหรับธุรกิจโรงแรมระดับกลางถึงบัดเจ็ทโฮเท็ล ซึ่งมีผู้ประกอบการจำนวนมาก ก็เผชิญความท้าทายจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ท่องเที่ยวประเทศไทยที่อาจเติบโตอย่างชะลอตัวลงจากปี 2558 อีกทั้งการเติบโตของกลุ่มทัวร์จีน ก็เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการชาวจีนเริ่มเข้ามาประกอบธุรกิจบริการที่พักแข่งขันกับโรงแรมระดับกลางถึงบัดเจ็ทโฮเท็ลในพื้นที่ที่มีการกระจุกตัวท่องเที่ยวของกลุ่มทัวร์จีน เช่น เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต เป็นต้น

รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทยมีทางเลือกในการซื้อหรือเช่าที่พักอื่นๆ เช่น คอนโดมิเนียม บ้านพัก เซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ เป็นต้น ทั้งจากเจ้าของโดยตรงและผ่านเว็บไซต์ที่เป็นศูนย์กลาง ที่ตั้งราคาแข่งขันกับธุรกิจโรงแรมระดับกลางถึงบัดเจ็ทโฮเท็ลได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2559 นี้ การแข่งขันของธุรกิจโรงแรมระดับกลางถึงบัดเจ็ทโฮเท็ลมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ประกอบกับขีดความสามารถในการขึ้นราคาห้องพักของธุรกิจโรงแรมระดับกลางถึงบัดเจ็ทโฮเท็ลเป็นไปอย่างจำกัด ท่ามกลางภาวะที่ธุรกิจโรงแรมรายใหญ่บางรายเล็งเห็นโอกาสในการขยายการลงทุนธุรกิจโรงแรมในแต่ละพื้นที่ จึงขยายการลงทุนมาสู่ธุรกิจโรงแรมระดับกลางถึงบัดเจ็ทโฮเท็ลอย่างสอดคล้องกับกลุ่มนักท่องเที่ยวและรูปแบบการท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่นั้นๆ โดยการรุกคืบขยายธุรกิจของธุรกิจโรงแรมรายใหญ่ ส่งผลต่อเนื่องให้ธุรกิจโรงแรมระดับกลางถึงบัดเจ็ทโฮเท็ลรายเดิมในพื้นที่นั้นๆมีแนวโน้มใช้กลยุทธ์การแข่งขันด้านราคามากขึ้น

คาด ธุรกิจโรงแรมปี'59 เติบโตร้อยละ 4.7-6.0

การลดการพึ่งพิงตัวกลางที่ให้บริการจองโรงแรมผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นความท้าทายระยะข้างหน้า

•ปี 2559 เม็ดเงินสะพัดสู่ธุรกิจโรงแรม 537,000-544,000 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 4.7-6.0

แม้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในประเทศไทยจะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี แต่ก็อาจผันผวนจากปัจจัยเสี่ยง เช่น เศรษฐกิจ การเมือง การก่อการร้าย เป็นต้น เป็นเหตุให้ภาครัฐกระตุ้นการท่องเที่ยวจากตลาดภายในประเทศควบคู่กันไป โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติวันหยุดราชการเพิ่มเติมในเดือนพฤษภาคมและกรกฎาคม ปี 2559 ซึ่งคาดว่าจะมีผลทางจิตวิทยาให้บรรยากาศการใช้บริการโรงแรมจากนักท่องเที่ยวชาวไทยคึกคัก ประกอบกับรายได้อื่นๆ เช่น จัดประชุม สัมมนา และอีเว้นท์ต่างๆ อาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น น่าจะฟื้นตัว

ส่งผลให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ปี 2559 จะมีเม็ดเงินสะพัดสู่ธุรกิจโรงแรมประมาณ 537,000-544,000 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 4.7-6.0 จากปี 2558 ที่คิดเป็นมูลค่า 513,000 ล้านบาท โดยเป็นการเติบโตอย่างชะลอตัวลงจากปี 2558 ที่คาดการณ์ว่า จะเติบโตร้อยละ 7.1 โดยเป็นเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 385,000-391,000 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 6.1-7.7 จากปี 2558 ที่คิดเป็นมูลค่า 513,000 ล้านบาท และเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 152,000-153,000 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 1.3-2.0 จากปี 2558 ที่คิดเป็นมูลค่า 150,000  ล้านบาท

โดยธุรกิจโรงแรมรายใหญ่ที่รุกขยายธุรกิจ รวมถึงมีความสามารถในการรักษาราคาห้องพักและอัตราการเข้าพักไว้ได้จากการมีแบรนด์เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง เป็นกลุ่มที่ผลักดันให้เม็ดเงินธุรกิจโรงแรมในปี 2559 ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ในขณะที่ ธุรกิจโรงแรมรายกลางและเล็กที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่ต่ำกว่า ก็หันมาให้ความสำคัญกับการกำหนดตำแหน่งการแข่งขันเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าให้ชัดเจน รวมถึงทำการตลาดอย่างเข้มข้นขึ้น รับมือการแข่งขันของธุรกิจโรงแรมที่รุนแรงขึ้นในปี 2559 นี้

