เผยแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เสนอตั้งเขตนวัตกรรมสมุนไพร 22 เมือง

11 พ.ย. 2561 | 09:11 น.
เผยแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เสนอจัดตั้ง "เขตนวัตกรรมอุตสาหกรรมอาหารและผลิตภัณฑ์สมุนไพร" ในพื้นที่ 22 เมืองหลัก เพื่อสร้างแหล่งงานที่มีความยั่งยืนในพื้นที่หวังเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาทต่อจังหวัดต่อปี จัดงบปีละ 3 หมื่นล้านสนับสนุน ดีเดย์เริ่มปี 64

นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย ในฐานะคณะกรรมการยกร่างแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติคณะที่ 4 กล่าวว่า คณะกรรมการได้เห็นชอบสนับสนุนการสร้างพื้นที่แหล่งงานที่มีมั่นคงในภูมิภาค โดยให้จัดตั้งเขตนวัตกรรมอุตสาหกรรมอาหารและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ในพื้นที่ 22 เมืองหลักและรอง


7D361F1C-9206-4B69-9B53-9BDC95DE6E99

โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาแหล่งการจ้างงานขนาดใหญ่ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก การพัฒนาแหล่งงานเพาะปลูกพืชพรรณสมุนไพรในแปลงเกษตรและการแปรรูปขั้นต้น ในกลุ่มนี้จะสร้างงานให้เกษตรกรเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 300 อัตราในแต่ละจังหวัด โดย 70% เป็นเกษตรกรที่เชี่ยวชาญด้านการเกษตรและการแปรรูป คาดว่าจะเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาทต่อจังหวัดต่อปี

กลุ่มที่ 2 การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ในสาขาผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ความงาม และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยการผลิตในกลุ่มสามารถจ้างงานประเภทผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยได้ไม่น้อยกว่า 100 อัตราของแต่ละจังหวัด และประเภทนักเทคนิคการผลิตไม่น้อยกว่า 500 อัตราต่อจังหวัด โดยสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ไม่น้อยกว่าจังหวัดละ 1,500 ล้านบาทต่อปี

กลุ่มที่ 3 การพัฒนาเครือข่ายการค้าผลิตภัณฑ์อาหารและสมุนไพร เป็นเครือข่ายการค้าในประเทศและต่างประเทศ เพิ่มขึ้นรวมกันไม่น้อยกว่า 300 อัตรา มีมูลค่าเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 5 หมื่นล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ ผู้ผลิตใน 22 จังหวัดหลักและรอง จะต้องทำงานร่วมกับเครือข่ายวิชาการของคณะเภสัชศาสตร์ในพื้นที่ ได้แก่ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้บริการวิชาการแก่ จ.เชียงใหม่ แพร่ และพะเยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิยาลัยนเรศวร ให้บริการวิชาการจังหวัดพิษณุโลก นครสวรรค์ และตาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้บริการแก่ จ.ขอนแก่น อุดรธานี สกลนคร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้บริการแก่ จ.อุบลราชธานี มุกดาหาร และสุรินทร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุรนารี ให้บริการแก่ จ.นครราชสีมา และชัยภูมิ

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยศิลปากร ให้บริการแก่ จ.ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และสมุทรสาคร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ให้บริการแก่ จ.ปราจีนบุรีและจันทบุรี ส่วนคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้บริการแก่ จ.สงขลา ตรัง และสุราษฎร์ธานี โดยภายใต้แผนงานนี้จะทำให้ไทยสามารถครองส่วนแบ่งตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยรวมของตลาดโลก 20% ตามแผนระยะ 20 ปี


0C2F4635-D5FE-43B3-AC47-CBB4C0E0EDC9

นายฐาปนา กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ได้คัดเลือกผลิตภัณฑ์อาหารและสมุนไพรเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหลักในการส่งเสริมให้เป็นแหล่งจ้างงานของจังหวัดหลักและเป็นตัวขับเคลื่อนการกระจายศูนย์กลางความเจริญ ด้วยปัจจัย 4  ประการ ได้แก่ ปัจจัยแรก อาหารและสมุนไพรเป็นพืชพรรณเกษตรที่เกษตรไทยมีความเชี่ยวชาญในการเพาะปลูก สมุนไพรเป็นพืชพรรณที่สามารถเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี ไม่มีฤดูกาลผลิต

ปัจจัยที่ 2 ประเทศไทยมีภูมิปัญญาดั้งเดิมในการผลิตยาสมุนไพร สมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับการต่อยอดในการพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง ประกอบกับไทยมีคณะเภสัชศาสตร์ กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค สามารถสนับสนุนบุคลากรและห้องปฏิบัติการ วิจัยและพัฒนา ทดสอบมาตรฐาน และเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ประกอบการและเกษตรกรได้ทันที

ปัจจัยที่ 3 สมุนไพรประเภท ผลิตภัณฑ์ยา และผลิตภัณฑ์เสริมความงาม จัดเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่งที่ตลาดโลกเติบโตมาโดยตลอด ไทยสามารถเพิ่มส่วนแบ่งได้ไม่ยาก

ปัจจัยที่ 4 การสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ จะช่วยกระจายแหล่งงานและรายได้ให้ประชาชนและผู้ประกอบการในทุกภาคส่วนได้รับประโยบน์ได้เท่าเทียมกัน SMEs ในภูมิภาคสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นกิจการขนาดใหญ่ได้ในอนาคตนั่นเอง

"แผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ หากได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แผนงานนี้จะได้รับงบประมาณสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้ง 3 กลุ่ม ประมาณปีละ 3 หมื่นล้านบาท โดยรวมเงินกองทุนส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งจะมีการจัดตั้งขึ้นมาใหม่อีกปีละ 2 หมื่นล้านบาทเป็นเวลา 5 ปี โดยจะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2564 เป็นต้นไป"

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว