อนาคตนํ้ามันปาล์มไทยในตลาดอียู (จบ)

10 พ.ย. 2561 | 09:03 น.
ปาล์ม-1000x523 ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกและมีผลผลิตปาล์มมากเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยมีผลผลิต 13.5 ล้านตัน และสกัดเป็นนํ้ามันปาล์มดิบ 2.5 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 3.8% เมื่อเทียบกับผลผลิตนํ้ามันปาล์มทั่วโลกแล้วหมายถึงไทยถือว่าไม่มีอำนาจในการกำหนดทิศทางราคาในตลาดโลกเลย ผลผลิตส่วนใหญ่เป็นการใช้ในประเทศ อาทิ ใช้ผลิตนํ้ามันปาล์มบริสุทธิ์ ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เคมีภัณฑ์ ไบโอดีเซล ฯลฯ สำหรับการส่งออกไทยเน้นส่งไปตลาดอาเซียนเป็นหลัก ในขณะที่การส่งออกไปตลาดสหภาพยุโรป (อียู) คิดเป็นสัดส่วนเล็กน้อย และมีแนวโน้มลดลงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

oil_palm1

ในด้านการส่งออกนํ้ามันปาล์มไปตลาดสหภาพยุโรป กฎระเบียบ RED II ซึ่งเป็นกฎระเบียบพลังงานหมุนเวียนฉบับปรับปรุงใหม่ (ดังมีรายละเอียดในบทความตอน 1) อาจไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมนํ้ามันปาล์มของไทย เนื่องจากไทยมีส่วนแบ่งการตลาดในสหภาพยุโรปเพียงเล็กน้อย ไม่สามารถแข่งกับอินโดนีเซียหรือมาเลเซียที่มีต้นทุนการผลิตที่ตํ่ากว่าได้

อ่าน | อนาคตนํ้ามันปาล์มไทยในตลาดอียู (1) 

อย่างไรก็ตาม ไทยควรมุ่งไปที่ความต้องการใช้นํ้ามันปาล์มสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและอื่นๆ เนื่องจากรูปแบบการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่มีความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทานหรืออาหารสำเร็จรูปที่ล้วนมีนํ้ามันพืชเป็นส่วนประกอบ นอกจากนี้กลุ่มผู้ประกอบการอาหารและร้านค้าปลีกในสหภาพยุโรปได้ตั้งเป้าหมายให้มีการใช้วัตถุดิบจากนํ้ามันปาล์มที่มีมาตรฐานความยั่งยืนทั้งหมดภายในปี 2563 (Toward 100% sustainable palm oil in Europe by 2020) ซึ่งจะกระตุ้นให้ความต้องการใช้นํ้ามันปาล์มที่ยั่งยืนเพิ่มขึ้นในอนาคต

ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกนํ้ามันปาล์มดิบหรืออาหารที่ส่วนผสมของนํ้ามันปาล์มควรปฏิบัติตามมาตรฐานความยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งที่มา ซึ่งเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคว่าธุรกิจมีส่วนสนับสนุนความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและลดการบุกรุกผืนป่า

oil-palm2

แม้ว่ากฎหมายไม่ได้บังคับเรื่องการใช้นํ้ามันปาล์มจากกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน แต่จากกระแสความต้องการของผู้บริโภคและความมุ่งมั่นของภาคธุรกิจเป็นส่วนขับเคลื่อนสำคัญที่ส่งเสริมให้นํ้ามันปาล์มที่ผ่านการรับรองมาตรฐานความยั่งยืนมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยกระบวนการผลิตนํ้ามันปาล์มที่ยั่งยืนครอบคลุมหลายด้าน คือ

• สิ่งแวดล้อม : ไม่บุกรุกป่าหรือพื้นที่ที่มีการสะสมของคาร์บอนสูง ห้ามเผาป่า ลดการปล่อย GHG ก๊าซมีเทน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ใช้ ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า รู้จักนำกลับมาใช้ใหม่

• การตลาด : กระบวน การผลิตต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ มีความโปร่งใส

• สิทธิมนุษยชน : สนับสนุนสิทธิและเสรีภาพแรงงาน มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยปราศจากการบังคับใช้แรงงาน แรงงานทาสและแรงงานเด็ก มีสัญญาจ้างงานที่ชัดเจน เป็นธรรม

• ด้านสังคม :  ส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อย เข้ามามีส่วนร่วมในมาตรฐานความยั่งยืน เคารพในสิทธิการถือครองที่ดิน สิทธิของชุมชน

การสนับสนุนการผลิต นํ้ามันปาล์มอย่างยั่งยืน จะก่อ ให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มให้ดีขึ้น ส่วนภาคธุรกิจที่ใช้วัตถุดิบจาก นํ้ามันปาล์มที่ยั่งยืนก็มีส่วนเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม และแสดงถึงจริยธรรมขององค์กร

พบกับอัพเดตความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

คอลัมน์ | หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,417 ระหว่างวันที่ 11-14 พฤศจิกายน 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว