นิสัยแย่ ๆ ที่ "3 ซีอีโอ" แถวหน้าของโลก ต้องรีบโยนทิ้ง!!

06 พ.ย. 2561 | 07:40 น.
นิสัยและสิ่งที่เราทำเป็นประจำทุกวันมีผลต่อชีวิตของเราเป็นอย่างมาก บิล เกตส์, อีลอน มัสก์ และ มาร์ค คิวบัน ล้วนเป็นผู้บริหารบริษัทเอกชนที่ประสบความสำเร็จและต่างก็เป็นมหาเศรษฐีติดอันดับต้น ๆ ของโลก ผู้ชายต่างวัย ต่างนิสัยใจคอ มีบางสิ่งบางอย่างที่เหมือนกัน และนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตและหน้าที่การงาน ทั้ง 3 คน ก็เหมือนคนเราทั่วไป ที่มีนิสัยบางอย่างไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ขืนปล่อยทิ้งไว้ มีแต่จะเหนี่ยวรั้งความเจริญก้าวหน้า เรามาดูกันว่านิสัยแย่ ๆ ที่ผู้บริหารแถวหน้า 3 คนนี้ เคยมีและโยนทิ้งไปแล้ว มีอะไรกันบ้าง


"บิล เกตส์" เลิกผัดวันประกันพรุ่ง

 

[caption id="attachment_343128" align="aligncenter" width="503"] บิล เกตส์ สมัยวัยกระเตาะ บิล เกตส์ สมัยวัยกระเตาะ[/caption]

สมัยเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด (ซึ่งเขาทนเรียนอยู่เพียง 2 ปี ก่อนจะเลิกเรียนเพื่อออกมาก่อตั้ง บริษัท ไมโครซอฟต์ ทั้ง ๆ ที่ยังเรียนไม่จบปริญญาตรี) วัยรุ่นอย่าง บิล เกตส์ เคยใช้ชีวิตแบบเรื่อย ๆ มาเรียง ๆ ผัดวันประกันพรุ่งเป็นประจำ เขายอมรับว่า สมัยนั้นมักจะทำงานแบบเร่งด่วนเพื่อให้ทันส่งอยู่เสมอ ในการกล่าวบรรยายพิเศษแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยบริหารจัดการธุรกิจเนบราสก้า-ลินคอล์นครั้งหนึ่ง 'เกตส์' เล่าให้ฟังว่า เขาในช่วงวัยนั้นเป็นคนประเภทที่ไม่คิดจะทำอะไรเลย จนกว่าจะถึงนาทีสุดท้าย แล้วถึงได้ลนลานทำ เพื่อให้ทันเวลา ใคร ๆ มองมาแล้วก็นึกว่ามันเป็นเรื่องขำ ๆ แต่เมื่อต้องเข้ามาสู่โลกแห่งการงาน โดยเฉพาะในการทำธุรกิจ ชีวิตก็สอนให้รู้ความจริงว่า ในโลกแห่งธุรกิจนั้น ทุกการงานมันมี "เส้นตาย" มีกรอบของเวลาอยู่ และการทำอะไรได้ตรงเวลา ทันเวลา หรือ เหมาะสมกับจังหวะเวลา ล้วนมีคุณค่าทั้งสิ้น "ไม่มีใครมาสรรเสริญผม เพราะทำงานส่งในช่วงนาทีสุดท้ายอีกแล้ว" เพราะฉะนั้น นับจากนั้นมาเขาพยายามเปลี่ยนนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง และเอาอย่างเพื่อนนักศึกษาที่เขาเคยเห็นในมหาวิทยาลัย นั่นคือ การจัดระเบียบตัวเองอยู่เสมอและทำทุกสิ่งอย่างให้ตรงเวลา


bill-gates

"การผัดวันประกันพรุ่งเป็นนิสัยที่ไม่ดีเลย" เกตส์ยอมรับว่า นี่คือ จุดอ่อนที่สุดของเขา และยังปรับปรุงตัวเองในเรื่องนี้อยู่เสมอ มีเคล็ดไม่ลับจากผู้เชี่ยวชาญสำหรับผู้ที่อยากโยนทิ้งนิสัยแย่ ๆ แบบนี้ คือ ให้พยายามทำอะไรตามตารางหรือแผนงานที่กำหนดไว้ ให้เวลากับตัวเองวันละ 15 นาที จัดการกับสิ่งที่อยู่ในแผนงาน ถ้าอยากเถลไถลไปทำอย่างอื่น ให้ถามตัวเองว่า ไอ้ที่ทำอยู่นี่มันทำให้มีเงินไหลเข้ากระเป๋าหรือเปล่า การแยกแยะอย่างนี้จะทำให้คุณชัดเจนกับตัวเองว่า ควรทำอะไร


"อีลอน มัสก์" เลิกติดคาเฟอีน

 

[caption id="attachment_343130" align="aligncenter" width="503"] อีลอน มัสก์ อีลอน มัสก์[/caption]

อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งบริษัท เทสล่า (Tesla) ที่ก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและนวัตกรรมพลังงานหมุนเวียนระดับโลก เป็นคนที่ถูกจัดเข้าข่าย "บ้างาน" ระดับรุนแรง ชั่วโมงการทำงานของมหาเศรษฐีรุ่นหนุ่มวัย 47 คนนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 120 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (หรือวันละ 17 ชั่วโมง) ทำให้ไม่ค่อยมีเวลาพักผ่อนนอนหลับ และเมื่อนอนน้อย มัสก์ก็มักจะชดเชยด้วยเครื่องดื่มที่อุดมไปด้วยคาเฟอีน ไม่ว่าจะเป็น น้ำอัดลมหรือกาแฟ

มัสก์เคยให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว ว่า เขาเคยดื่มไดเอ็ทโค้กวันละ 8 กระป๋อง ซึ่งฟังดูแย่มาก ทุกวันนี้ เลยลด ๆ ลงมา เหลือวันละ 1-2 กระป๋องเท่านั้น นอกจากนี้ ยังยอมรับว่า เขาเคยติดกาแฟงอมแงม เพราะถ้าไม่ดื่มในปริมาณเยอะขนาดนั้น ก็แทบจะทำงานไม่ได้เลย แต่มันก็ทำให้เขากลายเป็นคนที่บริโภคคาเฟอีนเกินขนาด และไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ

 

[caption id="attachment_343132" align="aligncenter" width="343"] เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น อีลอน มัสก์ ยอมลดการบริโภคเครื่อดื่มอุดมคาเฟอีน เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น อีลอน มัสก์ ยอมลดการบริโภคเครื่องดื่มอุดมคาเฟอีน[/caption]

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพแนะนำว่า การบริโภคคาเฟอีนมากเกินขนาด อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเราเกิดความเครียดและความวิตกกังวลได้มากขึ้น และจะทำให้ร่างกายเข้าสู่วงจรของความเหนื่อยล้าไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งยิ่งส่งผลร้ายต่อร่างกาย เพราะเมื่อรู้สึกเหนื่อยล้าแต่ยังต้องทำงาน เราก็จะมีความต้องการบริโภคคาเฟอีนมากขึ้น และเมื่อบริโภคคาเฟอีนมากขึ้น ร่างกายก็จะล้าไปเรื่อย ๆ เพราะมันจะทำให้เราหลับไม่สนิท คุณภาพการนอนย่ำแย่ ทำให้รู้สึกเหมือนว่าร่างกายไม่ได้พักผ่อนอย่างพอเพียง เมื่อตื่นขึ้นในเช้าวันใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่ความต้องการบริโภคคาเฟอีนเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายรู้สึกประปรี้กระเปร่า วนเวียนเป็นวงจรอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ

