ซื้อผ้าห่มสูงกว่าราคา(ตลาด!) เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดอย่างไร?

10 พ.ย. 2561 | 04:30 น.
เมื่อฤดูหนาวใกล้มาเยือน ปัญหาภัยหนาวจึงถือเป็นหนึ่งในภัยพิบัติที่ประเทศไทยจะต้องประสบในทุกปีไม่ว่าจะมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งเป็นพื้นที่ตอนบนของประเทศที่มักจะประสบภัยมากกว่าพื้นที่อื่น และหน่วยงานทางปกครองหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีหน้าที่หลักในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชนในเขตพื้นที่ของตน ก็จำต้อง หาวิธีการหรือมาตรการต่างๆ เพื่อบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดขึ้น

และหนึ่งในมาตรการเพื่อบรรเทาภัยหนาวก็คือ “ผ้าห่ม”

แต่การให้ได้มาซึ่งผ้าห่มหรือพัสดุใดก็ตาม เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบและไม่เกินวงเงินงบประมาณหรือราคาที่ทางราชการกำหนดไว้...ครับ และหากจงใจไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องย่อมต้องรับผิดทางละเมิด

ดังเช่นคดีปกครองที่ยกมาเป็นอุทาหรณ์ในฉบับนี้ มูลเหตุเกิดจาก ปี 2550 เทศบาลได้จัดซื้อผ้าห่มกันหนาวเพื่อแจกจ่ายให้กับชาวบ้าน แต่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคตรวจสอบพบว่าการเบิกจ่ายเงินค่าซื้อผ้าห่มกันหนาวเกินกว่าราคาที่ทางราชการกำหนด โดยจัดซื้อในราคาผืนละ 400 บาท ทั้งที่ระเบียบกระทรวงการคลังและหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนดซึ่งประกาศใช้เมื่อปี 2546 ให้จ่ายได้คนละไม่เกิน 160 บาท

ภายหลังจากการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด รวมถึงการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ นายกเทศมนตรีได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่รับผิดชด ใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัดส่วน คือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัสดุจำนวน 4 ราย ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นหรือผู้ผ่านงานจำนวน 3 ราย ผู้บังคับบัญชาหรือผู้อนุมัติ ผู้ฟ้องคดีซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัสดุ 1 ราย ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม (รักษาราชการแทน) และนายกเทศมนตรี (ขณะนั้นซึ่งเป็นผู้อนุมัติ) จึงนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่ง

คดีนี้... มีข้อเท็จจริงเพิ่มเติม คือ ประกาศกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เรื่องรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะและกำหนดราคากลางสิ่งของสำรองจ่าย ปี 2551 ซึ่งกำหนดราคาผ้าห่มไว้ผืนละไม่เกิน 240 บาท

ดังนั้น เมื่อจัดซื้อผ้าห่มในปี 2550 ในราคาผืนละ 400 บาท จึงถือว่าเกินกว่าราคาตามที่ระเบียบกระทรวงการคลังปี 2546 กำหนดไว้ และเกินกว่าราคาตามประกาศของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเมื่อปี 2551 แน่นอนครับ ... ถือว่าเป็นการจัดซื้อที่ไม่ชอบด้วยระเบียบและหลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด ถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีกระทำละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ปัญหาว่า ผู้ฟ้องคดีต้องชดใช้ค่าเสียหายจำนวนเท่าใด ระหว่างยอดต่างของราคาผืนละ 160 บาท (ราคาเมื่อปี 2546) หรือยอดต่างของราคาผืนละ 240 บาท (ราคาเมื่อปี 2551) ศาลปกครองสูงสุด วินิจฉัยว่า ระเบียบกระทรวงการคลังและหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนดได้ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2546 ให้จ่ายได้คนละไม่เกิน 160 บาท ซึ่งห่างจากเวลาที่จัดซื้อเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2550 เป็นระยะเวลาเกือบ 4 ปีเต็ม ซึ่งภาวะเศรษฐกิจที่มีผล กระทบต่อราคาสินค้าต่างๆ ในปี 2546 กับในปี 2550 ย่อมมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จึงไม่อาจจะเชื่อได้ว่าราคาผ้าห่มที่จัดซื้อจะมีราคาในท้องตลาดเพียงผืนละ
160 บาท

เมื่อประกาศกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ ปี 2551 กำหนดราคาผืนละไม่เกิน 240 บาท จึงเชื่อได้ว่าราคาซื้อขายผ้าห่มในท้องตลาดในเวลาที่จัดซื้อ น่าจะมีราคาประมาณผืนละ 240 บาท ซึ่งหากจัดซื้อในราคาผืนละ 240 บาท ก็ไม่อาจถือว่าจัดซื้อในราคาที่สูงกว่าราคาที่พึงจะเป็นในท้องตลาดและไม่อาจจะถือว่าผู้ฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อเทศบาล

การที่ผู้ฟ้องคดีจัดซื้อผ้าห่มในราคาผืนละ 400 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาผ้าห่มที่พึงจะเป็นในท้องตลาดขณะนั้นที่มีราคาประมาณผืนละ 240 บาท ไปผืนละ 160 บาท ถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีกระทำละเมิดทำให้เทศบาลได้รับความเสียหายตามราคาดังกล่าว จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เทศบาล (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 1350/2560)

คดีนี้เป็นบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการที่ดีสำหรับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุตามอำนาจหน้าที่ว่า จะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตโดยถือเอาประโยชน์ของราชการเป็นสำคัญ ทั้งราคา จำนวน และคุณภาพตามมาตรฐานที่ทางราชการกำหนดไว้

และโดยผลบังคับของกฎหมายหากการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างไม่ถูกต้องตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนดไว้ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นฝ่ายพัสดุ ผู้บังคับบัญชาชั้นต้น หรือผู้มีอำนาจอนุมัติในชั้นที่สุด ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในทางละเมิดและอาจต้องรับผิดในทางวินัยด้วยครับ! (ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355 และสืบค้นเรื่องอื่นๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)

อุทาหรณ์ จากคดีปกครอง โดย นายปกครอง

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3417 ระหว่างวันที่ 11 - 14 พฤศจิกายน 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว