ฟันธง 'อภิสิทธิ์' แบเบอร์! นำทัพ ปชป. - เดิมพันครั้งสุดท้าย

07 พ.ย. 2561 | 07:19 น.
สร้างบรรยากาศครึกครื้น โหมโรงก่อนเปิดสนามเลือกตั้งใหญ่ได้พอสมควร สำหรับการลงพื้นที่ขอเสียงสนับสนุนจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ของ 3 ผู้สมัครเข้ารับการหยั่งเสียงเป็นหัวหน้าพรรค ประกอบด้วย เบอร์ 1 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, เบอร์ 2 นายอลงกรณ์ พลบุตร และเบอร์ 3 น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม

หลังผู้สมัครเข้ารับการหยั่งเสียงเป็นหัวหน้าพรรคได้เดินสายขอคะแนนจากสมาชิกพรรคนานนับเดือน เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา ทาง กกต.พรรค จึงจัดให้ลงคะแนนหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค วันแรกไม่ค่อยราบรื่นนัก เพราะเกิดความผิดพลาดของระบบไอทีที่นำมาใช้ในการนับคะแนน พร้อมกับเลื่อนการลงคะแนนหน่วยเลือกตั้งเฉพาะในพื้นที่ กทม., ภาคกลาง และภาคเหนือ เป็นวันที่ 9 พ.ย.

ส่วนวันที่ 5 พ.ย. จะเป็นวันหยั่งเสียงของสมาชิกพรรคในเขตภาคใต้และภาคอีสาน หลังเสร็จสิ้นขั้นตอนการหยั่งเสียง ต่อด้วยการประชุมใหญ่ของพรรค เพื่อเลือกหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรค ในวันที่ 11 พ.ย. นี้


เชื่อ "อภิสิทธิ์" มาแน่
การชิงหัวหน้าพรรคดังกล่าว มีมุมมองในเชิงวิชาการอย่างน่าสนใจ โดย ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า ประเมินจากเนื้อหาการอภิปรายแสดงวิสัยทัศน์ ในฐานะนักวิชาการต้องให้นายอภิสิทธิ์มาอันดับ 1 แต่ก็ไม่รู้คะแนนเสียงจะมาเท่าใด เพราะสมาชิกพรรคมีหลายกลุ่มอาชีพ ยิ่งมีการลงคะแนนผ่านแอพพลิเคชัน ก็ไม่แน่ใจจะออกมาอย่างไร


ไชยัน ไชยพร

การนำเสนอใช้แอพก็เหมือนได้ภาพของความลํ้าสมัย แต่พอระบบไอทีล่ม ทำให้เกิดความผิดหวังทันที เพราะระบบของตัวเองยังล่ม คนทั่วไปจะสรุปว่า ขนาดการเลือกหัวหน้าพรรคจะบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็ยังเกิดปัญหา แล้วจะมาดูแลระดับชาติได้อย่างไร

ศ.ดร.ไชยันต์ ตั้งข้อสังเกตว่า หากนายอภิสิทธิ์ได้เป็นหัวหน้าพรรค แต่ถ้าเสียงของคู่แข่งมีจำนวนมากพอสมควร เช่น น.พ.วรงค์ แพ้คะแนน แต่ได้เสียงสนับสนุนพอสมควร น.พ.วรงค์ อาจใช้คะแนนเสียงอันนี้ออกไปอยู่พรรคอื่นหรือไม่ เพราะในเมื่อมีคนสนับสนุนเยอะ ทำให้กล้าพอที่จะออกไปอยู่พรรคอื่น และสามารถต่อรองตำแหน่งได้

ขณะที่ นายอลงกรณ์เคยออกจากพรรคไปแล้ว คราวนี้กลับเข้ามาใหม่ คงไม่ไปพรรคไหน ยกเว้น มีฐานเสียงสนับสนุนเยอะ อาจจะต่อรองกับพรรคอื่น