•การลดการพึ่งพิงตัวกลางที่ให้บริการจองโรงแรมผ่านอินเทอร์เน็ต ในขณะที่ยังสามารถเข้าถึงฐานนักท่องเที่ยวได้อย่างสูงสุด เป็นความท้าทายระยะข้างหน้า

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแข่งขันของธุรกิจโรงแรมที่รุนแรงขึ้นเป็นปัจจัยที่กำหนดให้ธุรกิจโรงแรมใช้ช่องทางการขายห้องพักที่หลากหลายขึ้นเพื่อให้สามารถเข้าถึงนักท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่ธุรกิจโรงแรมจะกำหนดราคาอ้างอิง ซึ่งการขายห้องพักแต่ละช่องทางจะมีค่าใช้จ่ายในการขายที่แตกต่างกัน เช่น การจ่ายส่วนแบ่งค่าคอมมิสชั่น การให้ส่วนลดจากราคาอ้างอิง เป็นต้น

โดยตัวกลางที่ให้บริการจองโรงแรมผ่านอินเทอร์เน็ต (Online Travel Agent: OTA) มีฐานข้อมูลนักท่องเที่ยวจำนวนมาก รวมถึงมีบทบาทในการจองห้องพักตลอดขั้นตอน ตั้งแต่การหาข้อมูล การรีวิวและให้คะแนนจากผู้เข้าพัก การเปรียบเทียบคุณสมบัติและราคาห้องพัก จนถึงการชำระเงินค่าห้องพัก ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมมีแนวโน้มพึ่งพิงช่องทางการขายห้องพักผ่านตัวกลางที่ให้บริการจองโรงแรมผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น

ในขณะที่ ธุรกิจโรงแรมต้องจ่ายส่วนแบ่งค่าคอมมิสชั่นให้กับตัวกลางที่ให้บริการจองโรงแรมผ่านอินเทอร์เน็ตถึงประมาณร้อยละ 15-30 ของค่าห้องพักที่ขายได้ ซึ่งธุรกิจโรงแรมทั่วไปมีช่องทางการขายห้องพักที่ไม่เข้มแข็งเท่าเชนโรงแรมยังจำเป็นต้องพึ่งพาตัวกลางที่ให้บริการจองโรงแรมผ่านอินเทอร์เน็ต และมีอำนาจต่อรองในการจ่ายส่วนแบ่งค่าคอมมิสชั่นอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับส่วนใหญ่เป็นการจัดโปรโมชั่นลดราคาห้องพัก ที่แม้จะกระตุ้นอัตราการเข้าพักให้เพิ่มสูงขึ้น แต่ก็อาจส่งผลให้ราคาห้องพักลดลงกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น และอาจส่งผลต่อเนื่องให้รายได้ค่าห้องพักต่อจำนวนห้องพักที่มีอยู่ลดลง

อีกทั้ง นักท่องเที่ยวสามารถยกเลิกการจองห้องพักผ่านตัวกลางที่ให้บริการจองโรงแรมผ่านอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่งผลให้นักท่องเที่ยวนิยมจองห้องพักล่วงหน้าหลายแห่ง และตัดสินใจจ่ายเงินสำหรับห้องพักที่คุ้มค่าที่สุดโดยยกเลิกการจองห้องพักที่เหลือก่อนการเดินทางเพียงไม่นาน ส่งผลให้ห้องพักที่ถูกยกเลิกการจองสูญเสียโอกาสสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวรายอื่นๆ และส่งผลต่อเนื่องให้การคาดการณ์รายได้และการบริหารจัดการของธุรกิจโรงแรมแต่ละรายเป็นไปได้ยากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การลดการพึ่งพิงตัวกลางที่ให้บริการจองโรงแรมผ่านอินเทอร์เน็ต ในขณะที่ยังสามารถเข้าถึงฐานนักท่องเที่ยวได้อย่างสูงสุด เป็นความท้าทายของธุรกิจโรงแรมในระยะข้างหน้า โดยธุรกิจโรงแรมจำเป็นต้องกำหนดราคาห้องพักแต่ละช่องทาง ได้แก่ ตัวกลางที่ให้บริการจองโรงแรมผ่านอินเทอร์เน็ต แทรเวลเอเจนซี่ ช่องทางการขายของโรงแรมเอง และช่องทางอื่นๆอย่างสอดคล้องกัน รวมถึงจำเป็นต้องสร้างความสมดุลของรายได้จากแต่ละช่องทางควบคู่กันไป

นอกจากนี้ ธุรกิจโรงแรมยังจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการวางแผนขายห้องพักล่วงหน้า เช่น การทำสัญญาขายห้องพักล่วงหน้ากับผู้ค้าส่งห้องพัก แทรเวลเอเจนซี่ บริษัททัวร์ รวมถึงลูกค้าองค์กรโดยตรง การขายห้องพักล่วงหน้าในงานเทศกาลท่องเที่ยว เป็นต้น เพื่อนำมาสู่การคาดการณ์รายได้ที่แม่นยำ และลดความเสี่ยงในการบริหารจัดการ

 

ที่มา:ศูนย์วิจัยกสิกรไทย