ทางตัดลัดออกจากวงจรนี้ ก็คือ การลดปริมาณคาเฟอีนที่บริโภคในแต่ละวันลงมา ซึ่งอาจจะค่อย ๆ ลดลงช้า ๆ เพื่อให้ร่างกายคุ้นเคยและปรับตัว และหันมาดื่มน้ำเปล่าเพิ่มมากขึ้น


"มาร์ค คิวบัน" เลิกการสื่อสารด้วยอารมณ์ (รุนแรง)

 

[caption id="attachment_343135" align="aligncenter" width="503"] มาร์ค คิวบัน มาร์ค คิวบัน[/caption]

มาร์ค คิวบัน มหาเศรษฐีที่สร้างตัวด้วยความมุมานะ และปัจจุบันเป็นเจ้าของทีมบาสเก็ตบอลดัลลาส มาเวอริคส์ ซึ่งเป็นทีมชั้นนำในเอ็นบีเอ ประธาน AXS TV และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท 2929 Entertainment ยอมรับว่า นิสัยแย่ ๆ ในวัยหนุ่มช่วง 20 กว่า ๆ ของเขา คือ การขึ้นเสียงหรือตะโกนเพื่อเอาชนะ หรือ ให้คนอื่นยอมรับความคิดเห็นของเขา ซึ่งจริง ๆ แล้ว ไม่ใช่วิธีการสื่อสารที่ดีเลย "ผมตะคอกใส่เพื่อนร่วมงานเสมอ และมันก็มักจะจบลงด้วยการทะเลาะกัน"

 

[caption id="attachment_343137" align="aligncenter" width="503"] ผู้นำที่ดีต้องมีวิธีการสื่อสารความคิดเห็นและทัศนคติให้ผู้อื่นยอมรับ โดยไม่ต้องใช้วิธีการรุนแรง ผู้นำที่ดีต้องมีวิธีการสื่อสารความคิดเห็นและทัศนคติให้ผู้อื่นยอมรับ โดยไม่ต้องใช้วิธีการรุนแรง[/caption]

ย้อนไปกว่า10 ปีที่แล้ว มาร์คเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไมโครโซลูชั่นส์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบคอมพิวเตอร์ กับมาร์ติน วู๊ดดัล ทั้งคู่โต้เถียงกันมาตลอด ตั้งแต่เรื่องงานลามมาถึงเรื่องนิสัยแย่ ๆ ของแต่ละคน (ในทัศนะมุมมองของอีกฝ่าย) ซึ่งทำให้บรรยากาศเสียไปหมดและต่างก็รู้สึกไม่ดีหลังจากที่เลือกใช้วิธีการสื่อสารแบบนั้น สุดท้ายแล้ว มาร์คยอมรับว่า การตะโกนใส่กันด้วยอารมณ์ต่าง ๆ นานา เป็นวิธีการสื่อสารที่ไม่ได้ผล ซ้ำร้ายยังเพิ่มความเครียด ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ทุกสิ่งอย่างแย่ลง เพราะเมื่อใดที่เกิดความเครียด คนรอบตัวคุณก็จะรู้สึกไม่ดี ประสิทธิภาพการทำงานก็ลดลง ผลกำไรลดลง และความสามารถในการแข่งขันลดลงตาม ๆ กันไป

ผู้นำที่ดีต้องมีวิธีการสื่อสารความคิดเห็นและทัศนคติให้ผู้อื่นยอมรับ โดยไม่ต้องใช้วิธีการรุนแรง มันต้องอาศัยทักษะอยู่เหมือนกัน แต่เป็นทักษะที่สามารถฝึกฝนได้ ทักษะการสื่อสารเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ เราต้องใส่ใจน้ำเสียง การแสดงสีหน้า และท่าทาง และที่สำคัญ คือ นอกจากการฝึกฝนสิ่งเหล่านี้แล้ว ควรฝึกการเป็น "ผู้ฟัง" ที่ดีด้วย

 

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว

[caption id="attachment_342717" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]