ส่วนนายอภิสิทธิ์ถ้าอยากให้พรรคมีคะแนนเสียงมากขึ้น ก็ต้องประนีประนอม ใจกว้าง มุ่งมั่นที่จะทำให้พรรคเข้มแข็ง ก็ต้องคิดว่าทำอย่างไรที่จะให้คู่ชิงทั้ง 2 คนอยู่ต่อไป แทนที่จะแตกตัวไป


ชูภาพ "ปชป." ยุคใหม่
ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ให้ความเห็นว่า การหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่จริงไม่มีประเด็นอะไรเลย เพียงแต่พรรคประชาธิปัตย์ต้องการเปลี่ยนภาพลักษณ์ จากที่เคยถูกโจมตีว่าเก่า ให้เป็นพรรคยุคใหม่ ต้องการให้เกิดความเคลื่อนไหวในแนวก้าวหน้าของพรรค


ทวี

ขณะที่ การแข่งขันของ 3 ผู้สมัครเพื่อชิงหัวหน้าพรรคนั้น ที่จริงไม่ต้องทำถึงขนาดนี้ก็ได้ อย่างไรเสีย นายอภิสิทธิ์ก็นอนมาอยู่แล้ว เพราะในบรรดาผู้สมัครไม่มีใครสู้นายอภิสิทธิ์ได้อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องการให้เห็นว่ามีการต่อสู้ เกิดการต่อสู้ มีแคนดิเดต ให้มีการประชันขันแข่งกัน ให้เกิดการกระตุ้นให้พรรคที่เคยนอนก้นขวดลอยตัวขึ้นมามีสีสัน กระตุ้นให้พรรคกระฉับกระเฉง

ซึ่งในการหาเสียงกับนายอลงกรณ์ ก็ออกมาในลักษณะฉันมิตรกัน ขณะที่กับ น.พ.วรงค์ ตอนแรกถูกวิจารณ์ว่า ถูก กปปส. ส่งมาบ่อนทำลายให้พรรคคลอนแคลน แต่จริง ๆ คิดว่า น.พ.วรงค์ อาจจะต้องการกระตุ้นตัวเองให้อยู่ในกระแสบรรยากาศการเลือกตั้ง เพราะเคยติดตามเรื่องทุจริตข้าว ก็ต้องออกสื่อ จริง ๆ คงไม่อยากเป็นหัวหน้าพรรค

ปัญหาที่ต้องติดตาม คือ กระบวนการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคจะกลายเป็นเงื่อนไขบั่นทอนพรรคประชาธิปัตย์เองหรือไม่ จะมีการคลางแคลงใจกันถ้าผลออกมาพลิก เพราะมีมือดีแฮกเข้าไปในระบบไอทีอะไรจะเกิดขึ้น ยิ่งแย่หนักเข้าไปอีก

"หลังจากเลือกหัวหน้าพรรค อาจมี 2 สตอรี คือ 1.ถ้านายอภิสิทธิ์ชนะ ส่วนคู่แข่งอีก 2 คน จะจับมือกันพูดจากันด้วยดี อีกสตอรีหนึ่ง คือ อาจจะมีบางคนที่พ่ายแพ้ดราม่านิดหน่อย เพื่อให้เกิดบรรยากาศ แต่พอเอาเข้าจริง ๆ ก็ไม่มีอะไร" อาจารย์ทวี กล่าวทิ้งท้าย

"อภิสิทธิ์" เดิมพันครั้งสุดท้าย
ขณะที่ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการผู้ชำนาญการ สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ให้แง่มุมว่า สิ่งที่เห็นในการชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ค่อนข้างแบเบอร์ แต่พอสังเกตจากปฏิกิริยาและข้อความที่นายอภิสิทธิ์ไปหาเสียงล่าสุด สะท้อนว่า น่าจะสูสี เพราะนายอภิสิทธิ์มีข้อความว่า อย่านอนใจ เราไม่ได้คะแนนทิ้งห่างขนาดนั้น แสดงว่ามีความกังวลว่า เมื่อมีคนโหวตให้นายอภิสิทธิ์เยอะแล้ว ก็นอนใจคิดว่าชนะแน่ คนที่สนับสนุนนายอภิสิทธิ์อาจจะเฉยไม่มาลงคะแนน เพื่อความแน่ใจ ต้องยํ้าว่าต้องออกมาโหวต

ขณะที่ คะแนนคู่แข่งก็เรตติ้งขึ้นเหมือนกัน แม้ว่ากระแสอาจจะดูดีกว่า แต่ก็ต้องดูว่าคนไปลงคะแนนจริงหรือไม่ ถ้าต่างคนต่างคิดว่ายังไงก็ชนะเสร็จเลย

อีกส่วนหนึ่งกระแสหนุนนายอภิสิทธิ์เหมือนดูดี อาจจะมีพลังเงียบที่ไม่ได้แสดงออกมาทางกระแสก็ได้ มีแหล่งข่าวบอกว่า สมาชิกที่มายืนยันช่วงที่กฎหมายให้พรรคเก่ากลับไปหาสมาชิกพรรค ส่วนใหญ่เป็นสายของ นายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลา ซึ่งเป็นสายที่สนับสนุนหมอวรงค์ จึงเป็นห่วงว่า 8 หมื่นรายชื่อ ที่หาเข้ามาได้ เพราะใช้กลไกของอดีต ส.ส. ลงไปเคาะประตูเรียกชาวบ้านเข้ามา ซึ่งมีจำนวนเป็นกอบเป็นกำพอสมควร อาจจะทำให้นายอภิสิทธิ์รู้สึกว่าจะไม่แบเบอร์ ซึ่งอาจมีโอกาสพลิกได้ แต่ถ้านายอภิสิทธิ์ระวัง ไม่ประมาท ก็น่าจะได้

ส่วนผลต่อเนื่อง หากนายอภิสิทธิ์ชนะได้เป็นหัวหน้าพรรคต่อ ดร.สติธร มองว่า มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่มีการชิงหัวหน้าพรรคแล้ว ในส่วนของนายอภิสิทธิ์ท่าทีก็เปลี่ยนไปเยอะ เพราะรู้สึกครั้งนี้เป็นการเดิมพันครั้งสุดท้าย และเป็นการเดิมพันสูงมาก ถ้าการเลือกตั้งครั้งนี้ประชาธิปัตย์แพ้ในสนามใหญ่ ก็ต้องประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรค


---------------


ปชป. ปลดชนวน "ใน-นอก" พรรค
การเปิดให้สมาชิกหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กันใหม่ ถูกจับจ้องว่าอาจเป็นชนวนทำพรรคแตก จากบรรยากาศการหาเสียงที่ "ใส่" กันเต็มที่ แต่กลายเป็นโอกาสของพรรคสีฟ้า เมื่อแผนเดินสายพบสมาชิก "หยั่งเสียงหัวหน้าพรรค" รอดกฎเหล็ก คสช. ที่ยังห้ามหาเสียงได้เนียน ๆ แล้ว

2 นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ "ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร - ดร.สติธร ธนานิธิโชติ" ยังเห็นพ้องว่า เกม "หยั่งเสียงหัวหน้าพรรค" ครั้งนี้ ปชป. มีแต่ได้กับได้ ทั้งคน ทั้งพรรค ได้แรก ดร.สติธร ชี้ว่า เป็นการแปรวิกฤติเป็นโอกาส ในภาวะที่พรรคกระเพื่อมหนัก สมาชิกเรียกร้องปฏิรูป มีคนจ่อไหลออก เพราะหมดหวังการเปลี่ยนแปลงพรรค บวกแรงดูดจากภายนอก พออภิสิทธิ์เปิดช่องให้หยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคกันใหม่ ทุกกลุ่มยังอยู่และแข่ง เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงตามแนวทางของกลุ่มได้ต่อไป

ได้ที่ 2 คือ ทั้ง 3 คน ที่ลงแข่งได้หมด


สติธร-ธนานิธิโชติ

'อภิสิทธิ์' ได้ประกาศตัวตนที่ขึงขังเข้มข้นกว่าเดิม เช่น ไม่เกรงใจใครอีกแล้ว เป็นข้อความที่คนคาดหวังจะได้ยินมานานเป็น 10 ปีแล้ว เพราะอภิสิทธิ์เองก็มุ่งมั่นจะเป็นนายกฯ เป็นนักการเมืองมาแต่เด็ก และทิศทางการนำพรรคจะเข้มข้นกว่าเดิม การเสนอนโยบาย การเสนอทิศทางว่า มีความพร้อมจะเป็นแกนนำรัฐบาล มันถูกขายออกมาหมดเลย

อย่างน้อย ๆ มีคำหนึ่งที่ต่างจากเดิม และถ้าขายดี ๆ อาจจะมีพลัง คือ คำว่า "เสรีนิยมประชาธิปัตย์" ซึ่งเป็นคำที่ควรใช้ในสายพรรคเพื่อไทย แต่เมื่อประชาธิปัตย์เอามาชู มันเกิดความเปลี่ยนแปลงแน่ ๆ

ขณะที่ 'อลงกรณ์' ลงมาสมัครรอบนี้ เพื่อเป็นสะพานทอดให้กลับเข้าพรรคอีกครั้ง เพราะก่อนหน้านี้ลาออกไปแล้ว ครั้งนี้เหมือนเป็นการต้อนรับกลับบ้าน ด้าน น.พ.วรงค์ ก็พูดขึงขังไว้เยอะ ถ้าแพ้คงไม่ออกจากพรรคทันที

การได้ช่องเดินสายการเมืองก่อนนั้น ดร.สติธร ชี้ว่า ไม่ถึงกับจะได้เปรียบในเรื่องผลคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง เพียงแต่ช่วยรักษาสถานะประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคใหญ่ไว้ได้ต่อไปเท่านั้น ส่วนคะแนนเสียงต้องไปวัดหลังมีพระราชกฤษฎีการเลือกตั้ง ส.ส. แล้ว มีการเปิดหน้าผู้สมัคร เปิดนโยบาย เปิดแคมเปญหาเสียง สุดท้ายจะวัดตรงนั้น

ส่วนเรื่องเส้นทางของอภิสิทธิ์สู่เก้าอี้นายกฯ หลังเลือกตั้งนั้น ศ.ดร.ไชยันต์ ชี้ว่า ต้องดูคะแนนหลังเลือกตั้งของแต่ละพรรค ว่า ออกมาขนาดไหน ที่สำคัญถ้าคะแนนของพรรคพลังประชารัฐเยอะ สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ และมีนโยบายที่ประชาธิปัตย์สามารถยอมรับได้ อภิสิทธิ์ก็ต้องจำยอมให้พรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ และเป็นผู้เสนอชื่อนายกฯ ตามมารยาททางการเมือง

เว้นเสียแต่ว่า พรรค ปชป. จะเป็นพรรคผสมรัฐบาลหรือไม่ ซึ่งก็ต้องดูว่า นโยบายไปด้วยกันได้หรือไม่ ตอนนี้นโยบายอาจจะแย้งกับพลังประชารัฐ แต่ถ้าเป็นช่วงหาเสียง มีอะไรที่พอแตะมือกันไว้ก็มีโอกาส

ที่สำคัญ คือ หลังจากเลือกตั้งแล้ว การเจรจาเพื่อกำหนดตัวคนเป็นรัฐมนตรีที่จะตั้งรัฐบาลผสม อันนี้สำคัญว่าจะไปด้วยกันได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็มีโอกาส เพราะนายอภิสิทธิ์ไม่ได้ปิดตายขนาดนั้น เพียงแต่มีเงื่อนไขว่า คนที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลต้องมีความเป็นอิสระ นโยบายไปด้วยกันได้หรือไม่

ติดตามฐาน